สถาปัตยกรรมล้านนาที่ หอไตรวัดบ้านหลุก

เมืองลำพูนในปัจจุบันยังคงปรากฏสถาปัตยกรรมทางด้านศาสนาที่ทรงคุณค่าอยู่มากมาย ดังจะเห็นได้ว่าตามวัดต่าง ๆ ยังคงศาสนสถานที่สะท้อนให้ เห็นรูปแบบของงานศิลปกรรม เช่น หอไตร มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป ได้แก่ หอพระมณเฑียรธรรม หอพระธรรมมณเฑียร หอพระธรรม หอธรรมปฏิกฆระ หอพระไตรปิฏกและหอไตร ชื่อต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนมีที่มาจากสิ่งเดียวกันคือ “พระไตรปิฏก” ซึ่งหมายถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ดังนั้นหอไตรจึงเป็นสถานที่เก็บพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นเอง
เมื่อเอ่ยถึง “หอไตร” ในความหมายรวมเรามักปิดตาเห็นภาพอาคารไม้ขนาดจิ๋วชั้นเดียว มีเสาสูง เปิดใต้ถุนโล่ง ตั้งอย่างโดดเดี่ยวอยู่กลางสระน้ำ ไม่มีสะพานเชื่อม ไม่มีบันไดทางขึ้น คติการทำ หอไตรกลางสระน้ำ นี้มีกุศโลบายเพื่อใช้ป้องกันมด ปลวก แมลง มิให้มาแทะกัดกินพระคัมภีร์ อีกทั้งยังเป็นการหลีกเลี่ยงอัคคีภัยไปด้วยในตัว สาเหตุที่ต้องแยกหอไตรออกมาจากกลุ่มอาคารอื่น ๆ ที่สร้างบนบกด้วยความหวาดระแวงเช่นนี้ ก็เพราะว่าในสมัยโบราณคัมภีร์พระไตรปิฏกนั้นมักจารึกลงใบลาน ดังที่เรียกว่า “คัมภีร์ใบลาน”
ในขณะที่หอไตรแถบล้านนาหรือชาวล้านนาเรียกว่า “หอธรรม” นั้นกลับมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่ผิดแผกไปจากหอไตรในภาคกลางโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากคติความเชื่อที่แตกต่างกันไปของแต่ละภาคนั่นเอง เอกลักษณ์ของหอไตรในล้านนา คือการสร้างอาคารด้วยหอสูงสองชั้นบนแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ชั้นล่างทำเป็นห้องทึบก่ออิฐถือปูน ไม่มีบันไดทางขึ้นสู่ชั้นบนทั้งภายนอกและภายใน ส่วนชั้นบนนิยมทำด้วยเครื่องไม้แกะสลักเวลาจะหยิบพระคัมภีร์ไปใช้จะต้องนำบันไดพิเศษมาพาดแล้วปีนเข้าไปทางช่อง
ประตูแคบ ๆ ลักษณะการทำหอไตรทรงสูงเพรียวเช่นนี้ หนุนเนื่องมาจากคติความเชื่อที่ว่า คัมภีร์พระไตรปิฏกเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ควรค่าแก่การเคารพบูชา ดังนั้นจึงต้องเก็บไว้ในที่สูง เวลาจะหยิบพระคัมภีร์ไปใช้จะต้องเทินแบกเหนือบ่า ห้ามถือในระดับต่ำ จึงจำเป็นต้องเก็บไว้ให้มิดชิด มิให้บุคคลภายนอกเข้าไปหยิบฉวยได้ง่าย หอไตรจำพวกหอสูงนี้ จัดว่ามีอายุเก่าแก่ที่สุดในบรรดาหอไตรทุกประเภทของล้านนา กล่าวคือสร้างขึ้นตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 ตรงกับสมัยของพระเจ้าติโลกราช ผู้ทรงกระทำการสังคายนาพระไตรปิฏกขึ้นเป็นครั้งแรกบนผืนแผ่นดินไทยในปีพ.ศ.2020 ตัวอย่างของหอไตรชิ้นเอกได้แก่ หอไตรวัดพระสิงห์ วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่,หอไตรวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร หอไตรวัดช่างฆ้อง จังหวัดลำพูน และหอไตรวัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง เป็นต้น
