เที่ยวงานบุญออกพรรษา ประเพณีแข่งเรือยาวเมืองน่าน

การแข่งขันเรือยาวประเพณีของชาวน่านถือเป็นเทศกาลที่สำคัญไม่น้อยกว่างานบุญใด ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงวันออกพรรษา เรือยาวจากหมู่บ้านต่าง ๆ ในจังหวัดน่านต่างนำเรือของตนเข้าร่วมแข่งขันด้วย สิ่งหนึ่งที่สร้างสีสันและความสนุกสนานให้แก่งานแข่งเรือได้ไม่น้อยก็
คือ เสียงเชียร์จากกองเชียร์ของแต่ละหมู่บ้าน ที่ออกมาร่ายรำยักย้ายส่ายสะโพกเพื่อร่วมเชียร์เรือยาวของหมู่บ้านนับเป็นภาพแห่งความสนุกสนานที่ไม่มีที่ใดเหมือน
ความพิเศษของเรือยาวเมืองน่านก็คือจะเป็นเรือที่ขุดจากต้นตะเคียน หรือตะเคียนทองทั้งต้น ด้วยเชื่อกันว่ามีความทนทานและผีนางไม้แรง ลำตัวของเรือจะเป็นรูปเพรียวลม หัวเรือเป็นรูปพญานาค ชูคอสง่าอ้าปากเห็นเคี้ยวโง้ง เรือแข่งเมืองน่านเมื่อทำเสร็จแล้วลำหนึ่ง
ตกราคาประมาณเป็นแสน ๆ

เอกลักษณ์ของหัวเรือเมืองน่านอยู่ตรงหัวเรือหรือโขนเรือ ที่จำหลักเป็นรูปพญานาคแบบล้านนา กำลังแสยะแยกเขี้ยวสำแดงอำนาจ ส่วนหางเรือก็จะเป็นส่วนของหางพญานาคที่มีความสวยงามไม่แพ้หัวเรือ ความเชื่อโบราณของชาวน่านที่ได้สร้างหัวเรือเป็นรูปพญานาค
ก็เพราะคนเมืองน่านเชื่อว่าพญานาคเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ สามารถดลบันดาลให้ฟ้าฝนอุดมสมบูรณ์ สามารถทำไร่นาได้ตามฤดูกาล ดังนั้นวัดทุก ๆ วัดในเมืองน่านจึงได้พากันจัดสร้างเรือหัวพญานาคขึ้น แม้จะไม่มีเรือแข่งอยู่ก็ตาม หากในปีใดที่ฝนฟ้าไม่ตก ก็จะมีการนำเรือนั้นมา
ปล่อยลงน้ำ สมมุติว่าได้ให้พญานาคได้เล่นน้ำ ฝนจะได้ตกต้องตามฤดูกาล
ตำนานเรื่องการแข่งเรือเมืองน่านกล่าวไว้ว่า ในสมัยก่อนเจ้าผู้ครองนครน่านองค์หนึ่งได้ให้ข้าราชการไปตัดไม้ตะเคียนคู่ซึ่งเป็นไม้ที่ใหญ่มาก เมื่อตัดไม้ลงแล้วจึงได้ให้ช่างตกแต่งเป็นรูปลักษณะเรือแข่ง ใช้ช้างหลายสิบเชือกช่วยกันลากจุงออกจากป่ามาสู่ลำน้ำน่าน ด้วย
ความมหึมาของไม้ตะเคียนที่ใช้ทำเรือคู่นั้น ทำให้รอยลากเรือกลายเป็นร่องน้ำสมุน แควน้ำหนึ่งของแม่น้ำน่าน

การแข่งเรือเมืองน่านถือเป็นประเพณีเก่าแก่สืบเนื่องมาแต่โบราณ จะจัดแข่งกันเองในช่วงเทศกาลงานถวายสลากภัตหรืองานหรือออกพรรษา แต่ละวัดจะนำเรือของหมู่บ้านตนมาเข้าแข่งขันเพื่อความสมัครสมานสามัคคีโดยไม่มีค่าจ้างรางวัลอะไร ต่อมาประมาณปี พ.ศ
.2479 หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครถูกยุบไป โดยมีข้าหลวงหรือผู้ว่าราชการจากส่วนกลางส่งไปแทน ครั้งนั้นพระเกษตรสรรพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่านมีดำริให้มีพิธีทอดกฐินสามัคคีขึ้นในจังหวัด จึงได้จัดให้มีการแข่งขันเรือยาวในงานทอด
กฐินด้วย ปี พ.ศ.2503 มีการจัดงานกฐินพระราชทานหรือกฐินหลวงขึ้นที่วัดช้างค้ำ จึงได้จัดให้มีการแข่งขันเรือชิงเงินรางวัลขึ้นและก็ยึดถือสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ให้ถือเอาวันเปิดสนามงานแข่งขันเรือยาวเมืองน่านในวันถวายสลากภัตของวัดช้างค้ำวรวิหาร เพราะถือว่าเป็นวัด
หลวง จะต้องจัดงานถวายสลากภัตก่อนหัววัดอื่น ๆ งานประเพณีแข่งเรือจังหวัดน่านจึงจัดควบคู่กับงานตานก๋วยสลากของวัดช้างค้ำจนอำเภออื่นนำเอาไปเป็นแบบอย่าง เช่นที่อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ก็ได้จัดให้มีการแข่งขันเรือประเพณีด้วยและจัดควบคู่กับงานตานก๋วยสลาก
ของวัดบุญยืนซึ่งถือเป็นอารามหลวงสำคัญของอำเภอเวียงสา

