ความเป็นมาของ “เพลงซอล้านนา”

เริ่มแรกนั้น การซอพื้นเมืองมีมาตั้งแต่ยุคใดสมัยใด ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด แต่เท่าที่ได้สอบถามจากคนรุ่นเก่า ก็ปรากฏพบว่ามีการแสดงซอขึ้นในสมัยพญาอโศก ซึ่งมีหลักฐานอักษรธรรมโบราณได้กล่าวถึงการซอพื้นเมืองในงานเฉลิมฉลองพระวิหารในสมัยของพญาอโศก จึงอาจจะกล่าวได้ว่า ซอพื้นเมืองนั้นมีมาเมื่อหลายร้อยปีมาแล้วการซอเป็นการขับขานของคนล้านนาที่มีอยู่คู่กับสังคมและวิถีชีวิตมาช้านาน ซึ่งหากจะค้นหาถึงต้นกำเนิดว่า “เพลงซอ” เกิดขึ้นในยุคสมัยใด ก็ยังไม่สามารถระบุวันเวลาได้แน่ชัด แต่จากหลักฐานในหนังสือลิลิตพระลอก็พบว่ามีมาตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว โดยเป็นการซอ
ประกาศความงามของพระเพื่อน พระแพง
ในปัจจุบันได้แบ่งประเภทของการซอออกเป็นหลายประเภทและจะเรียกชื่อของแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน การนำมาใช้งานก็จะต่างกันด้วย บุญศรี รัตนัง ศิลปินซอพื้นเมืองซึ่งได้อนุรักษ์การซอเอาไว้กล่าวว่า การซอของคนพื้นเมืองนั้นแบ่งออกเป็นหลายทำนอง แต่ละทำนองก็จะใช้ซอในโอกาสที่ต่างกัน เช่น ทำนองตั้งเชียงใหม่ จะใช้ซอเป็นบทแรกของการซอ นอกจากนั้นก็จะมีทำนองจะปุ ทำนองระไม้ ทำนองอือ ทำนองเจ้าสุวัฒน์นางบัวคำและทำนองล่องน่าน เป็นต้น
ซอพื้นเมืองได้มีการพัฒนารูปแบบการแสดงไปจากอดีตอย่างมาก รูปแบบของการซอในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบด้วยกัน หากจะแบ่งรูปแบบของการซอในปัจจุบัน พบว่ามีด้วยกัน 2 รูปแบบคือ การซอแบบดั้งเดิมและการซอประยุกต์ เช่นในอดีตเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการซอแต่เดิมมีเพียงปี่อย่างเดียว ต่อมาในช่วงปี พ.ศ.2520 ได้เริ่มมีการนำซึงเข้ามาใช้แทนปี่แม่ จากรูปแบบของการซอเข้าปี่ธรรมดาก็เริ่มมีซอเข้าซึง ขณะเดียวกันในยุคนั้นเครื่องขยายเสียงเริ่มแพร่หลายมากขึ้น ช่างซอจึงเริ่มมีการใช้ไมค์โครโฟนและเครื่องขยายเสียงในการซอ ตั้งแต่นั้นมาเมื่อมีการซอที่ไหนช่างซอก็นิยมใช้เครื่องขยายเสียงและไมค์โครโฟนในการซอมาจนถึงปัจจุบัน
ต่อมาก็เริ่มมีการซออีกรูปแบบหนึ่งคือ “ละครซอ” เรื่องแรกที่นำมาทำเป็นละครซอเมื่อยุค 20 กว่าปีก่อนคือ ซอเรื่องน้ำตาเมียหลวง แอ่วสาวเมืองพร้าว ซอก้าระแหง โดยพ่อครูบุญศรี สันเหมืองและแม่บัวซอน เมืองพร้าว หลังจากนั้นมาละครซอก็เริ่มแพร่หลายและมีคณะละครซอเกิดขึ้นมาหลายคณะ ละครซอสมัยแรก ๆ จะเป็นการแสดงละครเพียงอย่างเดียวไม่มีอะไรมาผสมผสาน แต่พอเริ่มมีการแข่งขันละครซอของคณะต่าง