สสจ.เชียงใหม่ เตือน! อันตรายจากการดื่ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก

นพ.วรัญญู จำนงประสาทพร รองนายแพทย์ สสจ.เชียงใหม่ กล่าวถึง ประเด็นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอ ฮอล์ในปริมาณมาก โดยเฉพาะในระยะเวลาสั้นๆ นั้น การกระทำในลักษณะดังกล่าว อาจทำให้เกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษเฉียบพลัน ซึ่งอันตรายถึงชีวิตได้ เนื่องจากแอลกอฮอล์มีการออกฤทธิ์เป็นสารกดประสาทหลังการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดจะขึ้นสูงสุด ภายในระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 45 นาที ระยะเวลาการออกฤทธิ์ในร่างกาย ขึ้นอยู่กับปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่ม จากการวัดระดับปริมาณแอลกอฮอล์ในการดื่ม ช่วงแรกระดับแอลกอฮอล์ในเลือดจะอยู่ที่ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป จะเพิ่มความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ บาดเจ็บ และพฤติกรรมรุนแรงถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ผู้ดื่มจะเกิดอาการสับสน ถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 300 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ผู้ดื่มจะมีอาการง่วง สับสน มึนงง และซึม ถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป (เหล้าขาว+สี 1.5-2 แบน หรือ ¾-1 ขวด) ผู้ดื่มจะเกิดอาการสลบ และในปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่สูงระดับนี้ สามารถกดสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับ การหายใจและการรู้สึกตัวของผู้ที่ดื่มได้ ดังนั้น การดื่มเบียร์ เหล้าหรือไวน์ปริมาณมากในระยะเวลาสั้น ๆ จึงอาจทำให้ผู้ดื่มหมดสติ ชีพจรช้าลง การหายใจแย่ลง จนถึงอาจหยุดหายใจอันตรายต่อชีวิตได้นพ.วรัญญู กล่าวอีกว่า ความทนต่อฤทธิ์แอลกอฮอล์ในร่างกายแต่ละคนแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น คนอ้วน คนผอม คนที่มีโรคประจำตัว ดีกรีของเครื่องดื่มที่ได้รับ และระบบเผาผลาญแอลกอฮอล์ในร่างกาย ส่วนปัจจัยที่เสริมให้การดื่มสุราได้รับผลกระทบต่อฤทธิ์แอลกอฮอล์มาก คือ การดื่มแบบเพียว และการดื่มขณะท้องว่าง เป็นต้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงาน สสจ.เชียงใหม่ หมายเลขโทรศัพท์ 053-211048-50 ต่อ 113

ร่วมแสดงความคิดเห็น