คติการสร้างวัดโบราณ ในทิศทั้งสี่ของเมืองเชียงใหม่

แนวความคิดเรื่องศูนย์กลางจักรวาลของเมือง ของโลกหรือของจักรวาลเป็นสิ่งที่มีอยู่ในระบบความเชื่อดั้งเดิมของชนพื้นเมืองที่นับถือผี ต่อมาได้รับอิทธิพลจากคติความเชื่อของฮินดู และพุทธศาสนาทั้งจากนิกายมหายานซึ่งล้านนาได้รับมาทางมอญ และพุทธศาสนานิกายเถรวาทที่รับจากลังกา ซึ่งอาจย้อนไปถึงแนวคิดเรื่อง มันดาละ (Mandala) หรือวงกลมที่เป็นตัวแทนทางสัญลักษณ์ของโลกหรือจักรวาล กรณีเชียงใหม่ ซึ่งตั้งอยู่บนชุมชนเก่าที่มีการบูชาเสาอินทขิลบริเวณศูนย์กลางของเวียง ซึ่งตำนานเรียกว่า สายดือเมือง หรือสะดือเมือง ต่อมาบริเวณนี้จึงเป็นที่ตั้งของวัด ที่ตำนานเรียกว่า วัดหลวงสะดือเมืองและวัดอินทขีล หลังจากถวายหอนอนช่วงก่อนสถาปนาเมือง
เชียงใหม่ให้เป็นที่สร้างเจดีย์วัดเชียงหมั่นแล้ว ก็โปรดให้สร้างหอคำ ณ บริเวณเวียงแก้วใกล้กับสะดือเมือง โดยใช้บริเวณกลางเวียงเป็นข่วงหลวงและด้านข้างเป็น “กาด” ตั้งแต่หน้าวัดลีเชียงพระ (ต่อมาเรียกวัดพระสิงห์) ไปถึงกลางเวียง บริเวณสะดือเมืองจึงเป็นทั้งศูนย์กลาง ความเชื่อดั่งเดิมที่มีต่อเสาอินทขิล ความเชื่อของพุทธที่สร้างวัดหลวงสะดือเมืองและเป็นศูนย์กลางการบริหารบ้านเมืองซึ่งอยู่ที่ “หอคำ” และ “เค้าสนามหลวง” ทั้งเป็นที่ชุมนุมกำลังคนที่ “ข่วงหลวง” และเป็นศูนย์กลางการค้า คือเป็น “กาด” ด้วย บริเวณรอบ ๆ เป็นวัดสำคัญและคุ้มเจ้านาย บริเวณกลางเวียงจึงเป็นศูนย์กลางจักรวาลในระบบคิด ในคัมภีร์มหาทักษาของวัดศรีภูมิโดยรองศาสตราจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล พบว่าเชียงใหม่มีวัดสำคัญใน 8 ทิศที่สอดคล้องกับระบบความเชื่อ คือบริเวณกลางเวียงซึ่งเป็นสายดือเมืองถือเป็นเกตุเมือง ด้านทิศเหนือถือเป็นเดชเมือง มีวัดเชียงยืนเป็นวัดสำคัญ ด้านทิศใต้ถือเป็นมนตรีเมือง มีวัดนันตารามเป็นวัดสำคัญ ด้านทิศตะวันออกถือเป็นมูลเมือง มีวัดบุพพารามเป็นวัดสำคัญ ด้านทิศตะวันตก ถือเป็นบริวารเมือง มีวัดสวนดอกเป็นวัดสำคัญ ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือถือเป็นอายุเมือง มีวัดเจ็ดยอดเป็นวัดสำคัญ ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือถือ เป็นศรีเมือง มีวัดชัยศรีภูมิหรือวัดพันตาเกิ๋นเป็นวัดสำคัญ ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้เป็นอุตสาหเมือง มีวัดชัยมงคลเป็นวัดสำคัญและด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ถือเป็นกาลกิณีเมือง มีวัดตโปตารามเป็นวัดสำคัญความเชื่อเรื่องมหาทักษา