อาคารโบราณของเชียงใหม่จากสันป่าข่อย-ท่าแพ

ความเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจและสังคมเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2464 คือ การมาถึงของเส้นทางรถไฟ ทำให้เกิด สถาปัตยกรรมแบบสมัยใหม่และแบบอาคารพาณิชย์ของชาวจีน ซึ่งมาพร้อมกับวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่ที่ขนมาทางรถไฟสองฟากถนนเจริญเมือง จะพบอาคารพาณิชย์แบบสมัยเก่าปนกับใหม่บนถนนท่าแพที่มีความสวยงามสลับกับวัดวาอารามศิลปะแบบต่างๆ ทำให้นักท่องเที่ยวรำลึกถึงความรุ่งเรืองของย่านการค้าแห่งนี้ในอดีตจนถึงปัจจุบัน สถานีรถไฟจังหวัดเชียงใหม่ อาคารหลังปัจจุบันสร้างหลังจากที่อาคารหลังเดิมถูกระเบิดระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นแบบสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ หม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ
ย่านสันป่าข่อย ย่านการค้าถนนเจริญเมือง ตามตรอกและซอยในย่านนี้ จะพบอาคารพาณิชย์ไม้และคอนกรีตชั้นเดียวและสองชั้น สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2465-2500 ในยุคการค้าทางรถไฟ มีสถาปัตยกรรมแบบสมัยใหม่ Streamline Modern แบบจีนผสมปะปนกัน รวมถึงอาคารประเภทโรงสีข้าว สร้างด้วยโครงสร้างไม้ มุงสังกะสีขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นตัวแทนของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่เข้ามาในสมัยนั้น
วัดสันป่าข่อย สันนิษฐานว่าสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2424 เดิมวัดนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิงด้านทิศตะวันออกและเรียกว่า วัดนางเหลียว ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยใดแต่บริเวณที่ตั้งวัดนั้นถูกน้ำท่วมจึงได้ย้ายมาตั้งในบริเวณปัจจุบันแล้วเรียกชื่อวัดตามชื่อตำบล วัดนี้มีอายุประมาณร้อยปีเศษ เพราะมีหลักฐานปรากฏว่าเจดีย์ของวัดนี้ สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ ภายในวัดมีสัปคับทอง (แหย่งช้าง ที่นั่งบนหลังช้าง) ของเจ้ามหาพรหมคำคง (เจ้าราชวงศ์) โอรสของพระเจ้าหลวงคำฝั้น เจ้านครเชียงใหม่องค์ที่สาม ถวายวัดไว้และยังคงอยู่มาจนปัจจุบัน สถาปัตยกรรมประกอบด้วย เจดีย์ ทรงกลมแบบเชียงใหม่ ฐานบัวลูกแก้วย่อเก็จชั้นมาลัยเถาเป็นเหลี่ยม วิหารและอุโบสถทรงพื้นเมือง มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่
วัดท่าสะต๋อย ในอดีตที่ตั้งวัดติดริมฝั่งแม่น้ำปิงด้านทิศตะวันออก เมื่อวัดถูกน้ำเซาะชำรุดเสียหายจึงย้ายมาอยู่ในสถานที่ตั้งปัจจุบัน เดิมชื่อ วัดศรีสร้อยทรายมูล มีประวัติกล่าวถึงพระเจ้ากาวิละกษัตริย์ผู้กอบกู้เอกราชล้านนา ทรงนำกำลังทหารมาตั้งที่มั่นแถบนี้เรียกว่า วัดท่าสะต๋อย สถาปัตยกรรมประกอบด้วย วิหารเป็นที่ประดิษฐานองค์ประธาน พระพุทธชัยมงคล เป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยสุโขทัย วิหารเป็นแบบล้านนา เจดีย์ เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2472 กุฏิเจ้าอาวาส ภายในบริเวณวัดเป็นที่ตั้งของโรงเรียนเทศบาลวัดท่าสะต๋อย นอกจากนี้ยังมีหอไตรไม้ที่มีความเก่าแก่และสวยงามอีกหลังหนึ่ง
