กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนเจ้าของสัตว์เลี้ยง หากพบสัตว์เลี้ยงสงสัยป่วยหรือตาย ด้วยโรคพิษสุนัขบ้า ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที

วันที่ (10 ตุลาคม 2562) ที่ผ่านมา นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้ได้รับรายงานสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าประปราย อาทิ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พบสุนัขติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ จ.นนทบุรี และพบแมวติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ กทม. ซึ่งทั้งสองกรณีได้มีการดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคเรียบร้อยแล้ว
โดยในกรณีพบแมวติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า นั้น ข้อมูลเบื้องต้นพบว่าแมวมีอาการป่วย ซึม อาเจียน น้ำลายไหล ไม่กินอาหาร และตาย ซึ่งหลังจากได้รับแจ้งเหตุ หน่วยงานสาธารณสุขและปศุสัตว์ในพื้นที่ ได้ดำเนินการค้นหาและติดตามผู้สัมผัสแมวตัวดังกล่าว หลังถูกกัดข่วนให้เข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าครบทุกคนแล้วทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้สั่งการให้กองโรคติดต่อทั่วไป เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ กทม.ดำเนินการเฝ้าระวังและติดตามสัตว์เลี้ยงที่สัมผัสใกล้ชิดกับแมว ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ รวมถึงติดตามผู้สัมผัสที่รับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ให้ดำเนินการสื่อสารความเสี่ยง ให้ความรู้ ความเข้าใจ และความเชื่อที่ถูกต้องของโรคพิษสุนัขบ้า แก่ประชาชนในชุมชน
โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ซึ่งเชื้อเข้าทางบาดแผล ผ่านทางกัด ข่วน เลีย หรือสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิด ที่ติดเชื้อไวรัสเรบีส์ เช่น สุนัข แมว หนู ลิง ค้างคาว สัตว์ที่พบเป็นโรคพิษสุนัขบ้าบ่อยที่สุด คือ สุนัข รองลงมาคือแมว เมื่อคนรับเชื้อ เชื้อจะเพิ่มจำนวนในบาดแผล จากนั้นจะเดินทางเข้าสู่ระบบประสาท โดยระยะฟักตัวขึ้นอยู่กับตำแหน่ง และปริมาณเชื้อที่ได้รับ เช่น ขา แขน หรือใบหน้าโดยระยะฟักตัวโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2 สัปดาห์ ถึง 2 เดือน บางรายอาจนานถึง 1 ปี อาการส่วนใหญ่มักมีไข้ ปวดศีรษะ คันรุนแรงบริเวณบาดแผล คลุ้มคลั่ง กลัวแสง กลัวลม กลืนน้ำหรืออาหารลำบาก เมื่อผู้ติดเชื้อแสดงอาการแล้ว จะไม่สามารถรักษาให้หายได้ ต้องเสียชีวิตทุกราย ดังนั้น จึงต้องสร้างความตระหนักรู้ในการป้องกันตนเองจากโรคพิษสุนัขบ้า เพื่อให้ปฏิบัติตนถูกต้องหลังสัมผัสโรค อย่าชะล่าใจเมื่อสัตว์ข่วนหรือกัด ให้รีบพบแพทย์ทันทีนพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ประชาชนเจ้าของสัตว์เลี้ยง ควรปฏิบัติดังนี้ 1.เจ้าของสัตว์เลี้ยง เช่นสุนัข แมว ต้องนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีน ครั้งแรกเมื่อสัตว์เลี้ยงมีอายุ 2-4 เดือน แล้วฉีดซ้ำตามกำหนดทุกปี 2.ไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยงออกนอกบ้านตามลำพัง โดยไม่ใส่สายจูง 3.พาสุนัขหรือแมวที่ตนเลี้ยงไปทำหมันเมื่อไม่ต้องการให้มีลูก รวมถึงแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาช่วยทำหมันสุนัข / แมวที่ไม่มีเจ้าของ และ 4.ลดความเสี่ยงถูกสุนัขกัดหรือทำร้าย ด้วยการยึดหลักคาถา 5 ย. คือ 1) อย่าแหย่ ให้สุนัขโมโห โกรธ 2) อย่าเหยียบ หาง หัว ตัว ขา หรือทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่าง ๆ ตกใจ 3) อย่าแยก สุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า 4) อย่าหยิบ ชามข้าวหรือย้ายอาหาร ขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร และ 5) อย่ายุ่ง หรือเข้าใกล้กับสุนัขหรือสัตว์ต่าง ๆ นอกบ้าน ที่ไม่มีเจ้าของหรือไม่ทราบประวัติ
ทั้งนี้ ประชาชนที่ถูกสุนัขหรือแมว หรือแม้กระทั่งลูกสุนัข ลูกแมว กัด ข่วน หรือเลียบริเวณแผล แม้เพียงเล็กน้อย หรือไม่มีเลือดออกที่แผล ก็อย่าได้ชะล่าใจ ต้องรีบล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ ฉีดวัคซีนให้ครบชุด คือ เมื่อถูกสุนัขกัด ห้ามบีบเค้นบาดแผล ให้ล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด ล้างเบาๆ นานอย่างน้อย 10 นาที จากนั้นใส่ยาเบตาดีน และ กักสุนัข / แมวที่กัดเพื่อดูอาการอย่างน้อย 10 วัน และรีบไปพบแพทย์ เพื่อพิจารณาให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า วัคซีนชนิดนี้ต้องได้รับหลายครั้งตามวันที่แพทย์ จึงขอให้ไปตามนัดทุกครั้ง หากพบเห็นสัตว์สงสัยป่วยหรือตายจากโรคพิษสุนัขบ้า สามารถแจ้งได้ที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาปศุสัตว์ (อสป.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นต้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

ร่วมแสดงความคิดเห็น