“เวียงลี้” เมืองโบราณ 1,000 ปี

ตามตำนานโบราณ “เวียงลี้” นั้นตั้งอยู่ที่ดอยผาเวียง ต.บ้านลาน เป็นจุดลี้ลับต้องเดินทางบุกป่าขึ้นดอยข้ามห้วยข้ามเหวด้วยระยะทางพื้นราบสลับสูงชันร่วม 30 กิโลเมตร เป็นเวิ้งเวียงที่ซุกซ่อนตัวอยู่ในป่า มีร่องรอยความอุดมสมบูรณ์ของคันน้ำคูดินและพืชพรรณ
ธัญญาหาร พบซากเจดีย์วิหารเก่าสมัยล้านนาตอนต้น (ยุคพระนางจามรี) แถวนั้นมีต้นลำไยป่าขนาดยักษ์ร่วม 100 ต้น สูงลิบลิ่วราว 30 เมตร ขนาด 5 คนโอบอายุหลายร้อยปี สามารถพัฒนาไปเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยวได้ นอกจากนี้แล้วที่ ต.ลี้ ยังพบ “ผายอง” ซึ่งมีลักษณะคล้ายหินตั้งเป็นกองสูง เกิดจากการแตกตัวทางธรณีวิทยาทำให้หินมากองซ้อนทับกัน คนเมืองเห็นว่าหินนั่งกองทับกันจึงเรียกว่าผายอง และหินแท่งนี้ต่อมาคงใช้เป็น “ไชยภูมิ” สำคัญยามเดินทัพ ใช้เป็นปราการป้อมค่ายหอรบดูทัพข้าศึก แต่ไม่พบร่องรอยของการประกอบพิธีกรรมจุดเด่นของเวียงลี้อีกอย่างหนึ่งคือการที่เป็นบ้านเกิดเมืองนอนของครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งแผ่นดินล้านนนา และยังมี “นกยูงครูบา” นับร้อยชีวิตที่ชาวบ้านเล่าว่ายามเย็นของบางสนธยาจะออกมารำแพนหางเป็นคู่ๆ ซึ่งนกยูงเหล่านี้เป็นลูกหลานของนกยูงคู่แรกที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้มาจากพม่า
นอกเหนือจากลำไยยักษ์ที่ดอยผาเวียง กองหินมหัศจรรย์ที่ผายอง และลานนกยูงครูบาที่บ้านปางแล้ว ยังพบหลักฐานโบราณอีกหลายชิ้น อาทิ ศิลาจารึกหลักแรกของอำเภอลี้ที่ป่าช้าลัวะใกล้วัดแม่ป้อก ต.แม่ตืน นอกจากนั้นยังพบถ้ำหินย้อยอลังการดั่งแก้วเจียระไนยที่ถ้ำเวียงแก้ว ต.แม่ตืนอีก ซึ่งว่ากันว่างามไม่แพ้ถ้ำเชียงดาว และที่ยังเป็นปรัศนีย์อยู่ก็คือ ชาวบ้านเชื่อว่ามีพลับพลาพระเจ้าตากสินอยู่ในถ้ำช้างร้อง เขตอุทยานแห่งชาติแม่ปิง ต.ก้อ คราวที่ยกทัพมาปราบพม่าเพื่อกอบกู้ลำพูน-เชียงใหม่ และเคยหลบมาประทับพักแรมที่นี่ ซึ่งเรื่องนี้น่าสนใจยิ่ง
นอกจากนั้นบริเวณที่ตั้งวัดพระธาตุดวงเดียว และวัดพระธาตุห้าดวงในปัจจุบันนี้ อดีตนั้นมีชื่อว่าเวียงกุมตระ ยังเหลือร่องรอยของกำแพงโบราณอยู่ ซึ่งถูกถนนตัดผ่ากลางทำลายซากเมืองเดิม ส่วนตัวเวียงลี้จริงๆ นั้นคือบริเวณดอยผาเวียง จะว่าไปแล้วประวัติศาสตร์ของเมืองลี้ยังค่อนข้างลึกลับ ไม่เคยมีการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งๆ ที่หลักฐานจากชื่อบ้านนามเมืองยังเหลือร่องรอยเค้าเงื่อนให้ชำระสืบค้นได้มากมาย เช่น บ้านเสาสะกัง บ้านป่าช้าลัวะ ฯลฯ”
เวียงลี้ เมืองโบราณ 1,000 ปีแห่งนี้ยังคงมนต์เสน่ห์และปริศนาน่าค้นหาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ภาพเขียนบนหน้าผาพิธีกรรมของมนุษย์ยุคถ้ำ เวียงกุมตระ เส้นทางเสด็จพระเจ้าตาก รวมไปถึงป่าเห็วหรือป่าช้าริมน้ำปิงที่พบกระดูกมนุษย์ฝังอยู่ นับเป็นเรื่องท้าทายค้นหาและรอการพิสูจน์ทั้งสิ้น
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น