“ปอยเหลินสิบเอ็ด” งานบุญออกพรรษาของชาวไตใหญ่

เมื่อถึงช่วงเทศกาลออกพรรษาของทุกปี บนถนนทุกสายในเมืองแม่ฮ่องสอนจะคราคร่ำไปด้วยฝูงชนและยานพาหนะ สองข้างถนนขวักไขว่ไปด้วยชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาสัมผัสกลิ่นไอธรรมชาติและวิถีชีวิตของชาวไตในแม่ฮ่องสอน งานบุญออกพรรษาของชาวไต มีชื่อเรียกว่า “ปอยเหลินสิบเอ็ด” ชาวไตที่อาศัยอยู่ในแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นงานบุญสำคัญที่พวกเขาจะได้แสดงออกถึงศรัทธาที่มีต่อพุทธศาสนาด้วยการสร้างปราสาทจำลอง หรือ “จองพารา” เพื่อถวายแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในยามที่
เสด็จกลับจากการโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ โดยถือเอาวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 จนไปสิ้นสุดเอาในวันแรม 15 ค่ำเดือน 11
ปอยเหลินสิบเอ็ดของชาวไตหรือไทใหญ่จะจัดขึ้นเป็นเวลานานกว่า 10 วัน ทั้งนี้เพื่อให้ชาวบ้านได้มีเวลาตระเตรียมหาเครื่องไทยทานมาถวายพระ ในช่วงเวลานี้จะมีการออกตลาดนัด เพื่อให้ชาวบ้านได้ออกมาจับจ่ายหาซื้อของใช้ ก่อนถึงวัน 1 วันจะมีการทำปราสาทจองพาราขึ้นที่วัดต่าง ๆ กลุ่มผู้สูงอายุก็จะบรรจงเหลาไม้ไผ่แต่งเป็นโครงคล้ายบ้านให้มีขนาดใหญ่หรือเล็กเพียงใดก็ได้ เสร็จแล้วจะใช้กระดาษสาปิดทับโครงไม้เป็นการขึ้นรูปแล้วปิดทับด้วยกระดาษสีฉลุลายให้วิจิตรตระการตาอีกทีหนึ่ง
ความเชื่อของชาวไตที่ได้ช่วยกันสร้างปราสาทจองพาราขึ้นก็คือ “หากใครได้สร้างปราสาทรับเสด็จพระพุทธเจ้าจะนำมาซึ่งความเป็นสิริมงคลและบุญญาบารมีแก่ตนเองและครอบครัว” ดังนั้นจึงมีการสร้างจองพาราขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อถวายไว้ที่วัดประจำหมู่บ้านและมีจองพาราขนาดเล็กตั้งไว้ที่ริมรั้วนอกบริเวณบ้าน นัยว่าเป็นการเตรียมตัวรับเสด็จองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
หลังจากที่ศรัทธาชาวไตใช้เวลาทั้งวันในการประกอบชิ้นส่วนจองพาราแล้ว ตอนเย็นของวันนี้ชาวบ้านก็พร้อมใจกันแห่จองพาราองค์ใหญ่และข้าวของต่าง ๆ ไปรอบเมือง เพื่อเป็นการประกาศศรัทธาของตนที่มีต่อศาสนาอย่างเหนียวแน่น ทั้งยังเป็นการส่งเสริมประเพณีและการท่องเที่ยวให้ชาวต่างชาติได้รับรู้ถึงที่มาของงานบุญอันยิ่งใหญ่นี้ ที่มีครั้งเดียวในรอบปี หลังจากที่ชาวบ้านแห่จองพาราไปรอบเมืองแล้วก็จะนำมาตั้งบูชาไว้ที่วัด
ในขบวนแห่จองพารา บรรดาหนุ่มสาวก็จะแต่งกายด้วยชุดประจำชาติไทใหญ่แบบเต็มยศ ออกมาฟ้อนรำกันอย่างสนุกสนาน นอกจากนี้ในขบวนแห่จองพารายังมีการแห่รูปสัตว์และฟ้อนกิงกะหล่าและฟ้อนกำเบ้อ ที่แต่ละคนได้บรรจงสร้างออกมาวาดลวดลายลีลาท่ารำ เลียนแบบสัตว์ต่าง ๆ โดยมีกลองก้นยาว ฆ้องและฉาบเป็นเครื่องประกอบจังหวะในการรำสลับกับการ “เฮ็ดความ” หรือการร้องเพลงยาวสรรเสริญเยินยอและเกี้ยวพาราสีกัน ซึ่งชาวไตเชื่อว่า “เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์นั้น บรรดาสรรพสัตว์ต่าง ๆ ออกมาแสดงความยินดีปรีดาพากันออกมาต้อนรับพระพุทธเจ้ากันอย่างเนืองแน่น
