เปิดแผนพัฒนา สนามบินเชียงใหม่ช่วงปี 63-68

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก จ.เชียงใหม่ จัดประชุมครั้งที่ 3/62 เพื่อหารือแนวทางการเพิ่มศักยภาพรองรับการจราจรและความสดวกของผู้โดยสาร ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาวิกฤติจราจรต่อชุมชนเมืองเชียงใหม่ บริเวณทางสัญจรรายรอบสู่สนามบินเชียงใหม่โดยนายพรชัย พัฒนาพงษ์สถิตย์ ผู้แทนสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข. ) รายงานที่ประชุมว่า วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ภาคเหนือ 1 มีเอกสารแจ้งผวจ.เชียงใหม่ถึงโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 ( พ.ศ. 2563-65 )มีเป้าหมายรองรับผู้โดยสาร 16.5 ล้านคน ในปี 2565 วงเงิน14,400 ล้านบาท
โครงการประกอบด้วยแผนงานก่อสร้างทางขับขนานเส้นใหม่พร้อมทางขับออกเร่งด่วน เพื่อให้รองรับเที่ยวบิน 29-31 เที่ยวบิน/ชั่วโมง ปรับปรุงลานจอดจาก 20 หลุมเป็น 31 แห่งให้จอดประชิดอาคารได้ 12 หลุมจอด และระยะไกลอีก 19 หลุมพร้อมติดตั้งสะพานเทียบเพิ่ม 6 ชุด ระบบเติมน้ำมันอากาศยานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศพื้นที่ 7 หมื่น ตร.ม. ให้รองรับผู้โดยสาร 5.3 ล้านคน/ปี,สร้างอาคารสำนักงานสนามบินและสายการบินพร้อมที่จอดรถยนต์ได้ 1,600 คัน, ปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิมเป็นอาคารภายในประเทศพื้นที่ 48,000 ตร.ม.เพื่อรองรับผู้โดยสารให้ได้ 11.2 ล้านคน/ปีและยังมีงานก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย, โรงงานผลิตน้ำประปา,สร้างสถานีไฟฟ้า,ปรับปรุงระบบถนนภายในสนามบิน เป็น 3ช่องทางจราจร สร้างทางยกระดับแยกขาเข้า-ขาออก เมื่อโครงการระยะที่1 เสร็จตามแผนในปี 2565แล้ว จะเข้าสู่การพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ระยะที่ 2 ( 2565-68 ) ตามเป้าหมายรองรับผู้โดยสาร 20 ล้านคน ในปี 2568 ต่อไป
นอกจากนั้นยังประสานงาน บ. ท่าอากาศยานไทย เพื่อขอความร่วมมือกรมทางหลวง ขยายทางยกระดับเดิมที่บริวณด้านหน้าห้างเซ็นทรัลฯแอร์พอร์ต ตรงเข้าสู่อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ แทนการออกแบบทางลาดขึ้นอาคาร , ประสานกองทัพอากาศ ,กรมฝนหลวง ขอขยายผิวทางถนนจากแยกเมญ่า ผ่านถนนนิมมานเหมินทร์ และขอใช้พื้นที่ผ่านบน.41 สร้างทางลอดใต้ดินสู่สนามบิน เพื่อให้สอดคล้องแผนบูรณาการของแต่ละหน่วยงานยังขอ ทอท. ประสาน รฟม.ออกแบบแผนก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน สายทางสีแดง เข้าสู่บริเวณสนามบินด้วย ในที่ประชุมครั้งนี้ นายนิตินัย สายสกุล ตัวแทนท่าอากาศยานเชียงใหม่ระบุว่า ตามที่วิศวกรรมสถานฯ แจ้งที่ประชุมนั้นได้ส่งรายละเอียดเข้าสู่ฝ่ายแผนพัฒนา ทอท.แล้ว ซึ่งโครงการระยะที่ 1 รออนุมัติจากระดับนโยบายทั้งคมนาคม-สภาพัฒน์ และรอรายงานการเปลี่ยนแปลงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อกระบวนการทุกขั้นตอนถึง ครม.อนุมัติก็จะดำเนินการบนพื้นฐานการบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วนต่อไป