เป็นศาสตร์ของโหราศาสตร์ที่เชื่อว่าดาวพระเคราะห์ที่มีอิทธิพลกำหนดชะตาชีวิตของคน ซึ่งนิยมมากในล้านนาและพม่า บางครั้งเรียกว่า ภูมิพยากรณ์ ในประเทศพม่าก็ยังคงเห็นระบบคิดเรื่องมหาทักษาได้ที่พระเจดีย์มุเตาและชเวดากอง ซึ่งถ้ามีความรู้เรื่องมหาทักษาหรือภูมิพยากรณ์ ผู้ประสงค์ไปนมัสการพระเจดีย์ประจำวันเกิดตามพระเคราะห์ที่รายรอบพระเจดีย์อันยิ่งใหญ่ก็จะไปในเวลาอันรวดเร็วยิ่งขึ้น ในระบบความเชื่อตามทักษาเมืองดังกล่าวนำมาอธิบายพื้นที่กำแพงชั้นในของเชียงใหม่ได้ดังนี้
ประตูหัวเวียงหรือประตูช้างเผือก ซึ่งอยู่ทางด้านทิศเหนือถือเป็นเดชเมือง ประตูเชียงใหม่อยู่ด้านทิศใต้เป็นมนตรีเมือง ประตูเชียงใหม่เรือกหรือประตูท่าแพอยู่ด้านทิศตะวันออกเป็นมูละหรือมูลเมือง ประตูสวนดอกอยู่ด้านทิศตะวันตกเป็นบริวารเมือง แจ่งหัวลินอยู่ด้านทิศ ตะวันตกเฉียงเหนือเป็นอายุเมือง แจ่งศรีภูมิอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นศรีเมือง แจ่งขะต้ำอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้เป็นอุตสาหะ แจ่งกู่เรือง (อ่านว่าแจ่งกู่เฮือง) อยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นกาลกิณี ประตูแต่ละด้านมีจารึกและยันต์กำกับไว้ และมีเทวบุตรเฝ้าอารักขาไว้ทุกประตู (เทวบุตรชื่อสุรักขิโต รักษาประตูท่าแพ ด้านทิศตะวันออก เทวบุตรชื่อไชยภุมโม รักษาประตูเชียงใหม่ด้านทิศใต้ เทวบุตรชื่อสุรชาโต รักษาประตูสวนดอก ด้านทิศตะวันตก เทวบุตรชื่อคันธรักขิโต รักษาประตูช้างเผือกด้านทิศเหนือ)
จากกรอบความเชื่อนี้จึงถือว่าเชียงใหม่มีหัวของเมืองหรือเวียงอยู่ทางทิศเหนือ ซึ่งเป็นทิศมงคลเพื่อทำการอันเป็นมงคล เช่น พิธีบรมราชาภิเษก มีหน้าเมืองอยู่ทางทิศตะวันออกหันหน้าไปทางแม่น้ำปิงด้านท่าแพ เหมาะแก่การคมนาคม การค้าขาย พิธีกรรมและการละเล่นในวันสงกรานต์ มีเขตอรัญญิกของเมืองอยู่ทางทิศตะวันตก ด้านเชิงดอยสุเทพ และมีทางออกของศพอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ และมีการสืบชะตาเมืองเป็นประจำ เช่นเดียวกับการสืบชะตาคนและสืบชะตาบ้าน ตั้งแต่สมัยพระเจ้ากาวิละเป็นต้นมา บริเวณกลางเวียงมี “หอคำ” และคุ้มเจ้านายเรียงรายเป็นลำดับ
