ชุมชนโบราณ ศูนย์ศรัทธา 4 ศาสนาในเชียงใหม่

ศาสนา ทุกศาสนา มีหลักคำสอน ให้ประพฤติปฏิบัติ ตามแนวทางที่บัญญัติไว้ มีจุดมุ่งหมาย สอนให้ทำดี เป็นคนดี ประเทศไทยเปิดกว้าง และให้สิทธิในการนับถือศาสนา ดังนั้น ในแต่ละจังหวัด จึงพบเห็นศูนย์รวมศรัทธาของศาสนาพุทธ , อิสลาม , คริสต์ , พราหมณ์ – ฮินดู , ซิกข์ และหลาย ๆ ศาสนา มากน้อย แตกต่างกันไป ผ่านศาสนาสถานทั้งวัด , โบสถ์ , อาสนวิหาร , คุรุสถาน กระทั่งมัสยิด
ศูนย์รวมความศรัทธาแต่ละศาสนา ก่อเกิดขึ้นมีมากมายในบ้านเรา หากศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จะพบว่า ชุมชนย่านวัดเกตุ นครเชียงใหม่ น่าจะเป็นหนึ่งในชุมชนโบราณ ที่มีความเป็นมานับร้อย ๆ ปี ไม่กี่แห่ง อาจจะสืบเนื่องจากเป็นชุมชนอยู่ติดริมแม่น้ำปิง ฝั่งตะวันออกของเชียงใหม่ ที่มีอายุร่วม ๆ 723 ปีด้วย
เป็นชุมชนท่าน้ำสำคัญของการล่องเรือเดินทาง ระหว่างกรุงรัตนโกสินทร์ ครั้งสยามประเทศ กับ ราชอาณาจักรล้านนา จนมาถึงยุคสมัยพัฒนาเส้นทางเดินรถ เส้นทางรถไฟมายังนครเชียงใหม่ ส่งผลให้”ย่านวัดเกต ” กลายเป็นชุมทางของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา มาตั้งรกรากอาศัยอยู่ บริเวณถ.เจริญราษฎร์ (ถ.สาย เชียงใหม่ – ลำพูน) ตั้งแต่แยกสะพานนวรัฐฯ จรดแยกสะพานนครพิงค์ จะพบเห็นโบสถ์คริสตจักรที่ 1 เชียงใหม่ ตั้งอยู่ ใกล้ ๆ มีวัดเกตุการาม มีวัดซิกข์ อยู่ติดกำแพงด้านพิพิธภัณฑ์วัดเกต
หากลัดเลาะมาตามซอยหน้าวัดเกต เข้าซอย 1 จะเป็นชุมชนมุสลิมอัตตักวา มีมัสยิดตั้งอยู่ไม่ไกลจากวัดทั้ง 2 มากนัก วัดเกตการาม เป็นวัดเก่าแก่ สร้างเมื่อปี พ.ศ.1971 สมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน หรือกว่า 591 ปีล่วงเลยมา มีพระเจดีย์หรือพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี พระธาตุประจำปีผู้ที่เกิดปีจอ ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตต้องมาไหว้เพื่อความเป็นสิริมงคล และอาคารพิพิธภัณฑ์ ที่เคยเป็นกุฏิพระครูชัยศีลวิมล (พ.ศ. 2429 – 2500) เรียกว่า “โฮงตุ๊เจ้าหลวง” ก่อตั้งเมื่อปี 2542 กลายเป็นอีกจุดแวะเที่ยวชมของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย-ชาวต่างชาติ
ด้วยทำเลที่ตั้ง อยู่ตรงข้ามกาดหลวง เดินข้ามสะพานจันทร์สมหรือขัวแขก สัมผัสบรรยากาศลำน้ำปิง มุ่งตรงมายังวัดเกต ได้ทั้งบุญ และความสำราญใจปัจจุบันวัดเกต ได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2524 ความงดงามของชุมชนย่านวัดเกตุ ที่มีศูนย์ศรัทธา แต่ละศาสนาตั้งอยู่ เมื่อมีกิจกรรม งานพิธีสำคัญๆของแต่ละศาสนา จะมีตัวแทน ตลอดจนผู้คน ที่นับถือศาสนา แตกต่างกัน ให้เกียรติมาร่วมงาน ร่วมกิจกรรมต่าง ๆ อย่างสมัครสมานสามัคคีสะท้อนวิถี “แม้แตกต่าง แต่อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข บนพื้นฐานมุ่งสู่ศีลธรรมจรรยา ปัญญา ความดี การหลุดพ้น ด้วยการประพฤติ ปฏิบัติ ตามหลักคำสอน ความเชื่อ ความศรัทธา ” เอกสาร ด้านการศาสนา ในเชียงใหม่ บอกเล่า ความเป็นมาของ การเผยแผ่ศาสนาคริสต์ เริ่มต้นราว ๆ ปี พ.ศ. 2407
ในรัชสมัยพระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์ โดย อาจารย์แดเนียบ (ดานิเอล) แม็คกิลวารี เดินทางตามลำน้ำจากกรุงเทพ มาขึ้นท่าที่เชียงใหม่ใกล้ ๆ วัดเกตและได้รับพระราชานุญาต ให้ประกาศคริสต์ศาสนาในเชียงใหม่ ได้ศิษยาภิบาลคนแรกของคริสตจักรคือ “หนานนันตา” ส่วนประวัติความเป็นมา วัดซิกข์ เชียงใหม่ เริ่มต้นจาก “อีเชอร์ ซิงห์” เข้ามาเชียงใหม่ ราว ๆ พ.ศ.2447 เป็นศาสนาจารย์ประจำวัดท่านแรก หลังจากนั้นมีครอบครัว นายรัตตันซิงห์ นายเกียนซิงห์ นายวารีอามซิงห์ และนายอมารดาสซิงห์ เข้ามา ในปี พ.ศ.2450 จึงพร้อมใจกันจัดตั้งศาสนสถานคุรุดวาราขึ้น บริเวณติดกับประตูด้านทิศตะวันตกของวัดเกต บนเนื้อที่กว่า 60 ตร.ว.
