เชิญชวน ปชช. ไหว้พระขอพร และสัมผัสกับทะเลหมอก ที่วัดพระธาตุดอยเล็ง พระธาตุเก่าแก่ที่ จ.แพร่

ระยะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว โดยที่วัดพระธาตุดอยเล็ง ต.ป่าแดง อ.เมืองแพร่ บรรยากาศมีหมอกหนาเหมือนกับทะเลหมอกก็ว่าได้ พระมหาบุญชิต อติธมฺโม เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยเล็ง จึงขอเจริญพรเชิญชวนนักท่องเที่ยว มาสัมผัสกับรรยากาศทะเลหมอกที่วัดพระธาตุดอยเล็ง พระมหาบุญชิต อติธมฺโม เล่าถึงประวัติพระธาตุดอยเล็งว่า พระธาตุดอยเล็ง เป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของ จ.แพร่ ซึ่งตั้งอยู่บนภูเขาสูงทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพระธาตุช่อแฮ ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร และตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ของพระธาตุจอมแจ้ง ประมาณ 4 กิโลเมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่มีมาคู่กับพระธาตุช่อแฮและพระธาตุจอมแจ้งโดยตำนานเล่าว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จโปรดเวไนยสัตว์มาดอยลูกหนึ่ง อยู่ทางทิศใต้ของดอยธชัคคะบรรพต เสด็จมาถึงจวนแจ้ง ณ ที่นั้นจึงได้ชื่อว่าดอยจวนแจ้ง (ใกล้สว่าง) ปัจจุบันเรียกว่า พระธาตุจอมแจ้ง หลังจากนั้นจึงได้เสด็จมาทางทิศเหนือ ถึงธชัคคะบรรพตและได้ประทับอยู่ที่นั้นและทรงมอบ พระเกศาธาตุให้ขุนลัวะอ้ายก้อมได้เก็บไว้ ณ ที่นั้นจากนั้นจึงเสด็จไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทรงประทับอยู่ ณ ดอยลูกหนึ่ง ซึ่งสูงกว่าดอยทั้งหมดในเมืองโกศัย จึงเอาบาตรวางไว้ใกล้ ๆ ดอยลูกนั้นจึงเรียกว่า “ดอยภูวาง” และได้เสด็จมาประทับบนดอยอีกลูกหนึ่ง และได้ประทับแลดูภูมิประเทศของเมืองโกศัย ทรงตรัสว่าที่นี่เป็นเมืองที่น่ารื่นรมย์ เหมาะแก่การสร้างบ้านสร้างเมือง การประทับแลดูนั้นตามภาษาพื้นเมืองเหนือแปลว่า “เล็ง” ดังนั้น ดอยลูกนี้จึงเรียกว่า “ดอยเล็ง”หลังจากนั้นต่อมา ขุนลัวะอ้ายก้อม ออกไปสำรวจภูมิประเทศ เพื่อที่จะสร้างพระธาตุช่อแฮ เพื่อบรรจุพระเกศาธาตุ ขุนลัวะอ้ายก้อมจึงขึ้นไปยืนบนภูเขาที่ทำเลที่ดี จึงตกลงใจสร้างพระธาตุช่อแฮ ครั้นเมื่อสร้างพระธาตุช่อแฮเสร็จแล้ว ขุนลัวะอ้ายก้อมก็ระลึกถึงภูเขาที่ตนขึ้นไปยืนเล็งดูภูมิประเทศ จึงได้สร้างเจดีย์ขนาดเล็กเรียกว่า อุทเทสเจดีย์ ขึ้นบนภูเขาดังกล่าว ต่อมาชาวเมืองแพร่ได้เรียกชื่อว่า พระธาตุดอยเล็ง ซึ่งเป็นพระธาตุที่ตั้งอยู่สูงสุด ในบรรดาพระธาตุทั้งหมดใน จ.แพร่ในกาลต่อมาเมื่อประมาณ 1,200 ปี ได้มีพญาเชียงบุญ เป็นเจ้าเมืองปกครองทางเหนือ ได้สร้างเจดีย์ไว้ขนาดความกว้าง 5 เมตร สูง 11 เมตร ไว้เป็นอุเทสเจดีย์เป็นสถานที่เคารพนับถือ เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ระลึกว่าในครั้งหนึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จมาประทับที่นี่ จึงได้นำสิ่งของที่มีค่าเช่น พระบรมสารีริกธาตุ พระสีวลี พระพุทธรูปแก้วฐานแก้วผลึก พระพุทธรูปหุ้มด้วยทองและเงิน ทับทรวง (สำหรับกษัตริย์) แหวนทองคำและแก้วแหวนเงินทองบรรจุไว้ในองค์พระธาตุ สถานที่แห่งนี้จึงเป็นอนุสรณ์สถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของ จ.