“เพชร วิริยะ” ศิลปินล้านนากับงานแกะสลักช้างไม้ ที่บ้านจ๊างนักเชียงใหม่

จากการที่ได้คลุกคลีและได้เห็นทุกท่วงอิริยบทของช้าง จนเป็นความประทับใจที่ฝังลึกอยู่ในความรู้สึกมาเนิ่นนาน กระทั่งมีโอกาสได้ศึกษางานฝีมือแกะสลักไม้จากอาจารย์คำอ้าย เดชดวงตา ยิ่งทำให้ในความรู้สึกนึกคิดของศิลปินผู้นี้ผูกพันอยู่กับช้างมากขึ้นหากเอ่ยชื่อของศิลปินพื้นบ้านผู้ถ่ายทอดทุกอารมณ์ความรู้สึกของช้างผ่านงานแกะสลักไม้ คงไม่มีใครไม่รู้จักชื่อของ เพชร วิริยะ ศิลปินผู้ถ่ายทอดงานฝีมือการแกะสลักช้างไม้ได้อย่างดีเยี่ยม ด้วยความร่มรื่นของแมกไม้ในบริเวณบ้านที่ถูกดัดแปลงจากยุ้งข้าวให้เป็นห้อง
จัดแสดงผลงานแกะสลักช้างไม้มากกว่าร้อยชิ้น ทำให้เราตกอยู่ในห่วงจินตนาการที่คิดว่าตัวเองกำลังอยู่ในท่ามกลางฝูงช้างนับสิบเชือกที่อยู่ภายในบ้างจ๊างนัก สถานที่รวบรวมผลงานแกะสลักไม้ของศิลปิน
ย้อนกลับไปเมื่อราว 30 ปีก่อน ชายหนุ่มผู้สืบเชื้อสายมาจากคนยอง เติบโตขึ้นในท่ามกลางครอบครัวที่ยากจน ต้องต่อสู้ด้วยตนเองมาเกือบตลอดทั้งชีวิต
จนกระทั่งมีโอกาสได้ไปหัดแกะสลักไม้จากอาจารย์คำอ้าย เดชดวงตา ศิลปินอีกผู้หนึ่งที่มีจินตนาการในการแกะสลักช้างที่สวยงามไม่แพ้กัน คุณเพชรบอกว่า เริ่มเรียนการแกะสลักไม้จากอาจารย์คำอ้าย อยู่นานถึง 4 ปีก่อนจะผันตัวเองมาเป็นข้าราชการอยู่ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในหน้าที่อาจารย์ผู้สอนการแกะสลักไม้ จากนั้น 2 ปีจึงได้ลาออกจากราชการและเดินทางไปในสถานที่ต่าง ๆ ที่มีช้าง ไม่ว่าจะเป็น ปางช้างบ้านปางหละ จังหวัดลำปาง หมู่บ้านช้างที่จังหวัดสุรินทร์ หรือแม้แต่ตามคณะละครสัตว์เพื่อรวบรวมประสบการณ์และศึกษาถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของช้างอย่างลึกซึ้ง ก่อนจะกลับมาบ้านเกิดและเริ่มทำงานแกะสลักช้างไม้อย่างเป็นจริงเป็นจังที่บ้านจ๊างนักแห่งนี้ ศิลปินเพชร วิริยะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับการสร้างผลงานการแกะสลัก เขาบอกว่า นอกจากที่นี่จะเป็นที่เก็บรวบรวมผลงานแล้ว ยังเป็นที่ฝึกการแกะสลักไม้ให้กับบรรดาลูกศิษย์ที่มีความสนใจงานแกะสลักอีกด้วย ทุกวันจะมีนักท่องเที่ยวและผู้สนใจ
เข้าชมผลงานการแกะสลักเป็นจำนวนมาก ซึ่งถ้าหากจะนับผลงานที่จัดแสดงอยู่ที่นี่แล้ว คงมีประมาณกว่าร้อยชิ้น ซึ่งเป็นผลงานแกะสลักช้างไม้ในท่วงท่าอิริยบทต่าง ๆ ผลงานบางชิ้นที่จัดแสดงเป็นผลงานที่หาชมไม่ได้จากที่อื่น คุณเพชรยังบอกอีกว่า ปัจจุบันกลุ่มศิลปินล้านนาที่แกะสลักช้างไม้มีประมาณสิบกว่ากลุ่มเท่านั้น ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จะมีเอกลักษณ์ที่เป็นของตนเอง