สะพานนวรัฐเดิม (ขัวไม้สัก-ขัวเหล็ก) เดิมสะพานนวรัฐมีโครงสร้างเป็นไม้สักรูปโค้ง สร้างในสมัยพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ พ.ศ. 2453 ต่อมาเมื่อมีการสร้างทางรถไฟถึงเชียงใหม่ มีการใช้รถยนต์บรรทุกสินค้าขนส่ง ทางการจึงได้รื้อสะพานไม้สักและสร้างสะพานนวรัฐ (ขัวเหล็ก)  ขึ้นมาแทน ในปี 2464 มีความยาวห้าช่วงสะพาน โครงสร้างทำด้วยเหล็ก ภายหลังชำรุดจึงรื้อเพื่อสร้างตามรูปแบบที่เห็น ณ ปัจจุบัน อย่างไรก็ตามเพื่ออนุรักษ์รูปแบบเดิมไว้ จังหวัดเชียงใหม่จึงได้สร้างสะพานนวรัฐตามแบบเดิมอีกครั้งทางทิศใต้ของสะพานนวรัฐเมื่อปี พ.ศ. 2539
โบสถ์โรงเรียนเชียงใหม่คริสเตียน โบสถ์ไม้คริสตจักรที่ 1 เชียงใหม่ ตั้งอยู่ภายในบริเวณโรงเรียนเชียงใหม่คริสเตียน ถนนเจริญราษฎร์ โบสถ์หลังนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นโบสถ์ของชาวอเมริกันแห่งแรกของเมืองเชียงใหม่ สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1891 (พ.ศ. 2434) มีพิธีเปิดโบสถ์ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1891 ใช้เป็นที่นมัสการของสมาชิกคริสตจักร และของนักเรียนโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย โรงเรียนดาราวิทยาลัยก็ได้มาใช้โบสถ์ดังกล่าวเป็นที่นมัสการด้วย ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หอระฆังโบสถ์คริสตจักรที่ 1 ถูกใช้เป็นที่ตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน เพื่อป้องกันเครื่องบินทิ้งระเบิดทำลายสะพานนวรัฐ
พุทธสถาน เดิมเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของวัดอุปคุต (พม่า) ต่อมาได้จัดตั้งเป็นมูลนิธิพุทธสถาน เชียงใหม่ในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2501 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่หลักธรรมแห่งพระพุทธศาสนาโดยวิธีปาฐกถา ธรรมเทศนา ธรรมสากัจฉา ปุจฉาวิสัชนาและอื่นๆ ที่เหมาะสม เผยแพร่วิทยาการอื่นๆ เป็นสถานที่ในการทำกิจกรรมทางพุทธศาสนาและกิจกรรมอื่นๆ ของเมือง
วัดอุปคุต หลวงอนุสารสุนทร (ซุ่นฮี้) และแม่นายคำเที่ยง ชุติมา เป็นผู้สร้าง สถาปัตยกรรมประกอบด้วย วิหารแบบล้านนา ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ กุฏิสงฆ์ ศาลาเอนกประสงค์ หอไตรแบบยกพื้นขนาดย่อม มีการตกแต่งลวดลายประดับประดาอย่างสวยงาม ซุ้มประตูโขงขนาดใหญ่ได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่ วัดนี้มีประเพณีการใส่บาตรพระอุปคุตทุกวันขึ้นสิบห้าค่ำที่ตรงกับวันพุธเรียกว่า “เป็งพุธ” เชื่อว่าหากได้ใส่บาตรกับพระอุปคุตจะได้บุญมาก
ย่านท่าแพ ถนนท่าแพเป็นรู้จักแพร่หลายมาตั้งแต่อดีต เดิมเมื่อประมาณ 100 ปีมาแล้ว บริเวณสองฟากของถนนท่าแพนี้เป็นย่านร้านค้าและที่อยู่อาศัยของชาวพม่าและชาวต่องสู้ ในสมัยต่อมาย่านนี้ได้กลายเป็นย่านพ่อค้าชาวจีนตลอดสาย ปัจจุบันเป็นถนนสายสำคัญในด้านการท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ มีสถาปัตยกรรมเพื่อการพาณิชยกรรมที่สวยงามหลายหลัง เช่น ร้านทิพเสถียรพาณิชย์ ห้างกิติพันธ์พาณิชย์ (เดิม) บ้านท่าแพและร้านชาระมิงค์ ข้างคลองแม่ข่า เป็นกลุ่มอาคารเก่าแก่ประมาณ 60- 80 ปี เป็นอาคารไม้ฉลุลวดลาย ร้านรัตนผล อาคารสถาปัตยกรรมแบบยุโรป มีลวดลายปูนปั้น รวมทั้งร้านค้าแบบไม้สองชั้นเก่าแก่สองข้างถนนท่าแพที่ยังเปิดทำการแก่นักท่องเที่ยว
