จังหวัดลำพูน เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก ( Pm 2.5 ) ประจำปี 2563

จังหวัดลำพูนประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อถอดบทเรียนปัญหาหมอกควัน และ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ( Pm 2.5 ) เพื่อกำหนดมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดประสิทธิภาพเมื่อวันที่7 ตุลาคม 2563 ที่ ห้องประชุมหริภุญชัย ศาลากลางจังหวัดลำพูน นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อถอดบทเรียนในการติดตามป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันระดับจังหวัด เพื่อสรุปบทเรียน และมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน สู่การทำแผนแก้ไขปัญหาหมอกควันในปี 2563 โดยมี นายวรยุทธ เนาวรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน , พันเอกโรมรัน ชูก้าน รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดลำพูน ( ฝ่ายทหาร ) หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมซึ่งในที่ประชุมได้วิเคราะห์สาเหตุการเกิดปัญหา หมอกควัน และฝุ่นละออง มาจากสาเหตุต่าง ๆ อาทิ การเผาในพื้นที่เกษตร , การหาของป่าและล่าสัตว์ , ควันจากโรงงานอุตสาหกรรม , ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ , การเผาเศษหญ้าริมถนน , การเผาขยะในชุมชน ที่รกร้าง และการก่อสร้างถนน เป็นต้นนายสัญญา ทุมตะขบ ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำพูน เผยว่า สรุปบทเรียนการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน ปี 2562 จังหวัดลำพูน สรุปค่าจุดความร้อน หรือจุด Hotspot จากระบบ VIIRS ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2562 มีจำนวน 3,256 จุด , คุณภาพอากาศค่า PM2.5 เกินมาตรฐานตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2562 มีจำนวน 59 วัน , สถิติการจับกุมห้วงการห้ามเผาระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2562 รวม 71 ราย สำหรับแนวทางการป้องกันปัญหาหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก ในปี 2563 จะมีการสร้างการรับรู้สถานการณ์ฝุ่นละออง ขนาดเล็กให้ประชาชนเกิดความตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพ , การป้องกันบุคคลที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการลักลอบเผา , การจัดชุดลาดตระเวนดับไฟป่า , การสร้างความชุ่มชื้นให้ผืนป่า , การสนับสนุน กลุ่มจิตอาสาป้องกันควบคุมไฟป่า , การบริหารจัดการเชื้อเพลิงอย่างเป็นระบบ และ การสร้างความร่วมมือตามแนวทางประชารัฐ ทั้งนี้ ในช่วงปี 2562 จังหวัดลำพูนได้ประกาศห้ามเผา ตั้งแต่ช่วงหน้าแล้ง และห้ามเผาจนเข้าสู่ฤดูฝน ที่ผ่านมาซึ่งสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำพูน ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหาอุปกรณ์ดับไฟป่าและสอดคล้องกับสภาพการปฏิบัติงาน และสภาพป่าไม้ , จัดทำแนวกันไฟในพื้นที่เสี่ยง สร้างฝายชะลอน้ำทำแนวกันไฟเปียก โดยเฉพาะพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ได้ทำแนวกันไฟจำนวน 676 กิโลเมตร , จัดการเชื้อเพลิง(ชิงเผา) ในพื้นที่ป่า จำนวน 50,000 ไร่ , เตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ในพื้นที่ , จัดตั้งอาสาสมัครดับไฟป่า เครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่าชุดปฏิบัติการดับไฟป่า ให้ฝึกอบรม เพื่อสนับสนุนการดับไฟป่าในพื้นที่ , จัดทำบัญชีผู้มีพฤติกรรมการเข้าป่าเพื่อหาของป่าและล่าสัตว์ , หน่วยงานป่าไม้ในพื้นที่ หน่วยงานกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยทหาร และภาคประชาชน ร่วมกันปฏิบัติการดับไฟป่า , กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ สนับสนุนงบประมาณให้หมู่บ้านที่มีความเสี่ยงการเกิดไฟป่า มีการแจ้งข่าวสารและขอความร่วมมือให้ประชาชนงดการเผา และแจ้งแบะแสผู้ที่ทำการเผา เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐกับประชาชนในการ สร้างจังหวัดลำพูนให้เป็น “เมืองสะอาด ปราศจากหมอกควันอย่างแท้จริง”

ร่วมแสดงความคิดเห็น