โอสถลดความจำ! แพทย์เตือน กินประจำ อาจกลายเป็นโรคสมองเสื่อม

นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย กล่าวว่า หลายท่านตกใจเวลาลืม เพราะห่วงว่าจะเป็นโรคสมองเสื่อมหรือโรคทางระบบประสาทอื่น ๆ ซึ่งความจริงแล้ว แม้จะมีส่วนจริงแต่อย่าเพิ่งตระหนก เพราะการลืมเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ ไม่ว่าจะลืมที่จอดรถชั่วคราว ใจลอย หรือลืมกลางอากาศประเภทนิ่งงันไปไม่รู้จะพูดอะไรต่อ เหล่านี้ถือว่าเป็นการลืมที่อาจเกิดขึ้นได้ในคนทั่วไป
นอกจากนี้ นพ.กฤษดา ยังกล่าวอีกว่า “แต่การลืมประเภทที่ค่อนไปทางผิดปกติที่อาจเข้าข่ายสมองเสื่อมนั้น มีสัญญาณสำคัญอยู่ คือ ถามคำถามเดิมซ้ำ ๆ, ลืมคำพูดสามัญที่แสนธรรมดาเวลาจะพูด, พูดสับกัน, ใช้เวลานานกว่าจะทำภารกิจเดิม ๆ เสร็จ, วางของไว้ผิดที่ในที่ไม่ควรวาง, เดินแล้วหลงง่ายหรือขับรถหลงทางเดิม ๆ, อารมณ์หรือพฤติกรรมเปลี่ยนอย่างไม่มีเหตุผล”
ซึ่งเรื่องสมองเสื่อมนั้น อาจฟังดูเหมือนไร้ทางแก้ แต่จริง ๆ มีสาเหตุของความจำที่หายไป ซึ่งสามารถแก้ไขได้ อาทิ ภาวะซึมเศร้า, เครียด, ติดเหล้า,ขาดวิตามินบี12, โรคไทรอยด์ต่ำ หรือมีเนื้องอกสมอง นอกจากนั้น ยังมีอีกเหตุหนึ่งที่ผู้สูงวัยยุคใหม่ต้องจับตาให้ดี คือ เรื่องของการรับประทานยา เพราะว่ามียาที่ทำให้เกิดอาการหลงลืมได้ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า “โอสถลดความจำ” ที่กินประจำ ทำให้ความจำหายไปบ้าง อาจกลายเป็นโรคสมองเสื่อม จนเผลอคิดไปว่าเข้าข่ายอัลไซเมอร์ ดังนั้นการ กินยาต้องรู้ว่ามีผลต่อสมองหรือไม่
ยาทั่วไปที่ทำให้สมองลืมได้ มีดังต่อไปนี้
  1. ยานอนหลับ ยานี้เป็นสิ่งที่หลายคนกลัวฤทธิ์ของมัน แต่ก็ยังคงใช้กันอยู่เกลื่อน ยานอนหลับสามารถไปกดสมอง ส่วนที่ช่วยจำกับเรียนรู้ ซึ่งยานอนหลับหลายขนาน มีผลข้างเคียง คือ อาการความจำหาย ยกตัวอย่างยานอนหลับกลุ่มเบนโซไดอะเซพีนส์
  2. ยารักษาอาการจิตเวช เป็นยาชนิดที่มีผลต่อสมองบางชนิดมีผลกดอาการหวาดระแวง, หลอน หรืออารมณ์ไบโพลาร์ อาจนำไปสู่ความผิดปกติในเรื่องความจำได้
  3. ยาฆ่าเชื้อ แม้ไม่เกี่ยวกับความจำโดยตรง แต่อาจมีผลกับระบบสำคัญของร่างกาย ที่สร้างสารสื่อประสาทได้ไม่แพ้สมอง คือ “ทางเดินอาหาร” จึงมีคำว่าลำไส้นี้ คือ สมองที่ 2 ของร่างกาย ซึ่งสารเคมีที่มีผลกระทบต่อสมองของเราหลายตัว ผลิตจากทางเดินอาหาร ดังนั้นยาฆ่าเชื้อที่เข้าไปสังหารจุลินทรีย์ดี ๆ ในลำไส้ของเรา จึงอาจมีผลต่อการทำงานสมองได้ โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะกลุ่มควิโนโลน อย่างเลโวฟล็อกซาซิน หรือยารักษาเจ็บคอ อย่างอะม็อกซีซิลลินและเซฟาเล็กซิน
  4.  ยาแก้แพ้ ที่เรียกว่าแอนตี้ฮิสตามีน มีหลายชนิด ใช้เวลาเป็นภูมิแพ้, จาม, คัน, คัดจมูก และเป็นผื่นลมพิษต่าง ๆ มีผลต่อสมอง โดยไปยับยั้งสารสื่อประสาทอะเซติลโคลีน ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับความจำและการเรียนรู้ ถ้าสารอะเซติลโคลีนนี้ต่ำไป จะทำให้เกิดสมองเสื่อม, ความจำหาย หรือมีอาการวุ่นวายสับสนได้
  5.  ยาลดความดันโลหิต เรื่องนี้มีการถกเถียงกัน โดยเฉพาะยาลดความดัน กลุ่มที่ทำให้หัวใจเต้นช้า คือ เบต้า-บล็อกเกอร์นั้น มีรายงานว่า คนไข้สูงวัยมีอาการความจำเสื่อมร่วมด้วย ส่วนอีกรายนั้นมีอาการสับสนวุ่นวาย (delirium) หลังได้รับยาลดความดันกลุ่มนี้ ทั้งที่ไม่เคยมีประวัติจิตเวชมาก่อน และเมื่อหยุดยา อาการก็หายภายใน 20 ชั่วโมง
  6. ยากันชัก ยากลุ่มนี้มีรายงานว่าทำให้สมองนั้น “ช้าลง” เพราะต้องการให้การส่งสัญญาณปลุกชักลดลง ดังนั้น ผลข้างเคียงของยาต้านชักบางตัว จึงเป็นที่รู้กันว่ามีผลต่อการรู้คิด (cognitive function) จึงอาจมีผลต่อความจำและการเรียนรู้ได้ดังในการศึกษาของ University of Eastern Finland เผยว่าการใช้ยากันชักติดต่อกันนาน 1 ปี มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงอัลไซเมอร์ถึง 15% ส่วนข้อมูลของทางเยอรมนีบอกไว้ที่ 30%
อย่างไรก็ตาม น.พ.กฤษดา ย้ำว่าอยากให้ทราบไว้ว่าไม่ควรตระหนกเรื่องยาประจำที่กินอยู่จนหยุดรับประทาน เพราะการที่บอกว่ามีความเสี่ยงนั้น ถ้าเราได้หมั่นสังเกตและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้จ่ายยา ก็จะช่วยให้ความเสี่ยงที่ว่าลดลง จึงอยากให้ระวังในกลุ่มคนไข้ที่รักษาไปนาน ๆ แล้วซื้อยารับประทานเองหรือไม่มีเวลาไปตรวจติดตามมากกว่า
ที่มา : bangkokbiznews
ภาพ : hfocus, thaiza, honestdocs

ร่วมแสดงความคิดเห็น