การเดินทางของคนเชียงใหม่ในอดีตเมื่อ 100 ปี

ในอดีตเมื่อราว 100 กว่าปีที่แล้ว คนล้านนามีการเดินทางไปมาเพื่อค้าขายระหว่างหัวเมืองต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งพาหนะทางที่ใช้เดินทางของคนเชียงใหม่ในสมัยโบราณมี 2 ทางก็คือ ทางบก และทางเรือ การเดินทางโดยทางบกนั้น คนล้านนาจะนิยมใช้วัวต่างม้าต่าง เพื่่อบรรทุกสินค้า ไปเป็นคาราวานจำนวนมากโดยจะใช้เส้นทางลัดเลาะไปตามป่าเขาซึ่งใช้เวลานาน บางครั้งกินเวลาเป็นแรมเดือนต้องอาศัยนอนกลางป่าขณะที่การเดินทางโดยเรือนั้นใช้บรรทุกสินค้าได้มากกว่ามีความสะดวกยิ่งขึ้น เพราะอาศัยกระแสน้ำเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งส่วนใหญ่คนล้านนาจะนิยมใช้เรือหางแมงป่องเป็นพาหนะเดินทาง
การเดินทางโดยเรือหางแมงป่องตามลำน้ำปิงแต่ละครั้งนั้นต้องไปกันเป็นขบวนจำนวนหลายสิบลำ เนื่องจากสินค้าที่นำไปขายแต่ละครั้งมีจำนวนมากซึ่งต้องใช้เรือหลายลำบรรทุกไป

และเพื่อความปลอดภัยจากการถูกดักปล้นระหว่างทางกับทั้งเพื่อป้องกันสัตว์ร้ายซึ่งมีอยู่ซุกชุมในป่าเวลาเดินทางด้วย เพราะในเวลากลางคืนคนในเรือจะออกมาตั้งแคมป์นอนพักอยู่บนฝั่ง นอกจากนั้นยังจะไว้คอยช่วยเหลือฉุดลากเรือที่มาด้วยกันอีกด้วยหลังจากที่ได้มีการสร้างทางรถไฟมาถึงเชียงใหม่ และเปิดใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2464 ความนิยมในการใช้เรือหางแมงป่องเดินทางขนส่งสินค้าขึ้นล่องในลำน้ำปิงก็ลดลงไป เนื่องจากรถไฟมีความสะดวกรวดเร็วกว่า การเดินทางจากกรุงเทพขึ้นมาเชียงใหม่ใช้เวลาไม่นานเหมือนแต่ก่อน ผู้คนจำนวนมาก

หันมาใช้บริการของรถไฟจึงทำให้แต่ละขบวนแออัดไปด้วยผู้โดยสาร จนบางครั้งต้องออกแรงปีนขึ้นไปนั่งบนหลังคาก็มี หลังจากนั้นทางมณฑลพายัพจึงได้สร้างสถานีรถไฟประจำเชียงใหม่ขึ้น ชาวบ้านเรียกสถานีนี้ว่า “สถานีป๋ายราง” หมายถึงที่สิ้นสุดของรางรถไฟ การคมนาคมทางบกและทางเรือซึ่งใช้กันมาก่อนและต้องนอนแรมกันนานเป็นเดือนก็ไม่ได้รับความนิยมอีกต่อไป การสร้างทางรถไฟสายเหนือมาถึง
เชียงใหม่ยังถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การค้าของเชียงใหม่เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น เพราะผู้คนในเชียงใหม่และต่างถิ่นสามารถเดินทางเข้าออกไปค้าขายได้สะดวก จนในยุคหลังเมื่อมีการตัดถนนมายังเชียงใหม่ยิ่งทำให้การเดินทางสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น