เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเผยภาพเสือโคร่งลากซากวัวแดงให้ลูกกิน

วันนี้ (8 ตุลาคม 2562) ที่ จ.นครสวรรค์ ผู้สื่อข่าวได้รับภาพถ่ายและคลิปจากเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สังกัด สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ซึ่งเผยให้เห็นภาพซากวัวแดงถูกเสือถูกเสือโคร่งภายในป่าห้วยขาแข้ง กินหายไปครึ่งท่อน โดยเหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมา ซึ่งนายธนิตย์ หนูยิ้ม ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) เปิดเผยว่า ตอนนั้น ได้รับแจ้งจากนายปรีดา พิมคีรี ชาว ต.แม่เปิน อ.แม่เปิน จ.นครสวรรค์ ว่า ได้เข้าไปเก็บเห็ดพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยทับเสลา-ป่าห้วยคอกควาย (พื้นที่เตรียมการผนวก) ท้องที่ ต.ระบำ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี แล้วพบเห็นซากวัวแดง 1 ตัว นอนตายอยู่ในสภาพตัวเหลือครึ่งท่อน ซึ่งจุดห่างจากบ้านพักของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ประมาณ 2 กิโลเมตร นายปรีดาจึงได้รีบวิ่งออกมาจากป่า เพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่ให้เข้าตรวจสอบซากวัวแดงดังกล่าว
จากการลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับ นายธานี วงศ์นาค เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เจ้าหน้าที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และทีมวิจัยเสือโคร่ง นำโดย ดร.อัจฉรา ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ พบว่า จุดที่พบซากวัวแดงอยู่ที่พิกัด UTM 0540429E 1723004N รอยต่อระหว่าง จ.นครสวรรค์ และ จ.อุทัยธานี เป็นวัวแดงเพศเมีย มีร่องรอยถูกเสือโคร่งกินตั้งแต่บริเวณตรงส่วนของสะโพกไปจนถึงท่อนหลัง รวมทั้งตรงส่วนของลำไส้ เครื่องในถูกแทะกัดกิน ขณะเดียวกันจากการตรวจสอบโดยรอบบริเวณใกล้เคียงซาก ยังตรวจพบรอยเท้าเสือโคร่ง และรอยลาก แต่ไม่พบร่องรอยกระสุนปืน หรือร่องรอยที่เกิดจากการกระทำของคนแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการตรวจสอบ ดร.อัจฉรา ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ทำการศึกษาวิจัยเรื่องเสือโคร่ง ได้เปิดเผยว่า ปรากฎการณ์นี้ เป็นการล่าวัวแดงของเสือโคร่งเพศเมีย ที่ล่าเพื่อเป็นอาหาร โดยสังเกตุได้จากการพบรอยเขี้ยวและรอยอุ้งตีน ขนาด 7.5 ซม. และ 6.0 ซม คาดว่าน่าจะมี 2 ตัว เป็นแม่และลูกกัน ส่วนวัวแดง เป็นชนิดเหยื่ออาหารหลักของเสือโคร่ง ดังนั้น การล่าวัวแดงของเสือโคร่งที่พบในครั้งนี้ ถือเป็นไปตามห่วงโซ่ห่วงอาหารตามธรรมชาติ และการล่าเป็นการใช้ประโยชน์ตามระบบปิรามิดอาหาร ไม่ทำให้วัวแดงสูญพันธุ์แต่อย่างใด
ซึ่งหลังจากการตรวจสอบ ดร.อัจฉรา และเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ มีความคิดเห็นร่วมกันว่า ควรที่จะทิ้งซากวัวแดงเอาไว้ในบริเวณพื้นที่ที่ตรวจพบ เพื่อรอให้เป็นเหยื่อของเสือโคร่งต่อ โดยมีการติดตั้งกล้องถ่ายภาพไว้ใกล้กับจุดที่พบซากวัว เพื่อเก็บข้อมูลเชิงวิชาการ อันจะมีประโยชน์ในการที่จะใช้เป็นข้อมูลเชิงลึก และนำไปใช้วางแผนจัดการสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ให้เป็นไปตามหลักสิชาการต่อไป ซึ่งผลปรากฏว่า หลังจากตั้งกล้องแอบถ่ายเอาไว้ได้ประมาณ 1 ชั่วโมง กล้องสามารถบันทึกภาพไว้ได้ว่ามีเสือโคร่งตัวหนึ่งเข้ามาลากซากวัวแดงไปกินต่อ จึงทำให้รู้ว่าเป็นฝีมือของเสือโคร่งเพศเมีย ชื่อเอื้อง ที่ทีมวิจัยได้เคยนำเครื่องติดตามไปติดไว้ที่คอ เพื่อติดตามศึกษาชีวิตของพวกมัน โดยภาพที่กล้องสามารถบันทึกภาพได้ในเวลาต่อมานั้น เป็นภาพที่เสือเอื้องได้ลากซากวัวแดงไปให้ลูกของมันอีก 3 ตัว ได้กินภายในป่า ที่เผยให้เห็นปรากฎการณ์ห่วงโซ่ห่วงอาหารตามธรรมชาติของสัตว์ป่าภายในป่าห้วยขาแข้งแห่งนี้

ร่วมแสดงความคิดเห็น