งานบุญออกพรรษาของคน ” เวียงจันทน์ “

ด้วยวิถีชีวิต วัฒนธรรม ภาษาพูดของลาวที่คล้ายคลึงกับไทย จึงทำให้ลาวเป็นประเทศเดียวในโลกที่คนไทยไปเยือนโดยไม่ใช้ล่าม และเมื่อมีการเปิดใช้สะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำโขงความยาวกว่าหนึ่งกิโลเมตรเศษ ตั้งแต่ปี 2537 เพื่อเชื่อมแผ่นดินสองฝั่งคือ ที่บ้านจอมมณี จังหวัดหนองคายของไทยกับบ้านท่านาแล้ง จังหวัดกำแพงนครเวียงจันทน์ของลาว ทำให้การเดินทางไปมาระหว่างสองประเทศสะดวกมากยึ่งขึ้น จะว่าไปแล้วเมืองเวียงจันทน์ในวันนี้ดูไม่ต่างอะไรกับเมืองเชียงใหม่ของเรา เพราะอยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ก็เพื่อขยับขยายและพัฒนาไปสู่เมืองแห่งการท่องเที่ยว กว่าร้อยละ 90 ของบรรดาคนไทยที่ข้ามไปเที่ยวเวียงจันทน์ ผมว่าไม่ได้ข้ามไปเพื่อชม แหล่งท่องเที่ยวหรอก เพราะถ้าหากจะเข้าไปชมแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม วัดวาอารามของลาวที่มีอยู่ดาษดื่น และหากจะเที่ยวแบบให้ลึกซึ้ง 3 วัน 3 คืนก็ชมไม่หมด
โดยเฉพาะถ้าไปเที่ยวในช่วงเทศกาลงานบุญออกพรรษา เราจะเห็นศรัทธาของคนเวียงจันทน์ที่ตกแต่ง ประดิษฐ์ประดอยขี้ผึ้งเพื่อนำไปถวายวัด อันเป็นการแสดงออก ต่อพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ตัวเมืองเวียงจันทน์เป็นเมืองเล็ก ๆ ชาวลาวเรียกว่า “กำแพงนะคอนเวียงจันทน์” เป็นเหมือนเขตเมืองหลวง ในตัวเมืองมีถนนสายหลักอยู่สองสายคือ ถนนสามแสนไทยและถนนไชยเชษฐา เป็นถนนสายที่ว่ากันว่าสวยงามมากมีต้นมะฮอกกานีใหญ่ร่มครึ้มอยู่สองฟาก
ส่วนถนนสายสำคัญที่สุดของเวียงจันทน์คือ ถนนล้านช้าง ที่เริ่มต้นจากถนนไชยเชษฐาตรงหน้า “หอคำ” หรือทำเนียบประธานประเทศตรงไปยังวัดพระธาตุหลวง เป็นถนนสายใหญ่ทำเป็น 2 เลน มีเกาะอยู่กลางถนน เจตนาจะให้เหมือนถนนชองเอลิเซ่ (Champ Elese’s) ของปารีส หรือ ถนนสีลมบวกราชดำเนินของเวียงจันทน์ สองฟากถนนมีสถานที่สำคัญมากมาย เริ่มตั้งแต่วัดสีสะเกด อยู่ตรงหัวมุมถนน ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ของเวียงจันทน์
นอกจากนั้นริมถนนล้านช้างยังมีอาคารตึกเก่าแบบโคโลเนียล ตั้งแต่สมัยฝรั่งเศสยังปกครองลาวอยู่หลายตึกที่สวยคลากสิกมาก ส่วนใหญ่เก่าแก่ทรุดโทรมเพราะถูกทอดทิ้งมานาน ระหว่างกึ่งกลางของถนนเป็นที่ตั้ง อนุสาวรีย์นักรบเก่าของลาว หรือ ประตูชัยเวียงจันทน์ สร้างขึ้นเลียนแบบประตูชัยปารีส ที่ชองเอลิเซ่อีกนั้นแหละ แต่ไม่ได้เหมือนทั้งหมด ประตูชัยนี้เป็นศิลปะแบบลาวแท้ จะคล้ายกันเฉพาะท่อนล่างที่เป็นฝรั่ง ส่วนท่อนบนเป็นลาว ภายในประตูชัยมีบันไดขึ้นเพื่อไปชมวิวของเวียงจันทน์ ระหว่างทางขึ้นจะมีร้านขายของที่ระลึกไว้เรียก ความสนใจจากนักท่องเที่ยวด้วยบรรดาเสื้อยึดที่ระลึกของลาวหลากหลายรูปแบบ
