ภาค 5 จับหนุ่มเมืองชล จอมแสบ หลอกเหยื่อบอกรหัสธุรกรรมการเงิน ก่อนกดเงิน เหยื่อสูญ 34 ราย วงเงินเกือบ 2 ล้าน

เมื่อเวลา 11.00 น. ของวันที่ 3 ตุลาคม 2562 ที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 พล.ต.ต.บัณฑิต ตุงคะเศรณี รอง ผบช.ภ.5 , พล.ต.ต.วีรชน บุญทวี ผบก.สส.ภ.5 และ พล.ต.ต.นันทวิทย์ เทียมบุญธง ผบก.ภ.จ.แพร่ ได้ร่วมกันแถลงข่าวผลการจับกุม คนร้ายปลอมเป็นพนักงานคอลเซ็นเตอร์ธนาคารไทยพาณิชย์ โทรศัพท์หลอกถามรหัส OTP จากผู้เสียหาย ก่อนจะทำการถอนเงินสดผ่านตู้เอทีเอ็ม โดยไม่ใช่บัตรเอทีเอ็ม
โดยผู้ต้องหาชื่อ นายสรวิศิษฐ์ หรือภู่ จิตต์เที่ยง อายุ 35 ปี อยู่บ้านเลขที่ 23/69 หมู่ 2 ต.เสม็ด อ.เมืองจ.ชลบุรี โดยจับตามหมายจับของศาล จ.แพร่ ที่ จ.211/2562 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์โดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น
โดยพฤติการณ์คือ เนื่องจากประชาชนมาร้องทุกข์ขอความช่วยเหลือ จากตำรวจภูธรภาค 5 ว่าถูกคนร้ายโทรศัพท์มาหลอกถามข้อมูลรหัส OTP เพื่อความปลอดภัย ในการทำธุรกรรมทางอินเตอร์เน็ต และนำรหัสดังกล่าวไปถอนเงินสดออก ประกอบกับได้รับการประสานงาน จากธนาคารไทยพาณิชย์ ว่าได้รับการร้องเรียนจากผู้เสียหาย จำนวน 34 ราย รวมความเสียหาย 1,867,921 บาท
โดยคนร้ายจะโทรศัพท์ไปที่เหยื่อ โดยอ้างเป็นพนักงานคอลเซ็นเตอร์ ธนาคารไทยพาณิชย์หลอกถามข้อมูลรหัส OTP และคนร้ายนำรหัสดังกล่าว ไปสมัครแอพพลิเคชั่น SCB EASY แล้วทำการถอนเงินสดออกโดยไม่ใช้บัตรเอทีเอ็ม
หลังจากได้รับร้องเรียน เจ้าหน้าที่จึงได้รวบรวมข้อมูล โดยส่งเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวน ฝ่ายการป้องกันอาชญากรรมทางการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ประสานข้อมูลผ่านเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ตำรวจภูธรภาค 5, กองบังคับการ ตำรวจสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 5 , ตำรวจ ภ.จ.แพร่ และ สภ.เมืองแพร่ ร่วมทำการสืบสวนจนสามารถทราบตัวคือ นายสรวิศิษฐ์ หรือภู่ จิตต์เที่ยง อายุ 35 ปี จึงได้ออกติดตามจับกุมตัวได้ในที่สุด
ด้าน พล.ต.ต.บัณฑิต ตุงคะเศรณี รอง ผบช.ภ.5 กล่าวว่า ลักษณะการก่อเหตุแบบนี้ คือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยผู้ต้องหาได้รหัสหรือข้อมูลเหยื่อมาจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แต่ยังไม่ทราบว่าเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่อยู่ในหรือต่างประเทศ แต่ดูจากรูปการแล้ว น่าจะเป็นแก๊งขนาดใหญ่ ซึ่งขณะนี้จากการสอบสวนพบว่า มีการทำกันเป็นขบวนการ ในขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนเพื่อขยายผลการจับกุมเพิ่มเติม
“ขอประชาสัมพันธ์ฝากสื่อมวลชน และประชาชน ว่าสิ่งสำคัญของดิจิตอลแบงค์กิ้ง ประชาชนต้องไม่ควรให้รหัส OTP กับคนที่ไม่รู้จักหรือคนที่โทรมาถามทางโทรศัพท์ ไม่ว่าจะอ้างเป็นผู้ใดก็แล้วแต่ ธนาคารทุกธนาคารไม่มีนโยบายที่จะขอ OTP ที่ส่งไปยังโทรศัพท์มือถือของท่าน ถ้าท่านพบมีคนโทรมาหา หรือไม่มั่นใจในการทำธุรกรรม ให้ติดต่อไปที่ธนาคารต้นทางว่ามีนโยบายให้ทำแบบนี้หรือไม่ เพื่อป้องกันการเกิดโจรกรรมเงินในลักษณะนี้” รอง ผบช.ภ.5 กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น