ๆ มากขึ้น ก็เริ่มมีการผสมผสานรูปแบบการแสดงใหม่ มีการนำดนตรีเข้าร่วม โดยพ่อครูก๋วนดา เชียงตา เป็นคนริเริ่มนำเอาเครื่องอิเลคโทนเข้าไปเล่นในคณะละครซอศรีสมเพชร 2 จากนั้นมาละครซอเกือบทุกคณะมีการนำเอาอิเลคโทนเข้าไปในการแสดง จากรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงของซอพื้นเมืองนี่เอง จึงทำให้ช่างซอมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของการซอไปด้วย พบว่าในช่วงนี้มีการซอคู่ในรูปแบบใหม่เกิดขึ้น เป็นการซอกับอิเลคโทน เรียกว่า “ซอสตริง” จากซอสตริงก็มีการอัดเทปและวงดนตรีที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นจะต้องมีการนำซอสตริงไปเล่นในงานแสดงด้วย
ส่วนรูปแบบของการซอในงานต่าง ๆ จากเดิมที่มีช่างซอเพียงคู่เดียวซอตลอดทั้งวัน โดยแบ่งเนื้อหาการแสดงออกเป็น 3 ช่วงตามกลุ่มผู้ฟัง คือในช่วงเช้า เป็นการซอฮ่ำการฮ่ำงาน ซอปัดเคราะห์ ซอปันพร ในช่วงบ่ายจะเป็นการซอแนวสนุกสนานเอาใจหนุ่มสาวส่วนในช่วงค่ำจะมีซอประกอบเพลง ประกอบดนตรีสอดแทรก แต่ในระยะหลัง ๆ เนื่องจากเหลือช่างซอรุ่นเก่าไม่มาก จึงต้องมีการแบ่งภาคโดยเอาช่างซอรุ่นใหม่เข้ามาช่วยอีก 1 – 2 คู่เพื่อมาซอในช่วงบ่าย ส่วนช่างซอรุ่นเก่าก็จะมาซอฮ่ำการฮ่างาน ซอประวัติงาน เป็นต้น ในช่วงบ่าย 3 – 5 โมงก็จะมีช่างซอรุ่นใหม่ที่พอรู้เชิงและมีลุกเล่นในการซอให้ความสนุกสนานบันเทิง ในช่วงสุดท้ายของรายการมีการเอาเพลงลูกทุ่งสมัยใหม่มาร้องในงานพร้อมกับอิเลคโทนการซอในปัจจุบันมีการเปิดโอกาสให้ช่างซอรุ่นใหม่ได้แสดงในงานร่วมกับพ่อครูแม่ครูของตน ซึ่งเป็นความพยายามของพ่อครูแม่ครูที่จะผลักดันให้ช่างซอรุ่นใหม่หรือลูกศิษย์ของตนมีประสบการณ์ในการแสดงมากขึ้น จากเดิมที่ช่างซอรุ่นใหม่จะมีหน้าที่เป็นเพียงคนติดตามพ่อครูแม่ครูไปตามงานต่าง ๆ แต่ไม่มีโอกาสร่วมซอในงานเหล่านั้น
นอกจากนั้นเครื่องดนตรีสำคัญที่ใช้ประกอบการซอของเชียงใหม่ ได้แก่ ปี่และซึง ซึ่งเครื่องดนตรีทั้งสองนับว่ามีความสำคัญคู่กับการซอมาโดยตลอด ทำให้การซอของช่างซอราบรื่น สนุกสนาน บางครั้งยังพบว่าหากช่างปี่ไม่สามารถบรรเลงหรือประสานเสียงปี่ให้เข้ากันได้
การซอก็จะเกิดความติดขัด ปี่ที่ใช้ในการซอนั้นจะใช้เป็นชุดเรียกว่า “ปี่จุม” บรรเลงร่วมกันเป็นวงเรียก “วงปี่จุม” ในสมัยก่อนจะมีปี่ที่เล่น 3 เล่มคือ ปี่ก้อย ปี่กลางและปี่แม่ แต่ในปัจจุบันวงปี่จุมที่ร่วมกับคณะซอประกอบด้วยเครื่องดนตรี 4 ชิ้น คือ ปี่ก้อย ปี่กลาง ปี่ตัดและซึง

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น