กำแพง – ประตูเมือง ความเปลี่ยนแปลง ในเวียงโบราณเชียงใหม่

ในบรรดาเมืองเก่าแก่ของไทย ไม่จำกัดยุคสมัย หากจัดอันดับการคงอยู่ของแนวกำแพง ประตูเมืองที่มีสภาพสมบูรณ์ สวยงามบนพื้นฐานการอนุรักษ์ที่เหมาะสม ต้องมี”เชียงใหม่”แน่นอน ถ้าเป็นพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวต้องยอมรับว่า ชื่อเสียง”ประตูท่าแพ” ติดอันดับโลก ไม่ด้อยกว่าสถานที่ยอดนิยมในหมู่คนเดินทาง ที่มักต้องหา แลนมาร์ค จุดเด่นดังของเมืองนั้น ๆ บันทึกภาพ
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ กำแพงเวียงเชียงใหม่ สร้างขึ้นในรัชสมัย “พญามังราย” เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.1839 หรือ ค.ศ.1296 อยู่มาถึงวันนี้ก็ร่วม ๆ 723 ปี วัตถุประสงค์การสร้างแนวกำแพง คือ เพื่อล้อมรอบตัวเมืองที่มีรูปสี่เหลี่ยม กว้าง ยาว ทุกทิศประมาณ 1,600 เมตร บันทึกประวัติศาสตร์เมือง ระบุว่า มี 5 ประตูบ้าง 6 ประตูบ้าง โดยเอกสารที่ อ.ฮันส์ เพนซ์ รวบรวมกล่าวถึง ประตูที่ 6
ซึ่งล่องหนหายไป เสมือนเป็นประตูกล สร้างสมัย”พระเจ้าติโลกราช ” ช่วง พ.ศ. 2000 – 2100
ประตูที่เหลือปรากฎจนถึงปัจจุบันคือ ประตูช้างเผือก , ประตูเชียงใหม่ , ประตูสวนดอก , ประตูสวนปรุง ซึ่งมีอีกชื่อเรียกว่า..ประตูผี ” และ ประตูท่าแพ โดยประตูนี้สร้างชั้นนอกบริเวณสะพานแม่ข่า ใกล้ๆวัดแสนฝาง ส่วนที่เหลืออยู่บนลานท่าแพ คือชั้นในแนวกำแพง มี 3 ชั้น รอบนอกเป็นการนำดินคูเมืองที่ขุดล้อมราชธานี ไปปูวางทับผสมอิฐเป็นแนวกำแพงดิน ป้องกันเวียงไม่ให้ข้าศึกบุกเข้ามาง่าย ๆ มีประตูทางเข้า ด้านใต้คือ หายยา กับระแกง , ส่วนขัวก้อมและเชียงเริก เยื้องทิศตะวันออกของกำแพง วันนี้เศษซากแนวกำแพงดินรอบนอก ยังปรากฎให้เห็น
ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2340 สมัยพระเจ้ากาวิละ มีการบูรณะซ่อมแซม กำแพง ประตูเมืองรอบเวียงครั้งใหญ่ จากการสืบค้นเอกสาร “พงศาวดารเมืองสยาม”เขียนโดย นายเกอมีย์ นัตตอน อดีตกงสุลฝรั่งเศส ประจำเชียงใหม่ มีการบันทึกภาพพร้อมถ่ายทอดเรื่องราว ช่วง พ.ศ.2464 ว่าเห็นแนวกำแพงเก่าๆล้อมรอบเมือง ดูอลังการยิ่งใหญ่ คูเมืองลึก กว้าง 60 กว่าเมตร อ่านบันทึกผู้คนที่ทันเห็นเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2500 ที่ยังมีโอกาสเห็นภาพแนวกำแพง และประตูเมือง หลงเหลือ
จากการบูรณะครั้งใหญ่ ในสมัยพระเจ้ากาวิละ เช่น บทความ”เล็กๆน้อยๆจากเชียงใหม่ ในอดีต” ซึ่งคุณหญิงสวาท (วสุวัต ) รัตนวราหะ ร้อยเรียงในหนังสือ “กำแพงเมืองเชียงใหม่” เป็นอนุสรณ์ ในพิธีฉลองประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2529″ ก่อนที่จะสร้างประตูท่าแพ จำลองใหม่ ในปี 2528 นั้น กำแพงเมือง สมัยนั้นสมบูรณ์ ใหญ่โต พักอาศัยอยู่นอกเมือง เวลามาโรงเรียนวัฒโนทัยกับเพื่อนๆยุคนั้น เคยเดินขึ้นแนวกำแพงเมือง ซึ่งเป็นก้อนอิฐ ขนาดใหญ่ เห็นกำแพงบางช่วงมีการงัดออกไป เป็นช่องทางเดินเสียดายที่เชียงใหม่ถูกปล่อยปละละเลย ทั้ง ๆ ที่มีของดี ๆ อิฐหัก แนวกำแพงยิ่งใหญ่แบบกรุงโรม
พอย้ายไปอยู่นครพนม แล้วกลับมาดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ ร.ร.วัฒโนฯ ในปี พ.ศ.2510 ได้มีส่วนร่วมคัดค้านการรื้อกำแพง บริเวณมุมแจ่งหัวลิน และหลายมุมเมือง ให้เหลือไว้ขายนักท่องเที่ยวบ้าง ”