ปี พ.ศ. 2518 ชาวซิกข์เชียงใหม่ ได้บูรณะเป็นอาคารถาวรตราบจนปัจจุบัน เป็นตึกหลังใหญ่สีขาวมียอดโดมสีทอง สูง 3 ชั้น โดยชาวซิกข์ผู้ชายโพกศีรษะไว้หนวดเครา ส่วนสตรีคลุมศีรษะและแต่งกายแบบอินเดีย จะพากันมากราบไหว้ และฟังคำสอนจากพระคัมภีร์ เป็นประจำในละแวกใกล้เคียง เพียงข้ามสะพานจันทร์สม มายังกาดหลวง จะมี “วัดนามธารี” เป็นอีกศูนย์รวมจิตใจ ของชาวซิกข์ ในเชียงใหม่ กลุ่มนี้ย้ายมาจากแคว้นปัญจาบ อยู่ตอนเหนือของอินเดีย จะตั้งร้านขายผ้าจากโรงงานอยู่รอบนอกตลาดย่านตรอกเล่าโจ๊ว อ้อมไปทางถนนช้างม่อย ความเป็นมาในส่วนชาวมุสลิม บริเวณ มัสยิดอัต – ตักวา ศาสนสถานสำคัญของชาวมุสลิมในเชียงใหม่ ซึ่งมีโรงเรียนสอนศาสนาแห่งแรกในภาคเหนือชื่อ ” โรงเรียนจิตต์ภักดี”
ในอดีตบริเวณนี้ เคยเป็นที่อยู่ของชาวพื้นเมืองดั้งเดิม เป็นชุมชนแออัด ตามสภาพชุมชนใกล้ท่าน้ำใหญ่ๆของทุกเมือง ปัจจุบันย่านนี้ถูกพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งนี้ “อับดุรเราะห์มาน อิสหาก อันชัยนี ” หรือ “คุณยง ฟูอนันต์” (ผู้ก่อตั้ง หจก.ฟูอนันต์) ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว ซึ่งอพยพมาจากหมู่บ้านเซียวเหว่ยเกิง อ.หมงหัว มณฑลยูนนาน ของจีน ได้รวบรวมเงินพรรคพวกซื้อที่ดินจาก คุณแอนด์ เบน สร้างกำแพงและอาคารมัสยิดเมื่อปี พ.ศ.2510 แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2512
กลุ่มมุสลิมในย่านนี้มี ส.ส.มุสลิมคนแรก และคนเดียวในภาคเหนือ คือ คุณอารีย์ วีระพันธ์ และนายทหารไทยมุสลิมคนแรกของเชียงใหม่ คือ พ.อ. บรรจง รัศมีจันทร์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ชุมชนมุสลิมย่านนี้ เป็นแหล่งผลิตบุคลากรทรงคุณค่าต่อบ้านเมืองทุกแวดวงการ ทั้งแพทย์ , วิศวกร , นักธุรกิจ , ครู อาจารย์ หลากเชื้อชาติ ศาสนา ที่บุกเบิกเข้ามาตั้งรกราก ในย่านวัดเกต ได้แต่งงานกับคนเมือง กลายเป็นลูกหลานชาวเชียงใหม่ ที่สืบทอด การนับถือศาสนาตามบรรพบุรุษแตกต่างกันไปอาจกล่าวได้ว่า ชุมชนโบราณ ย่านวัดเกต นครเชียงใหม่ เสมือนชุมชนแห่งชีวิต ที่หลอมรวมหลักคำสอน ศาสนา ไม่ว่าจะพุทธ คริสต์ อิสลาม และซิกข์ อยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว ก่อเกิดประโยชน์แก่ท้องถิ่น สร้างความเจริญต่อบ้านเมือง จากรุ่นสู่รุ่น นับเป็นชุมชนเก่าแก่ ในเชียงใหม่ ที่ไม่ควรพลาดเข้าไปสัมผัส เที่ยวชม ร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดปีที่นี่ ย่านวัดเกต เชียงใหม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น