ส่วนผลงานของกลุ่มแกะสลักบ้านจ๊างนัก ถือได้ว่าอยู่ในระดับแนวหน้าเลยทีเดียว โดยเฉพาะการแกะสลักช้างสามารถสื่ออารมณ์ของช้างได้อย่างมีชีวิตชีวาและดูเหมือนจริงมาก งานทุกชิ้นมีการให้รายละเอียดที่ดูสมจริง เช่นผิวหนังของช้าง ดวงตาที่ถูกตกแต่งด้วยขนตา และเส้นเลือดของช้างที่ปรากฏอยู่บริเวณใบหู เหล่านี้ยิ่งทำให้เราได้สัมผัสงานแกะสลักที่เหมือนจริง จนบางครั้งแยกไม่ออกว่าเป็นช้างจริงหรือเปล่า ?งานแกะสลักทุกชิ้นของบ้านจ๊างนัก จะนำส่งขายที่กรุงเทพฯและต่างประเทศซึ่งก็แล้วแต่ลูกค้า โดยจะเน้นที่ฝีมือมากกว่าปริมาณ ผลงานบางชิ้นต้องใช้เวลาในการสร้างสรรค์นานเป็นเดือน บางชิ้นเป็นผลงานที่ทำขึ้นเพียงชิ้นเดียว จึงต้องเก็บไว้ไม่สามารถนำมาขายได้
จากการที่นั่งพูดคุยกับศิลปิน ทำให้เราได้มุมมองและแง่คิดใหม่ ๆ ของศิลปินผู้ซึ่งได้ติดตามความเคลื่อนไหวและข่าวคราวของช้างมาตลอดทำให้ทราบว่า ช้างถึงแม้จะเป็นสัตว์ใหญ่ที่น่ารักแล้ว ในความยิ่งใหญ่นั้นยังแฝงไว้ด้วยความนุ่มนวล น่าเอ็นดู จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่เห็นควาญช้างร้องไห้เมื่อเวลาที่ช้างได้รับบาดเจ็บและอันตรายต่าง ๆ นั่นแสดงให้เรารู้ว่า ความผูกพันระหว่างคนเลี้ยงช้างกับช้างไม่สามารถจะแยกออกจากกันได้ เช่นเดียวกับศิลปินเพชร วิริยะก็เป็นผู้หนึ่งที่ผูกพันอยู่กับช้างมายาวนาน จนไม่สามารถจะแยกความรู้สึกนี้ออกไปได้เช่นกัน คุณเพชรบอกว่า “ดีใจที่รู้ว่างานแกะสลักช้างไม้ของเขาสามารถเป็นสิ่งที่เชื่อมต่อไปยังงานอนุรักษ์ช้างที่อย่างน้อยก็ทำให้คนเห็นคุณค่าและความสำคัญของช้างได้”
แม้ว่าปัจจุบันจะมีคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยเห็นคุณค่าของงานฝีมือแกะสลักช้างไม้ แต่ภายใต้จิตสำนึกที่แฝงไว้ด้วยความมุ่งมั่นอย่างแท้จริงแล้ว เพชร วิริยะเขายังเชื่อว่า สักวันช้างจะกลับมาเป็นสัตว์ที่มนุษย์ให้ความสำคัญมากกว่านี้ ในใจของศิลปินผู้สร้างผลงานแกะสลักช้างไม่ปรารนาที่จะเห็นช้างหมดไปจากโลก ถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริง คนรุ่นหลังอาจจะรู้จักช้างจากไม้แกะสลักเท่านั้นท่านที่สนใจจะเข้าชมผลงานการแกะสลักช้างไม้ ของบ้านจ๊างนัก สามารถติดต่อได้ที่ บ้านจ๊างนัก เลขที่ 56/1 หมู่ที่ 2 ตำบลบวกค้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ โทรศัพท์ 0-5333-2578 ทุกวันตั้งแต่เวลา 08.30 -16.30 น.

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น