แนวคิดการอนุรักษ์เมืองประวัติศาสตร์เชียงใหม่ มีการตื่นตัวมาตั้งแต่ พ.ศ.2500 แล้ว ถ้าไม่มีกลุ่มบุคคลหัวก้าวหน้า ที่เป็นทั้งนักประวัติศาสตร์ , ครูอาจารย์ , สถาปนิก , และข้าราชการผู้ใหญ่หลาย ๆ ท่าน
ช่วยกันท้วงติงให้มีการอนุรักษ์ สืบสาน มรดกเมืองโบราณ จนมีประกาศพื้นที่ สงวนรักษาตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ 2504 รวมถึงกฎหมายผังเมือง ควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อส่งเสริม อนุรักษ์และพัฒนาภายในกำแพงเมืองเชียงใหม่ พ.ร.บ.ผังเมือง 2518 และกฎกระทรวงฉบับที่ 7 (พศ.2527 )ที่กำหนดการขยายเขตทาง ในคูเมืองชั้นใน ชั้นนอก เป็นถนนประเภท ก. เขตทางขนาด 20 ม. ประเภท ค.เขตทางระยะ 22 ม. เป็นต้น
ป่านนี้คงไม่เหลือซากรอยอดีต แนวกำแพงเมือง คงถูกรื้อถอน ด้วยข้ออ้างว่าชำรุด ทรุดโทรม อาจก่ออันตรายจากการ สัญจรผ่านไปมาของชาวบ้าน และอาจกลายเป็นทางเดินเท้ารอบคูเมือง ทั้งนี้อิฐหัก ๆ เก่า ๆ บางส่วนถูกนำมาเป็นฐานถนนสายรอบเวียงชั้นใน ใช้ถมคูเมืองบางส่วน ให้มีขนาดถนนที่เหมาะสมกับความเจริญของเมือง เช่น ถนนมณีนพรัตน์ การรื้อซากกำแพง ประตูท่าแพเก่า ๆ ออกไปแล้วจำลองสร้างใหม่ จากการออกแบบของหน่วยศิลปากรที่ 4 เชียงใหม่
ครั้นปี 2528 มีนักวิชาการประวัติศาสตร์ ท้องถิ่น หลาย  ๆ ท่าน รวมถึงนักท่องเที่ยวส่วนหนึ่ง แสดงความคิดเห็นว่า หากแนวกำแพง ประตูเมืองเชียงใหม่ ที่เหลือรอด จากกาลเวลา มีการบูรณะ ซ่อมแซม แทนที่จะถูกรื้อ สงวนรักษาไว้เป็นหย่อม ๆ ตามที่ปรากฎให้เห็นในวันนี้ บางทีเวียงวังมัณฑะเลย์ เมียนมา อาจมีคู่แข่ง อาจสร้างคุณานุปการใหญ่หลวง ให้เวียงเชียงใหม่ เป็นเมืองมรดกโลก ที่ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง สร้างประโยชน์จากภาคการท่องเที่ยวมากกว่าที่เป็นในวันนี้ แต่มีนักโบราณคดี ในพื้นที่บางท่าน ที่เคยมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ พัฒนาเมือง ช่วงปี 2500 บางท่าน เคยเป็นหัวหน้าส่วนงานประจำเชียงใหม่
ด้านโบราณคดี จนก้าวเป็นอธิบดี..ย้อนแย้งว่า การลงทุน อนุรักษ์ พัฒนาแนวกำแพง ประตูเมือง ต้องคำนึงถึงความเหมาะสม เป็นไปได้กับยุคสมัย เพราะกำแพง ประตูเมืองที่เหลืออยู่ ในท่ามกลางกระแสเศรษฐกิจหัวเมือง เป็นเป้าหมาย คงยากเจรจากับระดับนโยบาย ให้คงรักษาสภาพเมืองโบราณ ให้คงสภาพ ที่ชำรุด ทรุดโทรมไปตามกาลเวลาได้ ประกอบกับ เมืองเก่า ร่วมสมัยเมืองใหม่ ที่การค้า การลงทุน การท่องเที่ยวถาโถมเข้ามา ถ้ามีหัวใจ สงวนรักษาอดีต อันล้ำค่าไว้สุดหัวใจ ก็คงไม่เกิด ห้องแถว อาคารพาณิชย์ บนลานท่าแพ ที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ขัดใจกฎสังคม
ในอนาคต หากการพัฒนาสายทางรถไฟฟ้าบางสายเกิดขึ้นจริง บางที อาจเห็นภาพการรื้อแนวกำแพง ประตูเมืองเก่า ๆ บางส่วนออกไป เพื่อเป็นจุดจอดกลางแลนมาร์คของเชียงใหม่ก็ได้ “ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ สำหรับเชียงใหม่ เมืองที่เล็งผลเลิศทางเศรษฐกิจ บนรากฐานต้นทุนเมืองโบราณมากกว่าสิ่งใด “

ร่วมแสดงความคิดเห็น