ตำแหน่งคล้ายวังหลวง วังหน้าและวังหลังของกรุงเทพฯ เรียกว่า ราชสัณนิเวสน หอคำพระราชชะวังหลวง เจ้ามหาอุปราชชะวังหน้า เจ้ารัตตนะราชชะวังหลัง ขณะนั้นรับอิทธิพลกรุงเทพฯแล้ว ในยุคก่อนเทศาภิบาลก่อนกรุงเทพส่งข้าหลวงขึ้นมาจัดการปกครองบริเวณพื้นที่สายดือเมือง จึงประกอบด้วย หอคำ หอเจ้าอุปราชาราชวังหน้า หอเจ้ารัตตนะราชวังหลังและคุ้มเจ้านาย ซึ่งใช้เป็นสถานที่สั่งราชการ บริหารกิจการบ้านเมืองของนครเชียงใหม่ และอาณาจักรล้านนา โดยอาณาบริเวณกว้างคือด้านเหนือจรดวัดหัวข่วง ด้านใต้จรดประตูเชียงใหม่ ขณะที่ด้านตะวันตกจรดวัดพระสิงห์และด้านตะวันออกจรดประตูเชียงเรือก เพราะอาณาบริเวณดังกล่าวมีหลักฐานเรียกว่า “ข่วงหลวง” ในปัจจุบันยังคงมีคุ้มเจ้านายทั้งที่อยู่ใน สภาพเดิมและถูกเปลี่ยนสภาพไปแล้ว
ทิศเหนือ : เดชเมืองวัดเชียงยืน ต.ศรีภูมิ อ.เมืองเรียกอีกชื่อว่าวัดฑีมาชีวะราม พระเมืองแก้ว (พ.ศ. 2038 – 2068) โปรดให้บรรจุพระธาตุ ณ พระเจดีย์เมื่อ พ.ศ. 2061 และยกฉัตรฉลองใน พ.ศ. 2062 ด้วยความเชื่อว่าทิศเหนือเป็นหัวของเมือง เป็นทิศมงคล ขบวนแห่ในพิธรบรมราชาภิเษกจึงเข้า เมืองทางเหนือ และมักตั้งพลับพลาหรือไหว้พระที่วัดเชียงยืนแล้วจึงเข้าเมือง เช่นสมัยพระไชยเชษฐาจากล้านช้างเข้าเมืองเชียงใหม่แห่งล้านนาเมื่อ พ.ศ. 2089 มาตั้งพลับพลาที่สัดเชียงยืน ก่อนเข้าเมือง และสมัยพระเจ้ากาวิละแวะไหว้พระที่วัดเชียงยืนแล้วจึงเข้าเมืองเชียงใหม่ เมื่อ 9 มีนาคม พ.ศ. 2339
ทิศอีสาน : ศรีเมือง ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ระบุสภาพด้านอีสานของเมืองเชียงใหม่ว่า “หนองใหย่” ชื่ออีสาเนนสรา นรูปชา” เป็นไชยมังคละ 1 ใน 7 ประการ เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของเชียงใหม่ และเป็นแหล่งรับน้ำจากคูเมืองเชียงใหม่ ทำให้น้ำไม่ท่วมตังเวียง หนองน้ำขนาดใหญ่นี้ยังคงปรากฏในแผนที่ พ.ศ. 2443 ของเจมส์ แมคคาร์ธี ที่สำรวจครั้งเตรียมโครงการทางรถไฟสายเหนือ แผนที่ พ.ศ. 2447 ที่สำรวจครั้งจอมพลพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เสด็จมณฑลฝ่ายเหนือและแผนที่ พ.ศ. 2466 ของมิชชั่นนารี ซึ่งสมัยหลังเรียกว่าหนองบัว หรือ หนองเขียว เป็นที่พักผ่อนพายเรือ ตกปลาและเก็บผักในหนองของคนเมืองเชียงใหม่ ที่ยังอยู่ในความทรงจำของคนร่วมสมัยที่มีอายุประมาณ 50 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่กลายเป็นถนนอัษฏาธรและถนนรัตนโกสินทร์ พื้นที่ด้านนี้เป็นที่ตั้งวัดพันตาเกิ๋น หรือ วัดชัยศรีภูมิ บ้านช้างม่อย ถ.วิชยานนท์ เดิมชื่อว่าวัดพันตาเกิ๋น เพราะเชื่อว่าสร้างโดยขุนนางระดับพัน คือ พันตาเกิ๋น สร้างในสมัยของพระเมืองแก้ว (พ.ศ. 2038 – 2068) เคยเป็นที่ประดิษฐานพระไม้แก่นจันแดง ปี พ.ศ. 2380 มีการบูรณะอีกคั้งในสมัยพญาพุทธวงศ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่คนที่ 4 (พ.ศ. 2368 – 2389) ได้มีการสร้างอุโบสถเมื่อ พ.