พลิกประวัติศาสตร์! ชาวไทใหญ่ภาคภูมิใจ “โค้งขุนกัน ชนะนนท์” โค้งหักศอกก่อนถึงวัดพระธาตุดอยสุเทพฯ

ชาวเชียงใหม่ตลอดจนถึงนักท่องเที่ยวที่ขึ้นไปนมัสการวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร หรือไปเที่ยวชมพระตำหนักภูพิงค์ฯและหมู่บ้านแม้วดอยปุย ในสมัยก่อนนั้นถือว่าเส้นทางขึ้นดอยสุเทพเป็นเส้นทางแคบคดเคี้ยวและขึ้นเขาตลอดสาย โค้งที่อันตรายที่สุดที่รู้จักกันดีคือ”โค้งขุนกัน”เป็นโค้งหักศอกขึ้นเขาที่แคบมากเป็นโค้งสุดท้ายก่อนถึงเชิงบันไดนาควัดพระธาตุดอยสุเทพฯอีกประมาณ 1 กิโลเมตร ในอดีตนั้นมักเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งทั้งรถยนต์-รถจักรยานยนต์ ซึ่งในปัจจุบันได้มีการปรับปรุงเส้นทางดอยสุเทพตลอดสายและมีการขยาย”โค้งขุนกัน”ให้กว้างขึ้นมีสัญญานติดตั้งเตือนผู้ใช้ยานพาหนะเพื่อลดการเกิดอุบัติ

“โค้งขุนกัน”ในประวัติศาสตร์ล้านนามีประวัติที่น่าสนใจ ย้อนกลับไปเมื่อครั้งปี พ.ศ. 2477 ท่านครูบาศรีวิชัยได้นำราษฎรผู้มีจิตศรัทธาหลายหมื่นคนมาร่วมสร้างถนนขึ้นสู่พระธาตุดอยสุเทพ การก่อสร้างดำเนินมาจนถึงเส้นทางช่วงสุดท้ายก่อนจะถึงหัวบันไดนาคประมาณ 1 กิโลเมตร ซึ่งบริเวณนี้เป็นภูเขาหินสูงชัน คณะสำรวจได้มีความเห็นว่าควรจะตัดถนนอ้อมไปทางม่อนสนที่ตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับดอยสุเทพ (บ้านนิมมานนรดีปัจจุบัน) แต่ครูบาเถิ้มเห็นสมควรที่จะตัดตรงไปบรรจบทางเดินเท้าเก่าที่มีอยู่เดิม ซึ่งครูบาศรีวิชัยก็เห็นด้วยกับคำแนะนำนี้ แต่ด้วยบริเวณนี้เป็นภูเขาหินสูงชัน การตัดถนนตรงขึ้นดอยจึงยากลำบากมาก อีกทั้งผู้ร่วมสร้างทางทุกคนต่างเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า

“ขุนกัน” คหบดีชาวไทใหญ่ผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาและต่อท่านครูบาศรีวิชัย จึงอาสาสร้างถนนช่วงโค้งหักศอกนี้ ซึ่งท่านมีประสบการณ์ในการสร้างทางลากขอนไม้ซุงที่ อ.พร้าวมาก่อนหน้านี้แล้ว ขุนกันได้ระดมกำลังคนของท่านมาสร้างถนนเต็มกำลัง อีกทั้งยังใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวของท่านในการสร้างอีกด้วย ถนนโค้งสุดท้ายสู่พระธาตุดอยสุเทพจึงสำเร็จลงได้ในที่สุด ท่านครูบาศรีวิชัย จึงตั้งชื่อโค้งนี้ว่า “โค้งขุนกัน” เพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึง “ขุนกัน” ผู้เป็นกำลังสำคัญในการโค้งสุดท้ายที่แสนยากลำบากนี้

“ขุนกันชนะนนท์” เดิมชื่อ “ส่างกันนะ” เป็นชาวไทใหญ่ ถือกำเนิดที่บ้านหมอกใหม่ รัฐฉาน ต่อมาบิดามารดาของท่านได้อพยพมาตั้งบ้านที่ จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อท่านเติบโตเป็นหนุ่มได้ทำการค้าขายผ้าไหม-ยา โดยซื้อจากพม่าและแม่ฮ่องสอนแล้วนำมาขายต่อที่เชียงใหม่ การเดินทางไปมาเชียงใหม่อยู่บ่อยครั้งนี่เอง ท่านจึงได้พบกับ “แม่วันดี” บุตรีของพญานาวา จนได้สมรสครองเรือนกันในที่สุด และมีบุตรธิดาสืบต่อมาเป็นตระกูล “ชนะนนท์”จนถึงปัจจุบัน ตามชื่อของท่าน (พญานาวาได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าชีวิตอ้าว “เจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์” ให้เป็นผู้ควบคุมดูแลกระบวนเรือของท่าน ทั้งยังได้แต่งตั้งให้เป็นแก่บ้านดูแลบ้านสันทรายหลวง บ้านวังสิงห์คำ บ้านป่าตัน บ้านเมืองลัง บ้านเชียงยืน ราวปี พ.ศ. 2444 )

ในปัจจุบันถึงแม้ว่าเรื่องราวในประวัติศาสตร์”โค้งขุนกัน”ได้ผ่านมาเนิ่นนานนับร้อยกว่าปี ทางชาวไทใหญ่ต่างรู้สึกความภาคภูมิใจต่อ”ส่างกันนะ” หรือ “ขุนกันชนะนนท์” เป็นอย่างมากที่สร้างประวัติศาสตร์ให้กับเมืองเชียงใหม่จวบจนทุกวันนี้

ขอขอบคุณ:สายเครือไท (Tai race studies )

ร่วมแสดงความคิดเห็น