5 คำแนะนำจากกรมสุขภาพจิต เมื่อถูกระรานทางไซเบอร์

16 ตุลาคม 2562 กรมสุขภาพจิต แนะวิธีปฏิบัติจากการถูกระรานทางไซเบอร์ สามารถปฏิบัติได้ดังนี้ 1. อย่าตอบสนองข้อความกลั่นแกล้ง 2. ไม่เอาคืน 3. เก็บหลักฐาน 4. รายงานความรุนแรง และ 5. ตัดช่องทางการติดต่อ
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจจุบันเกิดปัญหาการระรานทางไซเบอร์ (Cyberbullying) นับวันยิ่งมีมากขึ้น เนื่องจากสื่อสังคมออนไลน์เป็นสื่อที่เข้าถึงได้ง่าย และสามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา ซึ่งการระรานทางไซเบอร์ หมายถึง การกลั่นแกล้ง การให้ร้าย การต่อว่า หรือการรังแกผู้อื่นทางสื่อสังคมต่าง ๆ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์
โดยสาเหตุของการระรานอาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากการแกล้งกันเล็ก ๆ น้อย ๆ ล้อเล่นกันขำ ๆ แล้วบานปลายไปด้วยความไม่ตั้งใจ หรืออาจเกิดจากความขัดแย้ง ความเกลียดชัง ทั้งที่มีเหตุผลและไม่มีเหตุผล อาจแค่ไม่ชอบหน้า หรือความคิดเห็นบางอย่างไม่ตรงกัน แล้วใช้พื้นที่ในโลกออนไลน์โจมตีกันซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้ที่โดนระรานอาจทำให้เกิดความหงุดหงิดรำคาญใจ กินไม่ได้ นอนไม่หลับและอาจจะมีปัญหาสุขภาพจิตตามมา เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวลหรือมีความคิดอยากตาย เป็นต้น อีกทั้งในบางรายอาจเปลี่ยนตัวเองกลายเป็นแกล้งคนอื่นต่อไป คล้ายกับที่ตัวเองเคยโดนแกล้ง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรง และความสามารถในการรับมือของผู้ถูกกลั่นแกล้งด้วย
ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันการใช้สื่อออนไลน์ในทางที่ผิดสำหรับผู้ที่ใช้สื่อออนไลน์ ควรมีการเขียนข้อความหรือตอบข้อความต่าง ๆ ด้วยความระมัดระวัง ควรใช้เวลาในการไตร่ตรองข้อความที่ตนเองจะเขียน เสนอความเห็นต่างอย่างสร้างสรรค์ ให้โอกาสผู้อื่นได้อธิบายเสนอความคิดเห็น เปิดใจยอมรับมุมมองของผู้อื่นที่มีต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเน้นการเอาใจเขามาใส่ใจเรา หากมีสิ่งไหนที่เราไม่ชอบ ก็ไม่ควรนำไปใช้กับบุคคลอื่น หลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำที่รุนแรงเพื่อโจมตีบุคคลอื่น หรือวิจารณ์อย่างรุนแรง โดยขาดข้อมูลที่สนับสนุนอย่างรอบด้าน และหยุดส่งต่อข้อความที่รุนแรงเหล่านั้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น