ศ. 2384 และมีการฉลองอุโบสถเมื่อ พ.ศ. 2386 โดยที่ถือเป็นศรีของเมือง ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดชัยศรีภูมิ สิ่งที่น่าสนใจคือ ทำเลที่ตั้งก่อนสร้างวัดอาจเป็นที่ตั้งของหอคำสมัยพญาติโลกราช ในวัดมีหอไตรเป็นอาคารไม้สองชั้น ชั้นล่างเป็นห้องสมุด ชั้นเก็บพระไตรปิฏก ไม่มีบันไดขึ้นถาวรต้องใช้บันไดพาดปีนขึ้นทางด้านข้าง
ทิศบูรพา : มูลเมืองวัดเม็ง หรือ วัดบุพพาราม สร้างในสมัยพระเมืองแก้ว (พ.ศ. 2039 – 2068) พระองค์โปรดให้สร้างวัด สร้างปราสาท สร้างพระพุทธรูปเงิน หอพระมณเฑียรธรรม และโปรดให้ฉลองพระไตรปิฏกฉบับลงทองที่วัดนี้ วัดนี้เคยเป็นที่อยู่ของพระสังฆราช สมัยพระมหาสังฆราชปุสระเทวะ และมีความสำคัญในระบบความเชื่อ พระเจ้ากาวิละนำพลจากเวียงป่าซางเดินทางเข้าสู่เมืองเชียงใหม่เมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ 9 มีนาคม 2339 ก็ได้พักแห่งแรกที่วัดบุพพาราม จากนั้นจึงนำขบวนทัพไปทางใต้ ทางทิศตะวันตกและทางเหนือของเมือง ไหว้พระที่วัดเชียงยืนแล้ว จึงเข้าเวียงทางประตูหัวเวียงตามประเพณีโบราณ และจัดให้ “ลัวะจูงหมาพาแขกเข้าเมือง”เหมือนครั้งที่พญามังรายเข้าเมืองสิ่งที่น่าสนใจ ได้แก่ วิหารเล็กเครื่องไม้ เจดีย์แบบพม่า พระพุทธรูปสมัยพระนเรศวรและร่องรอยของชุมชนเม็ง
ทิศอาคเนย์ : อุตสาหะเมืองวัดชัยมงคล ริมน้ำแม่ปิงฝั่งตะวันตก ตั้งอยู่เลขที่ 133 ถ.เจริญประเทศ ต.ช้างคลาน ของเดิมสร้างราว พ.ศ. 1985 – 2000 สมัยพญาติโลกราช แต่เดิมเรียกวัดนี้ว่า วัดอุปาเม็ง หรือวัดอุปานอก ถือเป็นวัดพี่วัดน้องกับวัดบุพพาราม ซึ่งเรียกว่า วัดอุปาใน หรือวัดเม็งสมัยรัชกาลที่ 5 พระราชชายาเจ้าดารารัศมีได้ขอเปลี่ยนชื่อเป็นวัดชัยมงคล ชาวบ้านเรียกว่าวัดชัยมงคลริมปิง พื้นที่เดิมของวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาวไปทางทิศเหนือ – ใต้ ด้านทิศตะวันตกตั้งแต่พระเจดีย์ไปถึงถนนใหญ่เป็นบ้านพักของกงศุลฝรั่งเศส สมัยครูบาแก้วคันธิยะเป็นเจ้าอาวาสได้เจรจาขอแลกพื้นที่ด้านเหนือกับด้านตะวันตกเพื่อให้ที่ดินทั้งสองเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กงศุลฝรั่งเศสตกลงจึงได้ย้ายเจดีย์เก่าที่อยู่ติดรั้งกลศุลเดิมมาสร้างใหม่เป็นทรงมอญ (เม็ง) อุโบสถหลังเดิมอยู่ริมแม่น้ำปิงติดกับกำแพงด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ฤดูน้ำหลากไม้ซุงมาชนอุโบสถจนได้รับความเสียหายใช้ทำสังฆกรรมไม่ได้ ใน พ.ศ. 2479 ครูบาดวงแก้ว จึงได้สร้างอุโบสถใหม่กลางวัด และได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2479 พระประธานในวิหารจำลองมาจากพระเจ้าเก้าตื้อวัดสวนดอก สิ่งที่น่าสนใจคือ