ด้านนายธีระพงษ์ ขจรเดชากุล แขวงการทางหลวงที่ 2 เชียงใหม่รายงานที่ประชุมว่า จากปัญหาการจราจรบริเวณแยกสนามบิน กรมทางหลวงได้ปรับปรุงขยายช่องทาง จราจร บริเวณหน้าห้างโรบินสัน ลดพื้นที่เกาะกลางถนนลง ปรับระบบสัญญาณไฟจราจรทางแยกร่วมกัน ปรับเปลี่ยนลำรางบริเวณหน้าร้านอาหารสวนผักและ บ.วิทยุการบิน เป็นเส้นทางลัดรองรับปริมาณการจราจรจากถนนสายหลักเข้าสนามบินการก่อสร้างทางลอดใต้ดิน ผ่าน กองบิน 41 ด้านทิศเหนือ เป็นไปได้ยาก เพราะเป็นพื้นที่เฉพาะ ดังนั้นการเพิ่มช่องทางออก อาจจะให้รถที่เดินทางจาก อ.หางดง ตัดเข้าหน้าห้างโลตัส ตามเดิม และ อีกเส้นทางของกองบิน 41 สามารถทะลุถนนเลียบคลองชลประทาน ปัจจุบันเส้นทางดังกล่าวปิด น่าจะเป็นไปได้สูงกว่า
อย่างไรก็ตาม ทางท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระบุว่า การจัดระบบจราจร 2 ช่องทาง ออกสู่ถนน 108 เพื่อเพิ่มการระบายรถนั้น ปัจจุบัน สายทางนี้ จัดระบบเดินรถทางเดียวทั้ง 2ช่อง เพื่อระบายรถออกจากสนามบิน ใช้ในการขนส่งสินค้าจากคลังสินค้าสนามบิน ที่สำคัญอยู่ในเงื่อนไขเขตปลอดภัยทางการบิน คงไม่สามารถขยายช่องทางจราจร เพิ่มได้ ในขณะที่ ตัวแทน กองบิน 41 ยืนยัน หากมีการประสานมาจะเร่งดำเนินการตามที่เสนอ แต่การสร้างทางลอดใต้ดินผ่านพื้นที่กองบิน 41 มีความเป็นไปได้ยาก และเป็นเส้นทางถวายความปลอดภัยพระบรมวงศานุวงศ์ที่เสด็จฯด้วย สอดรับกับตัวแทนกรมทางหลวง ว่าหากก่อสร้างอุโมงค์ทางลอด จะยาวมาก น่าจะยาวสุดในประเทศ และเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุง่าย การบำรุง ดูแล รักษา เป็นการลงทุนที่สูงมากไป
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอต่อที่ประชุมฯ ได้ขอให้ ทางหลวงเชียงใหม่ที่1 ซึ่งอยู่ระหว่างว่าจ้างที่ปรึกษาดำเนินโครงการศึกษา วิเคราะห์แนวทงแก้ไขปัญหาการจราจรโดยรอบพื้นที่สนามบินเชียงใหม่ ควรศึกษาพื้นที่จอดรถด้านนอก และการใช้บริการรถสาธารณะหรือรถท่าอากาศยาน เพื่อลดปริมาณรถที่จะเข้ามาในพื้นที่สนามบิน ลดจำนวนยานพาหนะที่จะเข้าไปกระจุกตัวในพื้นที่จนรถติดหนัก โดยเฉพาะช่วงเทศกาล,วันหยุดยาวๆด้านภาคเอกชน-หอการค้าเชียงใหม่ ยืนยัน การรองรับปริมาณผู้โดยสารสูงสุดถึง 20 ล้านคนถึงปี 2568 การให้บริการมีความสามารถช่วง 6 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน เที่ยวบิน 31 เที่ยวต่อชั่วโมงสูงมาก น่ากังวลและสถานที่ตั้งสนามบิน รายรอบด้วยชุมชนที่หนาแน่นขึ้น กลายเป็นปมปัญหาที่ต้องทบทวน กับมาตรการต่างๆ รวมถึงแผนพัฒนาที่ต้องเร่งรัดการสร้างสนามบินแห่งใหม่ขึ้นมากระจายความแออัดของสายการบินในอนาคตด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น