เมื่อเทศกาลแข่งเรือมาถึง ผู้คนจากหมู่บ้านต่าง ๆ ก็มาชุมชนรอชมการแข่งขันเรือยาวอย่างเนืองแน่น เรือยาวกว่า 40 ลำจนเทียบฝั่งเพื่อรอเวลาประลองฝีมือ ในปีนี้ดูเหมือนว่ามีเรือยาวจากหมู่บ้านต่างสนใจเข้าร่วมแข่งขันมากกว่าปีที่แล้ว บรรดากองเชียร์จากหมู่บ้านต่าง
ๆ ก็เดินทางมาให้กำลังฝีพายของหมู่บ้านตน บางหมู่บ้านมีการจ้างวงดนตรีมาบรรเลงเพลงสร้างความสนุกสนานและเสียงหัวเราะให้กับผู้ชมได้ไม่น้อย
การแข่งเรือเมืองน่านจะใช้ลำน้ำน่านเป็นสนามแข่ง หลังจากที่มีพิธีเปิดในงานทอกฐินของวัดช้างค้ำแล้ว บรรดาเรือยาวของเมืองน่านก็จะออกตระเวนแข่งตามสนามต่าง ๆ ในจังหวัด ซึ่งมีอยู่ถึง 3 สนามคือสนามแข่งอำเภอเมือง สนามแข่งอำเภอท่าวังผา สนามแข่งอำเภอ
เวียงสาก่อนจะมาปิดสนามกันที่สนามแข่งในเมืองอีกครั้ง แม้ว่าจะต้องตระเวนแข่งเรือตามสนามต่าง ๆ กระนั้นก็ไม่ทำให้กองเชียร์ของหมู่บ้านถ้อทอย ทุกคนยังคงตามไปให้กำลังเรือแข่งของหมู่บ้านตนทุกที่แม้ว่าแดดจะร้อน ฝนจะตกแค่ไหน นี่จึงถือเป็นพลังความสามัคคีของชาว
บ้านที่มีต่องานประเพณีอันยิ่งของพวกเขา

พิธีบวงสรวงแม่ย่านางเรือมีการเตรียมเครื่องเซ่น เช่นข้าวปลาอาหาร ผลไม้รวมทั้งดอกไม้ธูปเทียนมาบวงสรวง พิธีบวงสรวงเริ่มจากการกล่าวเชิญขวัญแม่ย่านางเรือมาประทับ กล่าวคำบูชาสรรเสริญแม่ย่านาง ผู้ประกอบพิธีนี้จะต้องเป็นผู้อาวุโสสูงสุดในทีมเรือแข่ง
บางลำอาจจะใช้หมอครูที่เป็นที่เคารพนับถือ คำบวงสรวงแม่ย่านางเรือใช้เพียงตั้งนโม 3 จบแล้วจึงกล่าวเป็นภาษาพื้นเมืองเหนือที่มีเนื้อความทำนองขออัญเชิญขวัญแม่ย่านางเรือที่เร่ร่อนพเนจรอยู่ห่างไกลให้กลับมาสิ่งสถิตเป็นมิ่งขวัญแก่ลำเรือและลูกเรือทุกคน ขอให้เรือมีกำลัง
แรงพุ่งทะยานไปในสายน้ำดั่งพญาราชสีห์ จากนั้นจึงเป็นการประพรมน้ำมนต์ของพรแม่ย่านางให้ลูกเรือทุกคนได้รับชัยชนะในการแข่งขัน ก่อนที่จะนำเรือแข่งลงสู่สายน้ำ
เมื่อสัญญาณแห่งการแข่งขันเริ่มขึ้น เรือทุกลำต่างพยายามต่อสู้อย่างดีที่สุด กลเม็ดทุกชนิดถูกนำมาใช้ เสียงกู่ร้องนับหนึ่งสองสาม หรือแม้แต่การใช้เสียงนกหวีดเป็นจังหวะในการจ้ำฝีพาย เสียงพากษ์ของโฆษกสนามดังกึกก้องระงม แต่การแข่งขันย่อมมีผู้แพ้ผู้ชนะ ใน
ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งตื่นเต้นยินดีในความเป็นผู้ชนะ แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็เหนื่อยหน่ายท้อแท้กับความพ่ายแพ้ รอยยิ้มและเสียงหัวเราะความเสียใจและคราบน้ำตา เป็นอีกหนึ่งสีสันของการแข่งเรือเมืองน่านที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์แห่งชีวิตชีวา

คืนวันของอดีตการแข่งขันเรือยาวเมืองน่าน อาจผ่านพ้นมาเนินนาน รูปแบบของการจัดงานอาจเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่นัยยะแห่งความหมายของพลังสามัคคีในหมู่ชาวบ้านยังคงดำเนินต่อไป ตราบใดที่ในหัวใจของพวกเขายังคงเต็มเปี่ยมไปด้วยศรัทธาจากงานบุญ.

 

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น