1. บริเวณท่าน้ำของวัดนี้เป็นที่ขึ้นลงเรือของเจ้านายที่เดินทางไปกรุงเทพฯ
2. วิถีชีวิตของชุมชนในละแวกนั้นโดยเฉพาะชุมชนมอญที่อาศัยอยู่ข้างวัด
ทิศทักษิณ : มนตรีเมืองวัดนันทาราม สร้างเมื่อ พ.ศ. 2020 สมัยพญาติโลกราช (พ.ศ. 1984 – 2038) โดยท้าวบุยเรืองผู้เป็นโอรสของพญาติโลกราช สมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ (พ.ศ. 2399 – 2413) หรือเจ้าชีวิตอ้าว โปรดให้บูรณะและสร้างวิหารเมื่อ พ.ศ. 2404 สมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 7 (พ.ศ. 2413 – 2440) ได้สถาปนาเจ้าอาวาสวัดนันทาราม ขณะนั้นคือ สรภังค์ภิกขุ เป็นสังฆราชสรภังค์ ซึ่งเป็น 1 ใน 7 คณะสังฑราชาเมืองเชียงใหม่ หลักฐานเดิมระบุวัดนี้นิกายเขิน ชุมชนรายรอบผู้เป็นศรัทธาวัดจึงเป็นคนเขิน สิ่งที่น่าสนใจคือวัดนันทาราม ชุมชนเขิน การทำเครื่องเขินและน้ำหนัง
ทิศพายัพ : อายุเมือง วัดเจ็ดยอด สร้างในสมัยพญาติโลกราช (พ.ศ. 1984 – 2030) โปรดให้สร้างใน พ.ศ. 1999 เพื่อเตรียมฉลอง พ.ศ. 2000 แห่งการตรัสรู้ของพุทธองค์ ภายในจัดเป็นอนุจักรวาล มีต้นศรีมหาโพธิ์และสถูปเหมือนพุทธคยาเป็นศูนย์กลางจักรวาล เพราะทรงได้ฟังธรรมเทศนาถึง อานิสงส์แห่งบุคคลที่ได้ปลูกต้นมหาโพธิ์ ทำให้มีพระประสงค์จะปลูกต้นมหาโพธิ์ ในบริเวณวัดจึงมีสัตตมหาสถาน คือสถานที่ 7 แห่ง ที่พระพุทธเจ้าประทับเสวยวิมุตติสุขก่อนเสด็จประกาศพระศาสนา ในปี พ.ศ. 2020 โปรดให้ใช้วัดนี้เป็นสถานที่ทำสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งที่ 8 ของโลกซึ่งนับเป็นครั้งแรกในสยาม มีพระธรรมทินมหาเถระวัดป่าตาล เป็นประธานคณะสงฆ์เมื่อพญาติโลกราชสวรรคต พญายอดเชียงราย พระนัดดาเป็นผู้ครองราชย์ต่อ (พ.ศ. 2030 – 2033) โปรดให้ถวายพระเพลิงพระบรมศพพญาติโลกราชที่วัดนี้ แล้วสร้างพระมหาสถูปบรรจุพระอัฐิพระอังคาร ในทางศิลปะถือว่าลายปูนปั้นที่สถูปวัดเจ็ดยอดเป็นยุคทองของล้านนา กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณเมื่อ พ.ศ. 2478 ช่วง พ.ศ. 2508 – 2509 เตรียมตัดถนนจากช่วงสิงห์เข้าหาถนนห้วยแก้ว ผ่านที่นามีทางให้เลือกตัดตรงได้ แต่ต้องการให้ผ่านหน้าโรงแรมทันสมัยสุดในขณะนั้นจึงโค้งเข้าหาวัด 2 วัดคือ วัดข่วงสิงห์และวัดเจ็ดยอดและหมู่บ้านมะขามเปี้ย หนองผักจิก ที่อยู่ระหว่าง 2 วัด โดยผาติกรรมวัดข่วงสิงห์และเวนคืนที่ดินวัดเจ็ดยอด 12 ไร่เศษ ทำให้ 2 ใน 3 ของสระมุจลินท์อยู่นอกวัด พร้อมกู่แก้วหรือราชายตนะเจดีย์ช่วง พ.