ลักษณะของหอไตรที่พบในเขตจังหวัดลำพูนอาจจำแนกได้ดังนี้ หอไตรที่เป็นเครื่องไม้ทั้งหลัง เป็นอาคารขนาดเล็กยกใต้ถุนสูง แผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กั้นฝาทึบทั้งสี่ด้าน ไม่มีช่องหน้าต่างหรือเจาะช่องหน้าต่างด้านละ 1 – 2 ช่องหรือมากกว่านั้น ด้านหน้ามีประตูทางเข้า 1 ประตูหรือบางแห่งก็ไม่มีประตู ทางเข้าจะไม่มีบันไดขึ้นเวลาจะขึ้นจึงต้องนำบันไดมาพาดแล้วยกออกเมื่อเสร็จกิจ บางแห่งกั้นห้องเฉพาะตรงกลาง รอบ ๆ มีระเบียงล้อมหรือกั้นห้องชิดด้านใดด้านหนึ่ง
หลังคาทำเป็นหลังคาลดชั้นมุงกระเบื้องประกอบด้วย ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันมีการประดับลวดลายแกะสลัก ในส่วนตัวหอไตรก็มักมีการประดับลวดลาย ฉลุไม้อย่างสวยงาม บางแห่งมีการทาสีชาดลงรักปิดทองประดับกระจกในส่วนต่าง ๆ ด้วย ที่พบมีทั้งที่สร้างกลางสระน้ำ เช่น หอไตรที่วัดสันกำแพง อำเภอป่าซาง หอไตรวัดป่าเหียง อำเภอป่าซาง และที่สร้างบนพื้นราบ เช่น หอไตรวัดประตูป่า อำเภอเมือง
นอกจากนั้นยังมีหอไตรโบราณอายุกว่า 133 ปี ของวัดบ้านหลุกตั้งอยู่เลขที่ 163 หมู่ 8 ต.เหมืองง่า อ.เมือง จ.ลำพูน ซึ่งถือเป็นหอไตรที่คงสภาพความงามทางสถาปัตยกรรมล้านนามาจนถึงปัจจุบัน หอธรรมวัดบ้านหลุก สร้างเมื่อ จ.ศ.1258 (พ.ศ. 2429) โดยครูบาปัญญาเป็นประธานในการก่อสร้าง ลักษณะเป็นอาคารทรงไทย 2 ชั้น มีแบบการสร้างตามคติจักรวาลวิทยา ชาวล้านนาในสมัยก่อน มีความเชื่อว่าการสร้างหอธรรมเป็นการบูชาคัมภีร์พระไตรปิฎกที่ถือเป็น
พุทธวจนะ โดยเชื่อว่าคัมภีร์พระไตรปิฎกที่ได้รับการจารอย่างถูกต้องแล้วเป็นของสูงค่าและมีคุณค่าศักดิ์สิทธิ์ และการสร้างหอธรรมควรจะอยู่ที่สูง ปลอดภัยจากการเข้าไปหยิบฉวย จะเห็นได้ว่าการเข้าไปยังห้องเก็บคัมภีร์พระไตรปิฎกจะต้องใช้บันไดปีนพาดขึ้น จึงไม่ปรากฏว่ามีการสร้างบันไดทั้งภายในและภายนอกหอไตรแต่อย่างใด ประติมากรรมที่ใช้ประดับหอธรรมของวัดบ้านหลุก ประกอบด้วยประติมากรรมรูปเทวดาแกะสลักจากไม้เป็นตัวแทนของท้าวจตุโลกบาล คือ ท้าวทั้ง 4
เป็นคติความเชื่อและแนวคิดของการสร้างหอธรรม แป้นน้ำย้อย หน้าบัน นกหัสดีลิงค์ เป็นประติมากรรมแกะสลักไม้และประดับด้วยกระจกจืน ป้านลม ช่อฟ้า สันนิษฐานว่าน่าจะทำจากไม้ปุด้วยตองเหลืองเป็นช่อฟ้าศิลปะแถบลุ่มน้ำปิง (เชียงใหม่ – ลำพูน) หน้าต่าง ใช้การเขียนลายบนชาด (หาง) เป็นลายเทวดาเดินประทักษิณ ชั้นบนของหอธรรมมีหีบธรรม บรรจุธรรมแบบใบลาน และปั้บกระดาษสา ชั้นล่าง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ซึ่งนับเป็นหีบธรรมโบราณที่เหลืออยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น