ฝั่งตรงข้ามประตูชัยเวียงจันทน์ หากมองไกล ๆ จะเห็นทำเนียบรัฐบาลของลาว หรือ อาคารสภาประชาชนซึ่งเป็นอาคารสมัยใหม่ขนาดใหญ่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศลาว ใกล้กับอาคารสภาประชาชนคือพระธาตุหลวง เวียงจันทน์ เป็นปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมือง ด้านหน้ามีอนุสาวรีย์พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์ของลาวประดิษฐานอยู่ องค์พระธาตุหลวงเป็นเจดีย์ศิลปแบบพระธาตุพนมขนาดใหญ่ มีประวัติตำนานเก่าแก่ว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชของอินเดีย เมื่อ พ.ศ. 270-311 มีการบูรณะในปี พ.ศ. 1611 เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ครั้นสมเด็จพระไชยเชษฐา ทรงย้ายเมืองหลวงจากเมืองหลวง พระบางมาอยู่นครเวียงจันทน์ โปรดฯให้บูรณะใหม่สร้างพระเจดีย์ธาตุหลวงครอบองค์เดิม และถือเป็นปูชนียสถานสำคัญสุดของเวียงจันทน์ ทุกปีจะมีงานนมัสการพระธาตุหลวงยิ่งใหญ่ในคืนวันเพ็ญเดือน 12 ซึ่งตรงกับวันลอยกระทงของไทย
เมื่อไปลาวนักท่องเที่ยวต่างไม่พลาดที่จะหาซื้อของฝาก
ซึ่งมีทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค รวมไปถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าซึ่งมาจากจีน ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ นักช็อปผู้สันทัดกรณีต่างลงความเห็นกันว่า สินค้าในประเทศลาวนั้นถูกกว่าเมืองไทยเยอะ แหล่งจำหน่ายสินค้าในลาวมีอยู่ 2 ที่คือที่ตลาดเช้าในเวียงจันทน์ เป็นตลาดขายสินค้าสารพัดชนิด ซึ่งจะเปิดตั้งแต่เช้าถึงเย็น สินค้าขึ้นชื่อที่จำหน่ายได้แก่ ผ้าไหม ผ้าทอ เครื่องใช้ไฟฟ้า กล้องถ่ายรูปและสินค้าจากอินโดจีน ส่วนใครที่ชอบสินค้านำเข้าปลอดภาษีก็ต้องไปที่ร้านค้าปลอดภาษี (Duty Free) ใกล้กับด่านตรวจคนเข้าเมืองฝั่งลาว เพราะมีสินค้าจำน่ายตั้งแต่ สุรา เบียร์ ไวน์ บุหรี่และขนมจากอินโดจีน
เสน่ห์และความน่ารักของลาว ไม่ได้อยู่ที่วิถีวัฒนธรรมของผู้คน ที่ปัจจุบันมักเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ผมว่าเสน่ห์อันน่ารักของลาวอยู่ที่วิถีชีวิตและภาษาพูดมากกว่า คำบางคำที่เราไม่คาดคิดก็มีความหมายที่เป็นแบบฉบับของลาว จนทำให้คนที่ได้ยินอดยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ไปตามกัน นี่แหละคือเสน่ห์ของลาวที่ตราตรึงใจนักท่องเที่ยวเสมอมา
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น