รู้จักรากเหง้า “คนเมืองเชียงใหม่”

เราเคยรับรู้ว่า ผู้คนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในแถบภาคเหนือตอนบนนั้นมีเชื้อชาติมาจากชาวไทยวน หรือ ไทยโยน กลุ่มชนขนาดใหญ่ที่เคยอาศัยอยู่ในดินแดนที่ลุ่มแม่น้ำปิงมาตั้งแต่อดีตกาล
พื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือของไทย ในอดีตเคยเป็นอาณาจักรล้านนาที่ยิ่งใหญ่ไพบูลย์ รุ่งเรืองด้วยศิลปะและวัฒนธรรม มีเมืองเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการค้า การเมืองการปกครอง แม้ภายหลังอาณาจักรล้านนาจะถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทย แต่ผู้คน
พลเมืองในพื้นที่ดังกล่าวก็ยังเรียกตัวเองอย่างภูมิใจว่า “คนเมือง”
มีผู้รู้สันนิษฐานถึงที่มาของคำว่า “คนเมือง” ไว้หลายประการด้วยกัน บ้างก็ว่าเพื่อประกาศว่าตนเป็นผู้มีอารยธรรม มิได้อาศัยอยู่ในป่าในดง ข้อสันนิษฐานนี้ถูกโต้งแย้งอยู่มากด้วยว่าคนเมืองนั้นเรียก “เมือง” (บ้านเมือง) ว่า “เวียง” ถ้าเป็นดังนั้นก็ต้องเรียกว่า “คนเวียง” จึงจะถูก บ้างก็ว่าในยุคที่พม่าเข้าครอบครองนครเชียงใหม่ มีชาวพม่าเดินปะปนอยู่มากจนไม่รู้ว่าใครเป็นใคร จึงต้องเรียกตนเองว่า “คนเมือง” เพื่อจำแนกให้รู้พวกรู้เหล่า บางท่านก็ว่าคำว่า “เมือง” มาจากชื่อเรียกภาษาเขียนว่า “ตัวเมือง” เรียกภาษาพูดว่า “คำเมือง” ดังนั้นเจ้าของที่ใช้ภาษาจึงเรียกว่า “คนเมือง” อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเรื่องนี้ยังหาข้อสรุปแน่ชัดไม่ได้
คนเมืองที่อาศัยอยู่ในเชียงใหม่นั้น มาจากหลายเผ่าพันธุ์ ทั้งลัวะ มอญ ยวน ม่าน(พม่า) เงี้ยว(ไทยใหญ่) ยอง เขิน และกลุ่มอื่น ๆ โดยเฉพาะในยุคที่พระเจ้ากาวิละ กวาดต้อนผู้คนจากหัวเมืองใกล้เคียง จากเมืองยอง เมืองลื้อ เมืองวะ เมืองสาด เชียงตุง ขึ้นไปจนถึงสิบสอง
ปันนาของจีนเพื่อมาสร้างเมืองใหม่เมื่อราว 200 ปีก่อน (พ.ศ.2348) หรือที่รู้จักกันว่า “ยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ด้วยเหตุนี้ทำให้ชาวเมืองเชียงใหม่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์สูง อย่างไรก็ตามแม้ว่าคนพวกนี้จะเดินทางมาจากดินแดนที่อยู่ห่างไกลเช่นสิบสองปันนาในจีน
รัฐเชียงตุงในพม่า แต่ก็มีลักษณะทางภูมิศาสตร์คล้ายคลึงกัน ทำให้มีวัฒนธรรมพื้นฐานที่ไม่แตกต่างกันนักทั้งในเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิตรวมถึงภาษาพูด
กองทัพจากเมืองเชียงใหม่ได้ขึ้นไปกวาดต้อนไพร่พลตามเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ทางเหนือเมืองเชียงแสน โดยเข้าไปกวาดต้อนที่เมืองยอง เมืองยู้ เมืองหลวย เมืองเชียงตุง เมืองเชียงขาง เมืองวะ เมืองลวง เมืองมาง ฯลฯ ตามนโยบายของพระเจ้ากาวิละที่ต้องการไพร่พลมาช่วย
ฟื้นฟูเมืองที่รกร้าง อีกประการหนึ่งเพื่อไม่ให้พม่าใช้เป็นฐานที่มั่นมาโจมตีล้านนาอีก
การกวาดต้อนผู้คนครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ล้านนา ทำให้เกิดการตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ในเขตเมืองเชียงใหม่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ โดยกำหนดประเภทของไพร่พลที่ถูกกวาดต้อนมา หากเป็นช่างฝีมือชั้นดีจะกำหนดให้อยู่ในเมือง เช่นชาวเขินที่ต.หายยา

อพยพมาจากเมืองเชียงตุงเชี่ยวชาญการทำเครื่องเขินมาอยู่เชียงใหม่ระหว่างกำแพงเมืองชั้นนอกและชั้นในด้านทิศใต้ ชาวยวนบ้านฮ่อมเชี่ยวชาญการทำดอกไม้กระดาษอยู่ระหว่างกำแพงเมืองชั้นนอกและชั้นในด้านทิศตะวันออก กลุ่มไตหรือไทใหญ่เชี่ยวชาญด้านการค้าอยู่บริเวณช้างเผือกและช้างม่อย ส่วนช่างที่ไร้ฝีมือจะให้ไปตั้งถิ่นฐานอยู่นอกเมือง ซึ่งพอสรุปได้ว่า เขตกำแพงเมืองเชียงใหม่ชั้นนอกเป็นที่อยู่ของช่างและพ่อค้าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลาย อาทิ ชาวเขิน มอญ พม่า ไทใหญ่ ส่วนเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่ชั้นในกำหนดให้เฉพาะชาวไทยวน หรือ คนเมืองอาศัยอยู่

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น