สมาชิกวุฒิสภาลงพื้นที่ จ.ลำปาง ร่วมประชุมพบปะและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนใน อ.แม่เมาะ

สมาชิกวุฒิสภาลงพื้นที่ จ.ลำปาง ร่วมพบปะกับประชาชนในเขตท้องที่ อ.แม่เมาะ เดินหน้าต่อเนื่องในการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับบทบาทอำนาจหน้าที่ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ด้านการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ ในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อลดภาระอุปสรรคที่จะส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน
คณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ (ตอนบน) นำโดย พลเรือเอก ชัยวัฒน์ เอี่ยมสมุทร สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะกรรมการโครงการฯ และรองประธานคณะกรรมาธิการพลังงาน คนที่สาม พร้อมคณะกรรมการโครงการ สมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ (ตอนบน) ร่วมกันเดินทางลงพื้นที่เยี่ยมเยือนพบปะกับพี่น้องประชาชนในเขตท้องที่ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง
เพื่อตรวจติดตามการดำเนินงานด้านการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ พร้อมร่วมประชุมหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับคณะผู้บริหาร ผู้แทนหน่วยงาน ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และรับฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการของพี่น้องประชาชนในเขตตำบลบ้านดง ที่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากการบังคับใช้กฎหมายตามรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติต่าง ๆ
ซึ่งได้มีการเปิดพื้นที่จัดการประชุมหารือรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะขึ้น ที่ห้องประชุม ชั้น 1 องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง โดยมีนายพินิจ แก้วจิตคงทอง ปลัดจังหวัดลำปาง และนายคมกริช เจริญพัฒนสมบัติ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดลำปาง
ร่วมเป็นตัวแทนในนามจังหวัด นำทีมผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ในสังกัดหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้แทนหน่วยงานองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนจากชุมชนต่าง ๆ ในเขตท้องที่ ร่วมให้การต้อนรับคณะฯ พร้อมเข้าประชุมนำเสนอให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นปัญหาอุปสรรค ที่มีผลกระทบต่อประชาชนตำบลบ้านดง และที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาพื้นที่จังหวัดทั้งด้านบวกและด้านลบ
ทั้งนี้ สำหรับการลงพื้นที่ตามโครงการฯ ดังกล่าว ถือเป็นส่วนหนึ่งในภารกิจสำคัญของวุฒิสภาไทย ที่ได้จัดทำขึ้น เพื่อต้องการจะเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับบทบาทอำนาจหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ ให้สาธารณชนได้รับทราบ รวมทั้งเพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกวุฒิสภา ได้ร่วมพบปะกับประชาชนอย่างใกล้ชิด เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานกิจการโครงการต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงจากหน่วยงานองค์กรทุกภาคส่วน อันมีผลเกี่ยวเนื่องกับการบังคับใช้ข้อกฎหมาย
ทั้งนี้เพื่อจะได้รับทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินกิจการนั้น ๆ รวมทั้งเพื่อให้รับทราบถึงประเด็นความต้องการ ที่ประชาชนอยากให้ทางวุฒิสภาได้ดำเนินการช่วยเหลือ แก้ไข ปรับปรุง ในประเด็นข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติเพิ่มเติม ซึ่งจะได้นำไปเป็นข้อมูลสำหรับใช้ประกอบการพิจารณากลั่นกรองกฎหมาย เพื่อจะได้นำไปสู่การปรับปรุงแก้ไข ภายใต้บทบาทหน้าที่และอำนาจของวุฒิสภา
โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้ คณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาฯ ได้ร่วมประชุมถกแถลงถึงประเด็นปัญหาด้านการปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งมีประเด็นน่าสนใจที่ประชาชนอยากให้มีการแก้ไขปรับปรุง คือ กรณีของชาวบ้านในชุมชนตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ ร้องขอให้มีการติดตามแนวทางการแก้ไขปัญหาการจัดสรรค่าภาคหลวงแร่ ให้เกิดความเป็นธรรมและเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริง
เนื่องจากพื้นที่ตำบลบ้านดง เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินกิจการของเหมืองแม่เมาะโดยตรง รวมทั้งในส่วนนี้ชาวบ้านมีความจำเป็นต้องอพยพย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในชุมชนแห่งใหม่ จึงได้ร้องขอให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายข้อบังคับเกี่ยวกับการเพิกถอนเขตอุทยาน เขตป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อให้สามารถออกเอกสารสิทธิที่ดินให้กับชาวบ้าน
และแก้ไขปัญหาเรื่องพื้นที่ทำกินของชาวบ้านทับซ้อนกับเขตพื้นที่อุทยาน เขตพื้นที่ป่าสงวน, พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการจัดระบบสาธารณูปโภคจัดตั้งโรงพยาบาลชุมชนระดับตำบล เพื่อรองรับการอพยพของชาวบ้านในตำบลบ้านดง 4 หมู่บ้าน ทั้งบ้านหัวฝาย หมู่ที่ 1 , บ้านดง หมู่ที่ 2 , บ้านสวนป่าแม่เมาะ หมู่ที่ 7 และบ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง หมู่ที่ 8 รวมกว่า 982 ครัวเรือน ตลอดจนให้มีการพิจารณาทบทวนการประเมินราคาทรัพย์สิน และปรับราคาประเมินค่าชดเชยทรัพย์สิน ที่ดิน ต้นไม้ สิ่งปลูกสร้าง ให้เกิดความเป็นธรรมกับชาวบ้านที่จะต้องอพยพย้ายไปอยู่ในพื้นที่ชุมชนแห่งใหม่ด้วย
โอกาสนี้ คณะกรรมการโครงการฯ ได้ร่วมกันลงพื้นที่ดูจุดบริเวณที่ทิ้งดินของเหมืองแม่เมาะ ในเขตตำบลบ้านดง ซึ่งได้ใช้พื้นที่กว้างกว่า 25,600 ไร่ หรือ กว่า 41 ตารางกิโลเมตร โดยเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากการดำเนินกิจการของเหมืองแม่เมาะ โดยข้อเท็จจริงทั้งหมดที่ทางคณะกรรมการฯ ได้รับ จะได้มีการสรุปเป็นประเด็นปัญหาตามข้อร้องเรียนต่าง ๆ เพื่อจะได้นำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาแก้ไขตามอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น