ภาชนะใส่อาหารจากใบไม้ในป่า ลดปัญหาไฟป่าและหมอกควัน สร้างรายได้ให้ชุมชน

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา ที่สวนสาธารณะหนองจองคำ ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน, นายปกรณ์ จีนาคำ นายกเทศมนตรีเมืองแม่ฮ่องสอน ชมการสาธิตการผลิตภาชนะใส่อาหารจากใบไม้ที่เก็บหาได้จากในป่าของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านทบศอก หมู่ 8 ต.หมอกจำแป่ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน จากศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาสร้างป่าสร้างรายได้ ซึ่งนำมาสาธิตและการฝึกสอนการใช้เครื่องปั๊มจานวัสดุธรรมชาติ โครงการสร้างป่าสร้างรายได้ ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานเครื่องปั๊มให้กับพระอติเทพ จิตตมโน (จิต-ตะ-มะ-โน) หรือครูบาบาส ที่พักสงฆ์บ้านทบศอก ต.หมอกจำแป่ เครื่องละประมาณ 45,000 บาท จำนวน 4 เครื่อง นำมาผลิตภาชนะใส่อาหารหลากหลายรูปแบบ เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนในหมู่บ้าน ช่วยลดการใช้ถุงพลาสติก ลดเชื้อเพลิงในป่าน.ส.ธัญญาลักษณ์ พัฒนาผาเจริญ อายุ 37 ปี ประธานกลุ่มรัฐวิสาหกิจชุมชน บ้านทบศอก ต.หมอกจำแป่ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า เริ่มแรกก็เข้ามาอยู่ในกลุ่มสร้างป่าสร้างรายได้ ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และก็มาต่อยอดเป็นกลุ่มรัฐวิสาหกิจชุมชนของกลุ่มออมทรัพย์สร้างป่าสร้างรายได้ชุมชนบ้านทบศอก โดยพระอติเทพฯ (ครูบาบาส) ได้รับพระราชทานเครื่องปั้มใบไม้จากสมเด็จพระเทพ ฯ มาส่งเสริมสนับสนุนให้ทางกลุ่มฯ ปัจจุบันกำลังเริ่มฝีกทำได้ประมาณ 1 สัปดาห์
โดยมีผู้ประกอบการทั้งจากต่างจังหวัดและภายในจังหวัด ได้สั่งซื้อภาชนะจากใบไม้มากถึง 3,000 ชิ้น กำลังเร่งผลิตให้ทัน ราคาจำหน่าย ขายส่งใบละ 5 บาท ขายปลีกใบละ 3 บาท สำหรับวัสดุที่นำมาผลิตมีหลากหลาย ทั้ง กาบกล้วย ใบสัก ใบตองตึง ใบกล้วย ทั้งสดและแห้ง ถ้าสดจะมีความชื้นสูงก็จะนำมาปรับค่าการผลิต ถ้าเป็นกาบไผ่ ตั้งอุณหภูมิอยู่ที่ 130 องศา ใช้เวลาในการอบประมาณ 30 วินาที ถ้าเป็นใบสัก ใบตองตึง อุณหภูมิอยู่ที่ 160 ใช้เวลาในการอบประมาณ 1 นาที ส่วนวัตถุดิบที่นำมาผลิตมีอยู่มากกายในป่า ไปเดินหาเก็บใบที่ร่วงหล่นลงมา และนำมาล้างน้ำทำความสะอาด ผ่านการฆ่าเชื้อ จากนั้นก็นำมาซ้อนกันประมาณ 3 ใบ โดยใช้กาวแป้งข้าวเหนียวทา เพื่อให้ภาชนะมีความแข็งแรงทนทาน และนำมาเข้าเครื่องบีบอัดตามรูปภาชนะที่ต้องการ ทั้งเป็นถ้วย จาน ชาม และภาชนะใส่อาหารอื่น ๆ อนาคตก็จะพัฒนาเป็นแก้ว สามารถใส่น้ำดื่มได้ ส่วนเครื่องปั้มถ้ามีทุนก็จะซื้อเพิ่ม เพื่อผลิตรูปแบบที่หลากหลายตามความต้องการของตลาด ต่อไปเราก็จะสร้างอัตลักษณ์ของชุมชน เพราะในหมู่บ้านมีทั้งดอกชบา ดอกแอบเปิ้ล และมีดอกไม้เฉพาะถิ่น เวลาลูกค้าสั่งซื้อไปก็จะรู้ทันทีว่ามาจากหมู่บ้านทบศอก เพราะเป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้าน โครงการสร้างป่าสร้างรายได้ในหมู่บ้านจะมีอยู่ทั้งหมด 67 คน แต่ในกลุ่มรัฐวิสาหกิจชุมชนของหมู่บ้านขณะนี้มีอยู่ 15 คน ตอนนี้ยังไม่มีทุน เรามีแต่เครื่องที่ได้รับพระราชทานมา หลังจากขายได้เราก็คงจะมีเงินมาเข้ากลุ่ม ขณะนี้มีคนสั่งมาแล้ว จำนวน 2,200 ใบ กำลังเร่ง นายปกรณ์ จีนาคำ นายกเทศมนตรีเมืองแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ในส่วนของเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน กำลังดำเนินการจัดซื้อเครื่องปั้มใบไม้มาเป็นต้นแบบ เพื่อทำภาชนะใส่อาหารทดแทน ภาชนะพลาสติก นำไปทดลองใช้และมีนโยบายให้ชุมชนในเขตเทศบาล ผลิตจำหน่ายให้กลุ่มพ่อค้า ประชาชน หันมาใช้ภาชนะที่ทำมาจากธรรมชาติ แทนถุงพลาสติก ลดขยะพลาสติก ลดเชื้อเพลิงในป่า มุ่งสู่การพัฒนาเมืองอย่างยั้งยืนนายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า การนำใบไม้จากป่ามาผลิตเป็นภาชนะใส่อาหาร จะเป็นประโยชน์กับประชาชนชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอนหลายด้าน ทั้งลดเชื้อเพลิง สร้างรายได้ อยากเชิญชวนประชาชน ผู้ประกอบการ พ่อค้าแม่ค้า หันมาใช้ภาชนะใส่อาหารซึ่งทำมาจากวัสดุธรรมชาติ สามารถย่อยสลายได้ง่าย ราคาไม่แพง ทางจังหวัดก็จะขยายผลไปสู่ชุมชนอื่นๆ ในทุกอำเภอ เพื่อลดปัญหาไฟป่า หมอกควัน ที่สำคัญ จะเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนในหมู่บ้าน คนที่ว่างงาน คนที่ไม่มีอาชีพ ที่อยู่กับบ้านดูแลพ่อแม่ ไม่มีงานก็มาเข้าร่วมกลุ่ม สร้างอาชีพ มีรายได้เพิ่มขึ้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น