หนองใหญ่ ไชยมงคลเมือง เชียงใหม่ เหลือเพียงตำนาน

หากย้อนอดีตไปเมื่อ พ.ศ. 1839 เมื่อ 723 ปีล่วงมา ครั้งนั้น”พญามังราย” ปฐมกษัตริย์ล้านนา
ทรงเลือกชัยภูมิเพื่อสร้างพระนคร เวียงเชียงใหม่ ด้วยหลัก ไชยมงคล 7 ประการ หนึ่งในนั้นคือ “หนองน้ำ หนองขนาดใหญ่” ด้านเหนือของเมือง เป็นองค์ประกอบสำคัญของการสร้าง ทุกอาณาจักรบนโลกใบนี้ ที่ด้านกายภาพ ชัยภูมิเมืองต้องมี “แหล่งรับน้ำ” โดยต้นน้ำ จากยอดดอยสุเทพ จะไหลลงมาตามลำธาร สายน้ำสาขา ตามความลาดเอียงจากด้าน ตะวันตกมาทางตะวันออก ก่อนที่น้ำจากธรรมชาติจากผืนป่า จากฟ้าฝนบนดอย ไหลลงแม่น้ำปิง จะมีหนองน้ำแห่งนี้ รอกักเก็บน้ำหล่อ เลี้ยงผู้คนในเมือง ก่อนไหลผ่านคลองแม่ข่า ลงสู่น้ำปิง นับเป็นความเลิศเลอของ ” กษัตริย์ ” นักปกครอง ผู้รอบรู้ในการวางผังเมืองแรกของเชียงใหม่
ต่อมา ในปี พ.ศ. 2527 ผลพวงจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2525 – 29 กำหนดให้ “เชียงใหม่” เร่งรัดเป็นเมืองศูนย์กลางหลักทุก ๆ ด้าน ผลที่ตามมาคือโครงการพัฒนาต่างๆถาโถมเข้าสู่เมือง จากเมืองชนบทในภาคเหนือตอนบน ถูกจัดวางตำแหน่ง เป็นเมืองหลักของภาคเหนือตอนบน เมืองโบราณเก่าแก่ ที่ทรงคุณค่า ถูกพลิกสภาพ ด้วยการจัดวางผังเมืองรวม เป็นครั้งแรกในปี 2527 มีพื้นที่กว่า ร้อยตร.กม. รูปแบบผังเมืองที่บรรพชนได้จัดวางไว้ อย่างเข้าใจ ผู้คนในพื้นที่ ถูกแปรเปลี่ยนเพื่อสร้างมูลค่าจากการลงทุน
ในความเปลี่ยนแปลงที่อ้างความเจริญ ผ่านแผนพัฒนาต่างๆ รวมถึง บริเวณหนองน้ำที่เป็นหนองน้ำใหญ่ของเมืองเชียงใหม่ ถูกถมเป็นถนนอัษฎาธร ถนนรัตนโกสินทร์ และปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ ที่พัก ที่ดินเอกชนไป แทบไม่น่าเชื่อว่า หนึ่งในพื้นที่ไชยมงคล จะกลายเป็นพื้นที่มีเอกสารสิทธิ์ได้ในปัจจุบัน คงคล้าย ๆ ข้อกังขาของชาวบ้านว่า เหตุไฉน กลุ่มอาคารห้องแถวที่ปรากฎในบริเวณด้านทิศใต้ของลานท่าแพ จึงมีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมายได้กรณีหนองน้ำ หนองใหญ่ ไชยมงคลของเวียงเชียงใหม่ ก็เช่นเดียวกัน ในอดีตเริ่มต้นอย่างไร กรรมสิทธิ์ ที่ผู้ครอบครองซึ่งเป็น “กลุ่มทุนห้างดัง” ในปัจจุบัน ยากจะรับรู้หรือ มีส่วนต้องรับผิดชอบ ด้วยล่วงเลยมาหลายชั่วอายุคน
ดังนั้นข้อเรียกร้องของชาวเชียงใหม่ ส่วนหนึ่ง ในการทวงถามบางกลุ่มทุน เจ้าของที่ดิน ต่อแผนพัฒนา
พื้นที่ซึ่งเคยเป็นหนองน้ำ ไชยมงคล ราวแหล่งน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้าน คู่เมือง ซึ่งปัจจุบัน ไม่หลงเหลือสภาพให้เห็น ด้วยมีการทับถมดินต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ ล่าสุดก็กลายเป็นลานจอดรถไปแล้ว หากจะยึดคำมั่นสัญญาเดิม ๆ ว่า ” จะใช้แผ่นดินนี้ สร้างประโยชน์ให้ชาวเชียงใหม่ “
ท้ายที่สุดแล้ว ข้อเรียกร้องขอคืนหนองน้ำ ให้เป็นแก้มลิง แหล่งรับน้ำของเมือง ตามที่บูรพกษัตริย์แห่ง
ล้านนา ทรงเสกสร้างไว้ในแผ่นดิน คงเป็นเรื่องที่ชาวเชียงใหม่ ต้องร้อยใจให้เป็นหนึ่งเดียว นำเสนอแนวทางที่เหมาะสมบนพื้นฐานที่มี เหตุมีผลร่วมกัน เพราะพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล ขนาดนั้น มูลค่าไม่น้อย แค่หัวมุมตรงกันข้ามที่ดินร้อยกว่าตารางเมตร เห็นประกาศขาย ร่วมสิบกว่าล้านบาท ถ้าที่ดินผืนนี้คงว่ากันมโหฬาร
ก่อนจะถึง 1 มกราคม 2563 ที่พรบ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ มีผลบังคับ และมาตรการบังคับ
ด้านจัดเก็บภาษีที่ดินรกร้าง ตั้งเป้าไม่น้อยกว่า 4-5 หมื่นล้านบาท ระยะนี้จะเห็นบรรดาเจ้าสัว ผู้ครอบครองที่ดินจำนวนมากแล้วไม่ทำอะไร ทยอยเปิดกรุที่ดิน ออกมาพัฒนา เลี่ยงอัตราภาษีรกร้างกันจ้าละหวั่น และพื้นที่แห่งนี้ก็เช่นกัน รอติดตามว่า จะเนรมิตโครงการลงทุน เพื่อเชียงใหม่ในรูปแบบ
ใดในอนาคต
ส่วนการจะขอรับบริจาคที่ดิน คงเป็นไปไม่ได้ และถ้าจะระดมทุนหาเงินหลายพันล้านเพื่อซื้อที่ ก็ไม่ใช่
เรื่องง่าย แล้วชาวเชียงใหม่จะทำอย่างไรดีกับ ที่ดินมูลค่ามหาศาล บนหนองน้ำ ไชยมงคลของเมืองแห่งนี้

ร่วมแสดงความคิดเห็น