“บอกไฟดอก” สีสันของงานยี่เป็งล้านนา

เมื่อถึงวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 หรือที่คนเมืองเหนือเรียกว่า “เดือนยี่เป็ง” เป็นช่วงเวลาของงานเทศกาลลอยกระทง ซึ่งจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือได้จัดให้มีงานประเพณียี่เป็งขึ้นอย่างยิ่งใหญ่งดงาม นอกจากนั้นแล้วในงานดังกล่าวยังมีการเฉลิมฉลองจุดพลุ ปล่อยโคมไฟ เล่นบอกไฟกันอย่างครึกครื้นสนุกสนาน ทั้งนี้เป็นเพราะงานประเพณียี่เป็งมีความผูกพันกับวิถีชีวิตของคนล้านนามาตั้งแต่อดีตกาล เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของงานประเพณียี่เป็งล้านนา นอกเหนือจากโคมลอยแล้ว บอกไฟดอก หรือบอกไฟน้อต้น ก็ถือเป็นสีสันของงานยี่เป็งล้านนา เพราะคนล้านนาในอดีตจะนิยมจุดบอกไฟ หรือที่ภาษาคำเมืองเรียก “จิบอกไฟดอก” อันเป็นการเฉลิมฉลองงานยี่เป็งกันแทบทุกบ้าน
ปัจจุบันการทำบอกไฟดอกของชาวล้านนา นับวันยิ่งจะขาดคนสานต่อ และเหลืออยู่เพียงหมู่บ้านเดียว คือที่บ้านเหมืองกุง อซึ่งชาวบ้านจะช่วยกันทำในช่วงเดียวคือ เดือนยี่เป็งเท่านั้นการทำบอกไฟดอกแทบจะหายากไม่มีใครสานต่ออาชีพนี้คงมีเพียงแต่คนเฒ่าคนแก่เท่านั้นซึ่งนับวันก็ยิ่งล้มหายตายไปจากไปทุกที คนรุ่นใหม่ในหมู่บ้านก็ออกไปหางานที่อื่นทำหมด ทำให้บอกไฟดอกกลายเป็นงานสำหรับคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านไปแล้ว
กรรมวิธีการผลิต เริ่มจากการนำเฝ่า มาผสมกับดินไฟ ขี้เหล็ก มาด ในอัตราส่วน 2 : 1 : 1 แล้วนำไปใส่ลงในหม้อตอกอัดด้วยดินแล้วปิดหน้าด้วยกระดาษแก้ว เพียงเท่านี้ก็เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการทำบอกไฟหม้อ จากนั้นจึงนำบอกไฟที่ทำแล้วบรรจุใส่กล่องเพื่อส่งไป จำหน่ายยังที่ต่าง ๆ ทั่วภาคเหนือ
บอกไฟบอกของชาวล้านนา จะนิยมเล่นในช่วงระหว่างก่อนถึงวันงานยี่เป็ง 2- 3 วัน ขณะที่บอกไฟดอกนั้นยังมีความปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อคนเล่นอย่างแน่นอน เมื่องานประเพณียี่เป็งมาถึงเมื่อครั้ง เราจึงเห็นบ้านแทบทุกบ้านนำบอกไฟดอกมาจุด เพื่อสร้างสีสันของงานยี่เป็งล้านนาให้มีความสนุกสนานครื้นเครงมากขึ้น ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า “บอกไฟดอก” จึงเป็นส่วนหนึ่งของงานยี่เป็งมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็คงไม่ผิดนัก

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น