ความเป็นมา ของศาลากลางเชียงใหม่(เก่า)

เป็นที่ทราบกันดีว่า เมื่อครั้งที่พญามังรายได้สร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นในปี พ.ศ. 1839 บริเวณเชิงดอยสุเทพ ซึ่งมีแม่น้ำปิงไหลผ่านทิศตะวันออกของเมือง การสร้างเมืองเชียงใหม่ในคราวนั้น พญามังรายได้เชิญพระสหายอีก 2 พระองค์มาร่วมปรึกษาหารือ คือ พญาร่วง (พ่อขุนรามคำแหง) แห่งกรุงสุโขทัยและพญางำเมืองแห่งเมืองพะเยา ปัจจุบันอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ตั้งอยู่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ (ศาลากลางเชียงใหม่หลังเก่า) ถนนพระปกเกล้า คุณไข่มุกต์ ชูโต เป็นปฏิมากรผู้ปั้น บริเวณฐานของอนุสาวรีย์จารึกเป็นอักษรล้านนากล่าว สรรเสริญกษัตริย์ทั้ง 3 พระองค์
ความเป็นมาของอาคารศาลากลางหลังเก่านั้น เดิมเป็นที่ตั้งของหอคำหรือคุ้มหลวงของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ ต่อมาพระเจ้าอินทวโรรสและพระราชชายาเจ้าดารารัศมีทรงยกที่ดินคุ้มหลวงให้แก่ทางการสยามสร้างศูนย์ราชการ ในปี พ.ศ. 2437 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้พระยาศรีสหเทพ (เส็ง วิริยะศิริ) ภายหลังเป็นพระยามหาอำมายตยาธิบดี ปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย จัดการปกครองหัวเมืองมณฑลพายัพขึ้นเป็นครั้งแรก พระยาศรีสหเทพ ได้ร่างข้อ
บังคับสำหรับที่ว่าการเมือง เรียกว่า “เค้าสนามหลวง” จัดให้มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในแต่ละแคว้นขึ้นกับเมือง เรียกว่า “เจ้าเมือง” เจ้าเมืองขึ้นกับบริเวณ เรียกว่า “ข้าหลวงบริเวณ” และข้าหลวงบริเวณขึ้นต่อเค้าสนามหลวง มีการจัดเก็บเงินค่าแรงแทนเกณฑ์ เรียกว่า “เงินรัชชูปการ” เก็บคนละ 4 รูปี ต่อปี กระทั่งในที่สุดได้จัดทำตราเป็นพระราชบัญญัติ เรียกว่า “พระราชบัญญัติจัดตั้งมณฑลพายัพ” จากนั้นจึงได้ตั้งนครเชียงใหม่เป็นตัวมณฑล เป็นที่ตั้งของที่ว่าการมณฑลพายัพ เมื่อ พ.ศ. 2462 สมัยนั้นอาคารศาลารัฐบาลมณฑลพายัพหรือที่ทำการมณฑลเป็นเพียงอาคารไม้ชั้นเดียว ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 รัฐบาลสยามได้สร้างอาคารแบบก่ออิฐถือปูนขึ้นในสมัย
พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดชกฤษดากร อุปราชมณฑลพายัพ ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมอิทธิพลตะวันตกแบบ Neo-Classicism Colonial Revival สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2467 อาคารหลังนี้เคยใช้เป็นศาลาว่าการ สมัยเชียงใหม่เป็นมณฑลพายัพ และศาลากลางจังหวัด
เชียงใหม่บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น