นักวิจัยมหิดลเจ๋ง! ทำหมันยุงลายและต้านเชื้อไวรัสไข้เลือดออกได้สำเร็จ

รศ.ดร.ปัทมาภรณ์ กฤตยพงษ์ หัวหน้าโครงการทำหมันยุง จากศูนย์วิจัยเพื่อความเป็นเลิศพาหะและโรคที่นำโดยพาหะ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดการประชุมเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการควบคุมไข้เลือดออกที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากองค์การอนามัยโลก
สำหรับโครงการทำหมันยุงนี้ เป็นโครงการต่อยอดจากโครงการนำร่องที่ได้แสดงผลการลดลงของยุงลายที่เป็นพาหะโรค ไข้เลือดออก โรคไข้ชิคุนกุนยาหรือโรคไข้ปวดข้อยุงลาย  และโรคไข้ติดเชื้อไวรัสซิกา ในพื้นที่วิจัย อ.แปลงยาว  จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อปี 2559 หลังการปล่อยยุงตัวผู้เป็นเวลา 6 เดือน สามารถลดจำนวนยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคในธรรมชาติได้ถึง 97%

สำหรับโครงการใหม่นี้ เป็นการพัฒนายุงลายบ้านสายพันธุ์ที่เป็นหมัน และต้านเชื้อไวรัสไข้เลือดออกได้สำเร็จ โดยวิธีการ ทำหมันยุงมีสองขั้นตอน คือ 1. ใช้วิธีการทางเทคโนโลยีชีวภาพ โดยฉีดเชื้อแบคทีเรียร่วมอาศัยสกุลโวบาเกีย 2 สายพันธุ์ ซึ่งสกัดจากยุงลายสวนเข้าไปในยุงลายบ้าน เพื่อพัฒนายุงลายบ้านสายพันธุ์ที่สามารถทำให้ยุงในธรรมชาติเป็นหมันได้  และ 2. ใช้วิธีการฉายรังสีปริมาณอ่อน เพื่อทำให้ยุงลายบ้านสายพันธุ์ที่พัฒนาใหม่นี้เป็นหมันด้วย ก่อนจะปล่อยเฉพาะยุงตัวผู้ ซึ่งกินแต่น้ำหวานออกสู่ธรรมชาติ ยุงลายบ้านตัวผู้ที่ผ่านการทำหมัน 2 ขั้นตอนเหล่านี้ จะไปผสมพันธุ์กับยุงลายบ้านตัวเมียในธรรมชาติทำให้เป็นหมัน และไม่สามารถแพร่พันธุ์ต่อได้
โดยโครงการทำหมันยุงได้รับการรับรองจริยธรรมการวิจัยในคน จาก ม.มหิดล, กระทรวงสาธารณสุข และองค์การอนามัยโลกแล้ว ขณะนี้อยู่ในระหว่างการขอหนังสือรับรองจริยธรรมการวิจัยในคนของกรุงเทพมหานคร ซึ่งหากทางกรุงเทพมหานครให้การรับรอง ก็จะเริ่มทำหมันยุงในช่วงต้นปี 2563 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประมาณ 20 จุด ใช้เวลา 12-24 สัปดาห์ จึงจะสามารถเห็นการลดลงของยุงลายที่เป็นพาหะและการลดลงของโรคไข้เลือดออก
นอกจากนี้ รศ.ดร.ปัทมาภรณ์ กล่าวว่า ในส่วนของการเผยแพร่งานวิจัยในกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น ก็เพื่อให้รับทราบว่าขณะนี้มีนวัตกรรมใหม่ในการควบคุมยุงลายที่ไม่เป็นภัยกับสิ่งแวดล้อม และประเทศในอาเซียนได้แสดงความสนใจรับยุงหรือไข่ยุงจากไทย เพื่อกำจัดยุงลายในประเทศของตนเองต่อไป
ที่มา : thairath
ภาพ : stem

ร่วมแสดงความคิดเห็น