25 ปี สถาปัตย์ มช. จากภูมิปัญญาพื้นถิ่น สู่การยอมรับในระดับสากล

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กำลังเดินทางเข้าสู่ปีที่ 25 ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คณะฯได้ผลิตบัณฑิตที่เติบโตกลายเป็นสถาปนิก และทำงานในแวดวงการออกแบบมากมาย และเนื่องในโอกาสนี้ คณะฯจึงได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.ชาญณรงค์ ศรีสุวรรณ คณบดี คณะสถาปัตยกรรม ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขียนบทความเล่าถึงการก้าวเข้าสู่ 25 ปี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯในมิติต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาคณะฯ สู่ระดับสากลต่อไป25 ปี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับความเข้มแข็งทางด้านวิชาการ และการก้าวที่ท้าทายกว่าในอนาคต 25 ปี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรานับตั้งแต่ ปี 2538 ซึ่งเป็นปีแรกที่เรารับนักศึกษารุ่นที่ 1 นับถึงวันนี้ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มีความเจริญก้าวหน้าในมิติต่าง ๆ เป็นลำดับ ทั้งทางด้านวิชาการ ด้านการเรียนการสอน และการวิจัย หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต จาก 1 หลักสูตรในปีแรก ขยายเป็น 5 หลักสูตรในปัจจุบัน ประกอบไปด้วยหลักสูตรนานาชาติ ในระดับปริญญาบัณฑิตและบัณฑิตศึกษา รวมถึงหลักสูตร ระดับปริญญาเอก ที่กำลังจะเปิดในปีการศึกษา 2563 แสดงถึงความมุ่งมั่นของคณะฯ ในการสร้างความเข้มแข็งทางด้านวิชาการให้ขึ้นไปสู่ระดับสากล
ภายใต้วิสัยทัศน์ในการเป็นโรงเรียนสถาปัตยกรรมชั้นนำ ในระดับอาเซียน ที่มุ่งมั่นในการนำเอาภูมิปัญญาพื้นถิ่น ไปสู่การยอมรับในระดับสากล ผลงานวิจัยของคณาจารย์ รวมความสำเร็จของบัณฑิตในแต่ละรุ่น ซึ่งได้ออกไปรับใช้สังคม จนเป็นที่ยอมรับในวงการจำนวนมาก เป็นตัวชี้วัดที่สำคัญประการหนึ่ง ในความสำเร็จของคณะฯ ในปัจจุบัน
สิ่งท้าทายสำคัญในปีที่ 25 ของคณะฯ ได้แก่บริบทของสังคมสมัยใหม่ ที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อวิชาชีพสถาปัตยกรรม ทิศทางในการจัดการเรียนการสอน เนื้อหาของหลักสูตร รวมถึงพฤติกรรมของผู้เรียน เป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา เพื่อวางแผนและกำหนดทิศทาง ในการดำเนินงานของคณะฯ ทั้งนี้เพื่อให้กระบวนการในการผลิตบัณฑิต สามารถตอบสนองตลาดและความต้องการของสังคม ในสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต เครื่องมือและอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ทันสมัย ที่สอดคล้องกับบริบทของการเรียนรู้ในสมัยใหม่ รวมถึงเทคนิควิธีการในการเรียนรู้ที่เหมาะสม จะต้องถูกพิจารณาให้ละเอียดยิ่งขึ้น การเรียนรู้นอกห้องเรียน การเชื่อมต่อกับเครือข่ายด้านวิชาชีพ  เครือข่ายศิษย์เก่า จำเป็นต้องถูกผนวกเข้ากับกระบวนการเรียนรู้ในอนาคต
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ตระหนักดีว่า หลังปีที่ 25 จะเป็นปีของความท้าทายใหม่ ในการขับเคลื่อนคณะไปสู่บรรยากาศของการเรียนรู้ของโลก ซึ่งเราจะถูกขับเคลื่อนอย่างเป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วนั้น การเตรียมการที่รวดเร็วและพร้อมจะปรับเปลี่ยน จะเป็นประเด็นสำคัญที่สุดในการวางแผนเพื่อนำคณะฯ ไปสู่ความก้าวหน้าในอนาคต อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงเร็วอย่างไร ความมุ่งมั่นในการทำความเข้าใจถึงตัวตน จิตวิญญาณด้านวัฒนธรรมและภูมิปัญญาพื้นถิ่นที่คณะฯ ได้ตั้งธงนำไว้ตั้งแต่แรก จะยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการนำคณะฯ ไปสู่การแข่งขันในระดับสากลได้  ในนามของ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผมขอขอบคุณ สมาคมศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บุคลากร นักศึกษา รวมถึงผู้มีอุปการะคุณทุกท่านที่ได้ให้การสนับสนุนกิจการของคณะฯ และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลอง ปีที่ 25 ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ในครั้งนี้…ผศ.ดร.ชาญณรงค์  กล่าวว่าอีกว่า นอกจากนี้ คณะฯ ยังได้ผนึกกำลังร่วมกับสมาคมศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกำลังหลัก ที่ช่วยผลักดันกิจกรรมคณะฯ เพื่อเฉลิมฉลองปีที่ 25 ซึ่งในช่วงปีนี้จนถึงกลางปีหน้า คณะฯ ได้กำหนดจัดกิจกรรมมากมายที่ส่งเสริมการเรียนการสอนของนักศึกษา และการจัดแสดงผลงานต่าง ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักศึกษา เพื่อให้เป็นที่รู้จักสู่สาธารณะมากขึ้น โดยกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ ได้แก่
วันที่ 16 ตุลาคม 2562 กิจกรรมการบรรยายพิเศษ Lecture Series โดย Professor Takaharu Tezuka สถาปนิกชื่อดังชาวญี่ปุ่น ที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ณ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ช่วงเดือนธันวาม 2562 การจัดแสดงผลงานของนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ร่วมกับ เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2019 (Chiang Mai Design Week 2019) และช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 พบกับนิทรรศการครั้งยิ่งใหญ่ในรอบ 25 ปี ที่รวบรวมผลงานโดดเด่นด้านการออกแบบ และงานวิจัยของคณาจารย์ นักศึกษา และศิษย์เก่า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ฯ
ในการเฉลิมฉลองการเข้าสู่ปีที่ 25 นี้ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงขอเชิญชวนผู้ที่สนใจทุกท่าน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมของเรา โดยสามารถติตตามข่าวสาร การเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้ทาง http://www.arc.cmu.ac.th และ https://www.facebook.com/arccmu

ร่วมแสดงความคิดเห็น