มัสยิดเฮดายาตูลอิสลาม (บ้านฮ้อ) ผู้นำชุมชนบ้านฮ้อ “ท่านเจิ๋งชงหลิ่ง” ได้เดินทางร่วมกับกลุ่มพ่อค้าที่มาจากมณฑลยูนนาน เพื่อทำการค้าขายบริเวณรัฐฉาน ประเทศพม่าและเข้าสู่ประเทศไทยทางเขตอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในบริเวณภาคเหนือของไทย และในที่สุดย้ายมาอยู่ในเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2458 ตั้งถิ่นฐานบริเวณย่านไนท์บาซาร์ในปัจจุบัน เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ได้มอบที่ดินแห่งหนึ่งทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิงให้เป็นที่ตั้งบ้านเรือนของท่าน จึงกลายเป็นศูนย์กลางการรวมตัวของพ่อค้าชาวจีนยูนนานมุสลิม
เป็นจุดพักของกองคาราวานสินค้าที่ใช้ม้าและล่อเป็นพาหนะ ต่อมาท่านได้รับความไว้วางใจจากทางราชการไทยให้รับสัมปทานในการทำธุรกรรมทางไปรษณีย์ มีหน้าที่ส่งจดหมายโดยใช้ขบวนม้าและล่อเป็นพาหนะ เพื่อจัดส่งในพื้นที่ในส่วนต่างๆ ของภาคเหนือ ในปี พ.ศ. 2463 ทางราชการเริ่มมีนโยบายก่อสร้างทางรถไฟเส้นทางจากลำปางสู่เชียงใหม่ ท่านเป็นผู้นำขบวนม้าและล่อในการลำเลียงวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้างต่างๆ จากเชียงใหม่ไปถ้ำขุนตาน และเมื่อการก่อสร้างทางรถไฟสู่เชียงใหม่ได้สำเร็จลง ท่านได้บริจาคที่ดินอันเป็นทรัพย์สินของท่านและพ่อค้าชาวจีนยูนนานมุสลิม จำนวนพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ ในการก่อสร้างสถานีรถไฟ และการก่อสร้างสนามบินเชียงใหม่
ท่านจึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น “ขุนชวงเลียง” และพระราชทานนามสกุล “วงศ์ลือเกียรติ” ชาวยูนนานมุสลิมที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในเชียงใหม่ได้ใช้บริเวณ “บ้านลือเกียรติ” เป็นที่ประกอบศาสนกิจ มีการสร้างมัสยิดขึ้นใหม่ ในปี พ.ศ. 2458 ได้ร่วมกันบริจาคเงินเพื่อซื้อที่ดิน การก่อสร้างอาคารมัสยิดหลังแรกของชาวยูนนานมุสลิม ในปี พ.ศ. 2509 สัตบุรุษของมัสยิดอิสลามบ้านฮ่อ ได้รื้อถอนอาคารมัสยิดเดิมที่ไม่สามารถรองรับการเพิ่มขึ้นของชาวมุสลิมที่มาประกอบศาสนกิจ ก่อสร้างอาคารมัสยิดอิสลามบ้านฮ้อเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น
บ้านหลวงโยนการพิจิตร ปัจจุบันคือร้านอาหารในโรงแรมเพชรงาม ถนนเจริญประเทศ เป็นอาคาร 2 ชั้นครึ่งไม้ครึ่งปูนเป็นของคหบดีชาวไตใหญ่ (หม่องปันโย่ว) ใช้ลวดลายฉลุไม้มาตกแต่งราวระเบียง ราวบันได ป้านลมและชายคาเรียกว่าเรือนสะละไนขนาดใหญ่ เฮือนโบราณ บ้านร้อยปี เรือนเครื่องไม้คหบดีชาวไตใหญ่ (ทายาทของหม่องปันโย่วสืบสกุลอุปโยคิน)ใช้ลวดลายฉลุไม้มาตกแต่งราวระเบียง ราวบันได ป้านลมและชายคา เจ้าของอาคาร คุณสุรัตน์ ศิลปศรโกศล ปัจจุบันเป็นร้านอาหาร
วัดแสนฝาง ตำนานกล่าวว่าสร้างในสมัยพญาแสนภู กษัตริย์ราชวงศ์มังราย เดิมชื่อ วัดแสนฝัง คำว่าแสนฝัง สันนิษฐานว่าอาจมาจาก การที่พญาแสนภูทรงมีพระประสงค์จะฝากฝังขุมพระราชทรัพย์ของพระองค์ไว้ในพระพุทธศาสนาตามเยี่ยงพระเจ้าปู่และพระราชบิดา