ศ. 2532 เตรียมขยายถนนจาก 2 ช่องทางเป็น 4 ช่องทาง คิดย้ายกู่แก้วเข้าวัด เมื่อมีเสียงค้านก็คิดเบียดเจดีย์ให้ห่างประมาณ 4 เมตร ลงนามในสัญญาให้ดำเนินการเมื่อ 5 พ.ย. 2535 กลุ่มราษฏรผู้รักเชียงใหม่ขอให้ทบทวนแนวทางการขยายถนน ให้ขยับแนวขยาย ไปอีกด้านซึ่งเวนคืนแล้วเช่นกัน ทำให้ห่างจากเจดีย์อีกเป็น 17 เมตร พื้นที่ว่างหน้าวัดที่ได้คืนมา จึงมีโครงการสร้างข่วงเรียกว่า ข่วงติโลกราช และเสนอเปลี่ยนชื่อถนนเป็นถนนติโลกราชเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พญาติโลกราช ในวาระสมโภชเมืองเชียงใหม่ 700 ปี แต่จนบัดนี้ยังไม่มีผลคืบหน้า
ทิศปัจฉิม : บริวารเมืองวัดสวนดอก หรือวัดบุปผารามสวนดอกไม้ บริเวณพื้นที่ตั้งแต่ทิศตะวันตกจากปากประตูสวนดอกไปจนถึงดอยสุเทพมีร่องรอยชุมชนโบราณก่อนการสถาปนาเมืองเชียงใหม่เช่นเดียวกับพื้นที่ด้านเหนือและยังปรากฏร่องรอย เช่น เวียงเจ็ดริน เวียงสวนดอก อ่างเก็บน้ำ โบราณสถานในบริเวณมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วัดร้างในบริเวณสวนสัตว์เชียงใหม่ ฯลฯ แต่โดยทั่วไปพื้นที่ด้านนี้เป็นเขตป่าต้นน้ำ และมีพื้นที่อรัญญิกของสงฆ์ตั้งแต่สมัยพญากือนา แห่งราชวงศ์มังราย (พ.ศ. 1910 – 1931) ซึ่งทรงมีพระประสงค์จะฟื้นฟูคณะสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสี ได้โปรดนิมนต์พระมหาอุทุมพรสาวมีเมืองเมาะตะมะ แต่พระเถระไม่มาเองส่งพระอานนท์มาแทน ซึ่งพระอานนท์สามารถเจริญพระราชศรัทธาได้อย่างดี จนพญากือนาต้องการให้สงฆ์ทำสังฆกรรมอันมาแต่ลังกาทวีป แต่พระอานนท์ไม่ยอมร่วมสังฆกรรมกับพระนิกายเดิมของเชียงใหม่
จึงถวายพระพรให้พญากือนาไปอาราธนาพระมหาสุมนเถระ ซึ่งร่วมอุปัชฌาย์เดียวกันมาสู่เชียงใหม่ พญากือนาจึงส่งราชทูตไปขออาราธนาพระมหาสุมนเถระถึง 3 ครั้ง พระมหาสุมนเถระจึงยอมรับนิมนต์เดินทางขึ้นมาเมื่อ พ.ศ. 1912 ระยะแรกพักที่วัดพระยืน ลำพูน ระหว่างนั้นพญากือนาได้หาทำเล สร้างวัดที่ถูกต้องตามคติของฝ่ายอรัญวาสี ซึ่งกำหนดให้อยู่ห่างไกลจากกำแพงเมืองประตูเมือง “ห้าร้อยเช่นขาธนู” ตำนานกล่าวว่าพญากือนา “มีสุบินนิมิตรฝันหันดอกกระยอมมีพายวันตกเวียงเชียงใหม่ไกล 5 ร้อยชั่วขาธนู” จึงให้คนไปสำรวจพบว่ามีป่าไม้พะยอมอยู่ด้านตะวันตกของเมืองเชียงใหม่ ห่างจากตัวเมืองตามกำหนดของสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสีจึงโปรดให้สร้างวัดเรียกว่า อารามสวนดอกไม้ ณ ป่าไม้พะยอมด้านตะวันตกของเมือง ใน พ.ศ. 1914 จึงได้อาราธนาพระพระมหาสุมนเถระมายังเชียงใหม่ พระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระมหาสุมนสุวัณณรัตนสวามี เป็นสังฆนายกประจำที่วัดสวนดอกนานถึง 18 ปี มรณภาพเมื่อ พ.ศ. 1939