จุดเด่นของประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ดของชาวไตก็คือ การได้ถวายจองพาราเพื่อรับเสด็จพระพุทธองค์ ตามคติความเชื่อของชาวไตที่กล่าวไว้ว่า “อยู่เพื่อหลู่ เพื่อตาน” หรือการมีชีวิตอยู่เพื่อการสร้างสมทานบารมี ดังนั้นการถวายจองพาราของชาวไตจึงไม่ใช่แค่เพียงการสร้างปราสาทจำลองมาประดับเพื่อความสวยงามเท่านั้น หากแต่มีความเชื่อว่า เมื่อถวายปราสาทแล้วพระพุทธองค์จะมาประทับอยู่ทุกวัน ชาวไตจึงต้องมีการถวายบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียนและอาหารคาวหวานตามแต่จะสรรหาได้ อันเป็นความเชื่อเดียวกันกับชาวไทยพุทธทั่วไป
จองพาราที่พบเห็นได้ในงานบุญสำคัญของแม่ฮ่องสอน นิยมทำขึ้น 4 แบบด้วยกันคือ “จองสาน” หรือ “จองเข่งสางต่างปุ” เป็นจองพาราที่ทำขึ้นด้วยไม้ไผ่สานเป็นทรงปราสาทองค์เล็ก ๆ จะนิยมนำไปบูชาไว้นอกรั้วบ้านราว 7 วัน “จองปิ๊กต่าน” เป็นจองพาราทรงมณฑปไม่มียอดปราสาท แต่จะมีกล้วยอ้อย มะพร้าววางไว้ข้างใน “จองตีนช้าง” เป็นจองพาราที่มีรูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมูไม่มียอดปราสาท ทั้งสามแบบเป็นจองพาราขนาดเล็กที่นิยมทำกันตามบ้านเรือน ส่วนจองพาราขนาดใหญ่คือ “จองพารายอด” ซึ่งมียอดปราสาทยกฉัตรเป็นช่อชั้น งามวิจิตรบรรจง ประดับประดาด้วยหลอดไฟสีต่าง ๆ จองพาราแบบนี้จะตั้งไว้ที่วัดประจำหมู่บ้านละ 1 อันเท่านั้น ภายในจองพารายอดจะนำพระพุทธรูปสำคัญของแต่ละวัดขึ้นประดิษฐาน ในปราสาทมีกล้วยอ้อยมะพร้าวพร้อมด้วยดอกบัวมัดตกแต่งไว้ทั้งสี่มุมของจองพารา ด้านล่างลงมาเป็นรั้วที่สานด้วยไม้ไผ่นำไปติดไว้รอบทั้งสี่ด้านของจองพาราชาวไตเรียกว่า “พลังสมาด”จองพารายอดของบางวัดมีขนาดใหญ่โตเวลาแห่ไปรอบเมืองจะต้องใช้คนหามเป็นจำนวนมาก ด้วยศรัทธาที่ได้แสดงออกต่อพุทธศาสนาของชาวไต จนผู้คนต่างถิ่นที่ได้มาพบเห็นต่างยกย่องว่า ชนชาวไตเป็นชนชาติที่ตลอดทั้งชีวิตทำบุญมากที่สุด ดังจะเห็นได้จากงานบุญสำคัญของพวกเขาที่มีขึ้นทุกเดือนจนกลายเป็นประเพณีประจำเดือนไปแล้ว
ภาพของขบวนแห่จองพาราเช่นนี้ ยังคงมีให้พบเห็นแก่สายสายตาของคนต่างถิ่นอยู่เสมอ ภาพของชาวไตใส่ชุดประจำชาติเดินจับกลุ่มพูดคุย เสียงตีกลองก้นยาวยังคงมีให้ได้ยิน ตราบใดที่ในหัวใจของชาวไตแห่งแม่ฮ่องสอนยังคงยึดมั่นศรัทธาในบวรพุทธศาสนาแล้วละก็งานบุญเช่นนี้ก็จะไม่มีวันสูญสิ้นไปจากลมหายใจของพวกเขาอย่างแน่นอน

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น