จึงดำริให้กำหนดสถานที่แห่งหนึ่งทางฝั่งทิศตะวันออกใกล้แม่น้ำข่าและแม่ระมิงค์พอประมาณ และโปรดให้สร้างวัดแห่งหนึ่ง โดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์บริจาคในพระพุทธศาสนา สถาปัตยกรรมประกอบด้วย หอไตรกลางน้ำหลังเก่า สร้าง พ.ศ. 2412 ซุ้มประตู มงคลแสนมหาไชย สร้างเมื่อ พ.ศ. 2418 เดิมเป็นไม้ ที่มุมกำแพงด้านตะวันออกมีหอคอยสูงเด่นทั้ง 2 มุม คือ มุมด้านเหนือและใต้สำหรับเป็นที่อยู่เวรยามของทหารในสมัยโบราณ วิหาร จากหลักฐานปรากฏว่าเมื่อ พ.ศ. 2420 พระเจ้าอินทวิชยานนท์และเจ้าทิพเกสรราชเทวี ได้โปรดให้รื้อพระตำหนักที่ประทับของพระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์มาปรับปรุงดัดแปลงสร้างเป็นวิหารลายคำ วิหารนี้เป็นทรงล้านนาไทยหลังคาเตี้ยและลาดต่ำ ประดับด้วยลวดลายไม้แกะสลักและปูนปั้นปิดทอง
สำหรับเจดีย์ทรงพม่านั้นหลักฐานกล่าวว่า พระครูบาโสภาโณเถระ ได้บูรณะสร้างเสริมเจดีย์ทำ
เป็นแบบพม่า กุฏิเจ้าอาวาส สร้างสมัยพระครูบาโสภาเถิ้ม และรองอำมาตย์เอกหลวงโยนการพิจิตร สร้างปี พ.ศ. 2431 พระอุโบสถ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2453 ลักษณะรูปทรงเป็นสองชั้น ชั้นล่างก่ออิฐถือปูนชั้นบนเป็นโครงสร้างไม้ หอไตรหลังใหม่ อยู่ด้านทางทิศตะวันตกของพระเจดีย์ ท่านอธิการศรีหมื่น นุนทวโร เจ้าอาวาสขณะนั้นไว้ริเริ่มสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2488
วัดบุพพาราม เป็นวัดคู่เมืองเชียงใหม่ พระเมืองแก้ว กษัตริย์ราชวงศ์มังราย โปรดการสร้างราวปี พ.ศ. 2039 ในบริเวณที่เป็นราชอุทยานของพระเจ้าติโลกราช เมื่อนครเชียงใหม่ฟื้นฟูบ้านเมือง เจ้าหลวงเชียงใหม่และอาณาประชาราษฎร์ได้บูรณะวัดให้เจริญรุ่งเรืองสืบมา ราวปี พ.ศ. 2362 เจ้าหลวงธรรมลังกา โปรดให้สร้างวิหารหลังเล็ก เครื่องไม้ศิลปล้านนา ส่วนวิหารหลังใหญ่พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์โปรดให้สร้าง ใน พ.ศ. 2539 มีการสร้างหอมณเฑียรธรรม เพื่อถวายเป็นราชกุศลในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี ด้านหลังวิหารยังมีเจดีย์ทรงพม่าอีกหลังหนึ่งที่ควรค่าแก่การชมอย่างยิ่ง
ประตูท่าแพ ประตูท่าแพ เป็นประตูเวียงทางทิศตะวันออกของเมือง เดิมมี 2 ชั้น ชั้นนอกตั้งอยู่ในแนวเดียวกันกับกำแพงดินบริเวณหน้าวัดแสนฝาง ใช้เป็นทางออกสู่ท่าแม่น้ำปิง ส่วนประตูท่าแพชั้นในเดิมเรียกว่าประตูเชียงเรือก เนื่องจากอยู่ใกล้หมู่บ้านเชียงเรือก สมัยต่อมาเหลือเฉพาะประตูเชียงเรือก แต่ก็ถูกเรียกว่าประตูท่าแพเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ประตูท่าแพที่เหลือนี้ได้รับการบูรณะใหม่ครั้งล่าสุดระหว่างปี พ.ศ. 2528-2529 พร้อมกับการสร้างข่วงประตูท่าแพเพื่อใช้เป็นลานกิจกรรมของเมือง
ข้อมูลประกอบ : โครงการเผยแพร่เส้นทางท่องเที่ยวสถาปัตยกรรมเชิงประวัติศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิฑูรย์ เหลียวรุ่งเรืองและคณะ

บทความโดย จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น