การมาสู่เชียงใหม่ของพระมหาสุสนเถระครั้งนั้นได้นำพระบรมธาตุมาประดิษฐานที่เชียงใหม่ด้วย พญากือนาโปรดให้สร้างเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ที่อาราวัดสวนดอกนั้น ตำนานกล่าวว่า ครั้งนั้นพระบรมธาตุแสดงปาฏิหารย์แยกเป็นอีกองค์ จึงโปรดให้อัญเชิญสู่ดอย “อุสุจะบรรพต” หยุดพักที่ผาลาดแล้วต่อไป “จอมเขา” โปรดให้สร้างพระเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุที่จองเขานั้น ใน พ.ศ. 1929 พิศาขะมาศ เพ็ญวันพุธสถาปนาพระเจดีย์ธาตุสุเทพ การรื้อฟื้นทำนุบำรุงพุทธศาสนาในแอ่งเชียงใหม่ – ลำพูนแทนหริภุญชัยตั้งแต่นั้นมา อย่างไรก็ดีในสมัยพญาสามฝั่งแกน (พ.ศ. 1945 – 1984) ได้ทรงสนับสนุนให้พระสงฆ์ 25 รูป โดยการนำของพระมหาญาณคัมภีร์หรือพระมหาธรรมคัมภีร์ไปศึกษาพุทธสถานที่สัดถูปาราม นครอนุราธปุระในลังกา เมื่อ พ.ศ. 1967 คณะสงฆ์ชุดดังกล่าวได้บวชแปลงใหม่ตามคติของลังหาพักอยู่ในลังกาเป็นเวลา 4 เดือน กลับมาถึงเชียงใหม่ พ.ศ. 1973 ได้สถาปนาสงฆ์นิกายลังกาวงศ์ใหม่ขึ้นที่วัดแพะป่าทึง (วัดป่าแดง) ในเขตไม้พะยอมเชิงดอยสุเทพ เรียกว่าสงฆ์ฝ่ายป่าแดง ฝ่ายป่าแดงตั้งข้อกล่าวหาสงฆ์ฝ่ายสวนดอกว่าไม่เป็นพระภิกษุ สงฆ์ฝ่ายสวนดอกตอบโต้ด้วยการ
กล่าวหาว่าพระมหาธรรมคัมภีร์ ผู้นำสงฆ์ฝ่ายป่าแดงทะเลาะกับพระอุปัชฌาย์ เรียนเวทมนต์คาถาจากพ่อค้าและชีเปลือย บวชกับพวกชีเปลือยซึ่งเป็นพวกขโมยทองจังโกฏจากพระเจดีย์จึงพระลังกาขับไล่ เมื่อกลับมาถึงเมืองไทยสวดสำเนียงไม่ถูกต้อง ฯลฯ ในสมัยพญาสมาฝั่งแกน
ได้โปรดให้จัดเวทีปะทะคารมระหว่างสงฆ์สองสำนัก โดยผูกแพขนานให้โต้เถียงกันสด ๆ สงฆ์ฝ่ายป่าแดงเป็นฝ่ายชนะ หลังจากนั้นพระทั้งสองฝ่ายจึงมีการทุบตีกันบ่อยครั้ง พญาสามฝั่งแกนจึงโปรดให้ฝ่ายป่าแดงออกไปจากเมืองเชียงใหม่ ใน พ.ศ. 1977 ทำให้ฝ่ายป่าแดงไปเจริญในเชียงราย เชียงแสน พะเยา ลำปาง และเชียงตุง แต่สมัยพญาติโลกราช โอรสของพญาสมาฝั่งแกนกลับทรงสนับสนุนสงฆ์ฝ่ายป่าแดงอีก ศาสนาพุทธนิกายลังกาใหม่ ของฝ่ายป่าแดงในสมัยพญาติโลกราช จึงรุ่งเรืองในเชียงใหม่มีวัดฝ่ายป่าแดงถึง 500 อารามศึกของสงฆ์ ในพื้นที่เชิงดอยสุเทพครั้งนั้น แม้จะนำสู่ความแตกแยกของสงฆ์เป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายสวนดอกและฝ่ายป่าแดง แต่ก็ส่งผลดีต่อพระธรรม ทำให้สงฆ์ทั้งสองฝ่ายตั้งใจศึกษาพระธรรมให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น จนมีการสังคยนาพระพุทธศาสนาครั้งแรกในสยามและครั้งที่ 8 ของโลกขึ้นที่วัดเจ็ดยอด เมื่อ พ.ศ. 2020 ขณะเดียวกันภิกษุล้านนาศึกษาภาษาบาลีแตกฉานได้แต่งพระคัมภีร์เป็นภาษาบาลีไว้จำนวนมาก เป็นยุคทองของวรรณคดีล้านนา กลายเป็นตำราที่สอนขั้นเปรียญธรรมสืบมาถึงปัจจุบัน