แพร่หลังจากนั้นได้มีพวกม่าน หรือพวกเม็งชาวพม่า อพยพมาทางตอนเหนือของเมืองแพร่ ได้ทำการบูรณะขึ้นใหม่ ดังนั้นเมื่อถึงเดือน 4 ใต้ เดือน 5 เหนือ ขึ้น 15 ค่ำ ตรงกับประเพณีนมัสการไหว้พระธาตุช่อแฮ ในวันสุดท้าย จะมีประชาชนขึ้นไปบนพระธาตุดอยเล็ง เพื่อสักการะบูชาและเป็นการระลึกถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าชาวบ้านเล่าว่า ในสมัยเมื่อ 40-50 ปีก่อน ครั้นถึงวันพระ แรม 15 ค่ำ เวลากลางคืน ชาวบ้านและพระบ้านใกล้เคียงเห็นลูกแก้วลอยไปยังพระธาตุจอมแจ้ง แล้วลอยไปยังพระธาตุช่อแฮ พอใกล้สว่างก็ลอยกลับมาพระธาตุดอยเล็ง เป็นเช่นนี้เรื่อยมาช้านาน ประมาณปี พ.ศ. 2500-2537 พระธาตุดอยเล็งได้ถูกคนใจบาป ขุดค้นหาสมบัติของมีค่า ทำให้องค์พระธาตุทรุด โดยเฉพาะพระธาตุเอียงไปทางทิศใต้
เมื่อปี พ.ศ. 2528 พระมหาวิชิต อติธัมโม ได้มาปฏิบัติศาสนากิจที่พระธาตุช่อแฮ ได้ฝันเห็นผู้หญิงคนหนึ่งนุ่งชุดขาว บางครั้งแต่งชุดคล้ายลูกสาวกษัตริย์ (ที่ว่าเป็นลูกสาวกษัตริย์นั้น เพราะได้พบทับทรวงสำหรับผู้หญิงในพระธาตุ) มาบอกให้ช่วยบูรณะหลังจากนั้นพอใกล้เข้าพรรษา ท่านจึงได้แบกเทียนพรรษาขึ้นไปจุดบนพระธาตุ แล้วได้ขอพระพุทธรูปจากพระเดชพระคุณพระราชนันทาจารย์ (ผล อกกโชติ) เจ้าอาวาสวัดเวตะวันธรรมาวาส (เชิงหวาย) เจ้าคณะเขตพญาไท กรุงเทพฯ โดยมีคุณผ่อน คุณประจวบ พรหมจาต เป็นผู้มาถวาย มาไว้ที่พระธาตุช่อแฮ
โดยแรงศรัทธา ท่านจึงได้นำพระภิกษุและสามเณรวัดพระธาตุช่อแฮ จำนวน 22 รูป ช่วยกันหามขึ้นไปประดิษฐานไว้บนพระธาตุดอยเล็ง ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีถนนหนทาง เดินเท้าระยะทาง 2 กิโลเมตร
หลังจากนั้น ท่านได้พาชาวบ้านและเด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านใน โรงเรียนบ้านพันเชิง โรงเรียนเมืองแพร่ ขนหิน ทราย ปูน โดยต้องใช้เวลาเดินเท้าเปล่าประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อขึ้นบูรณะพระธาตุดอยเล็ง แต่ไม่สำเร็จ
ท่านจึงได้ปรึกษากับเจ้าคณะสงฆ์ อ.เมืองแพร่ และกำนัน ต.ป่าแดง และช่อแฮ ผู้ใหญ่บ้านในและมีผู้เสนอแนะว่าให้ทำถนนขึ้นก่อน ถึงจะนำรถขึ้นได้ ท่านจึงได้นำเรื่องไปปรึกษาเพื่อขออนุญาตจากนายนรินทร์ พาณิชกิจ ผวจ.แพร่ และหน่วยราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำรถมาปรับทำถนนขึ้นพระธาตุดอยเล็ง และชักชวนชาวบ้านมาช่วยกันเบิกทาง สร้างถนนขึ้นพระธาตุดอยเล็งจนสำเร็จ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2539 โดยได้รับการอุปถัมภ์ทุนทรัพย์ จากพระราชนันทาจารย์ (ผล อกกโชติ) คณะสงฆ์ หน่วยราชการ และพุทธศาสนิกชน รวมถึงช่วยกันบูรณะองค์พระธาตุต่อมา จนแล้วเสร็จและได้ทำพิธียกฉัตรยอดพระธาตุ ในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2540
จึงอยากเชิญชวนประชาชน ร่วมหาโอกาสมาสัมผัสทะเลหมอก บนพระธาตุดอยเล็ง ไหว้พระธาตุเก่าแก่ของเมืองแพร่ เพื่อความเป็นสิริมงคล

ร่วมแสดงความคิดเห็น