สมัยพญาเมืองแก้ว (พ.ศ. 2038 – 2068) โปรดให้หล่อพระพุทธรูปด้วยโลหะหนักเก้าโกฏิตำลึงเป็นพระพุทธรูปเชียงแสนเมื่อ พ.ศ. 2047 เรียกว่า พระเจ้าเก้าตื้อ เตรียมถวายเป็นพระประธานในวิหารวัดพระสิงห์ แต่เมื่อเสร็จแล้วไม่สามารถชลอเข้าเมืองได้ จึงโปรดให้สร้างอุโบสถครอบไว้ ใกล้พระอารามบุปผาราม สมัยพระยาคำฝั้น เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 3 (พ.ศ. 2366 – 2368) เกิดความขัดแย้งกับเจ้าสุวัณระคำมูล เจ้าคำฝั้นจึงออกบวชที่วัดเชียงมั่นแล้วมาอยู่ที่วัดสวนดอก ขุนนางจึงต้องปล่อยรถม้าเสี่ยงหาผู้มีบุญมาครองเชียงใหม่แทน ราชรถเสี่ยงทายได้ตรงมาวัดสวนดอกกระทำทักษิณรอบเจ้าคำฝั้น ทำให้เจ้าคำฝั้นต้องลาสิกขาบทเป็นเจ้าหลวงเชียงใหม่ต่อไปพ.ศ. 2452 พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในรัชกาลที่ 5 ได้รวบรวมพระอัฐิพระญาติมาสร้างกู่ไว้ในบริเวณวัดสวนดอก ฉลองใหญ่ในวันที่ 15 – 30 ต.ค. 2452 – พ.ศ. 2474 ครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นประธานในการบูรณะปฏิสังขรณ์สร้างวิหารโถง ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ ทั้งเป็นสถานที่สอนอักษรธรรมแก่บุคคลผู้สนใจจนเกิดกระแสการอนุรักษ์อักษรเมืองเรียกตัวเองว่า “กลุ่มใบลาน”
ทิศหรดี : กาลกิณีเมือง วัดปโตทาราม หรือวัดร่ำเปิง ตำนานชินกาลมาลีปกรณ์เรียกวัดนี้ว่า วัดป่าตาลมหาวิหาร พญาติโลกราชโปรดให้สีหโคตเสนาบดีและอาณากิจจาธิบดีมหาอำมาตย์ (หมื่นด้ามพร้าอ้ายอาณัติการ) หล่อพระพุทธรูปแขมลอปุระไว้ที่วัดนี้ ในวัดมีจารึก พ.ศ. 2035 กล่าวถึงการสร้างวัดว่าพญายอดเชียงราย (พ.ศ. 2030 – 2038) มีอัครมเหสีชื่ออุตุมาเทวี ได้อาราธนาพระสงฆ์จำนวน 100 รูป เช่นพระมหาสามีญาณโพธิเจ้า วัดป่าแดง พร้อมขุนนางผู้ใหญ่ เช่น เจ้าเมืองเชียงรายซึ่งมีศักดิ์เป็นลุงมาช่วยกันสร้าง วัดตโปทาราม แล้วทรงตรากฏหมายไว้กับวัดนี้ถวายนาสามล้านห้าหมื่นพันไว้กับพระเจดีย์สี่ด้าน เรียกพันนากรุณา
ที่มา : วัดในทักษาเมือง (เอกสารประกอบการนำชมแหล่งประวัติศาสตร์ในเชียงใหม่)
โดย รศ.สมโชติ อ๋องสกุล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ร่วมแสดงความคิดเห็น