พิธีสมโภชช้างพลาย เมื่อครั้ง ร.7 เสด็จเมืองเชียงใหม่

ปีพุทธศักราช 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้เสด็จประพาสเมืองเชียงใหม่ในครั้งนั้นพระองค์ได้รับการถวายช้างพลายสำคัญเชือกหนึ่งจากเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ของบริษัทบอร์เนียวซึ่งเป็นบริษัททำไม้ในภาคเหนือและเจ้านายฝ่ายเหนือ ข้า
ราชการมณฑลพายัพได้พร้อมใจถวายทูลเกล้าฯช้างพลาย ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามว่า “พระเศวตคชเดชดิลก”
ในการจัดพระราชพิธีสมโภชช้างพลายพระเศวตคชเดชดิลกนั้น ได้กระทำขึ้นพร้อมกับพระราชพิธีทูลพระขวัญและพระราชทานพระแสงราชศัสตรานครเชียงใหม่และพระราชพิธีพระราชทานธงประจำกองลูกเสือของมณฑลพายัพ โดยพิธีทั้งหมดนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 – 27 มกราคม 2469 ณ บริเวณสนาม
หน้าโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย มีเจ้าแก้วนวรัฐเป็นประธานพร้อมด้วยเจ้านายฝ่ายเหนือและข้าราชการมณฑล ประกอบด้วยพระยาราชนุกุล สมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพเป็นหัวหน้าพระราชพิธีสมโภชช้างพลายในครั้งนั้น เจ้านายฝ่ายเหนือพร้อมด้วยประชาชนชาวเชียงใหม่ได้จัดถวายโดยได้สร้างโรงช้างต้นขึ้น ซึ่งแต่เดิมโรงช้างต้นนั้นจะสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ไว้ช้างสำคัญของเมือง ส่วนใหญ่สร้างขึ้นด้วยไม้ทั้งหลังมุงด้วยใบตองตึงนิยมหันหน้าไปทางทิศเหนือ
มีหลักฐานบันทึกในพระราชพิธีสมโภชพระเศวตคชเดชดิลก ตอนหนึ่งความว่า วันที่ 27 มกราคม 2469 เป็นวันกำหนดงานสมโภชช้างพลายสำคัญที่บริษัทบอร์เนียวถวาย เจ้าพนักงานได้เตรียมพระราชพิธีไว้ในโรงช้างซึ่งตั้งอยู่ตรงหน้าที่ประทับตั้งโต๊ะหมู่ประดิษฐพระชัยวัฒน์เงินหริ่งช้าง ตั้งพระเต้าประทุมนิ
มิตรน้อยทองเงิน พร้อมด้วยเครื่องนมัสการทองทิศตั้งอานิสงส์ ทอดพระราชอาสน์และเก้าอี้ที่ประทับ พระบรมวงศานุวงศ์ด้านทิศใต้โรงช้าง ปลูกปะรำและปักเต็นท์รูปไข่เป็นที่ข้าราชการเฝ้า ส่วนที่พลับพลาทองทอดพระราชอาสน์ตั้งเก้าอี้ พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการไว้พร้อมเสด็จ พอจวนเวลาเจ้าแก้วนวรัฐพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ช้างต้นได้จัดกระบวนช้างแห่ช้างพลายสำคัญจากที่พักเชิงดอยสุเทพเขามาในเมืองเวลา 16.30 น. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จออกพลับพลาทอง โปรดเกล้าให้เดินขบวนแห่นำช้างพลายสำคัญพร้อมด้วยลิงเผือกเข้าสู่โรงช้างสมโภช พลเดินเท้าถือเครื่องอาวุธเมื่อช้างพลายสำคัญเข้าสู่โรงสมโภชช้างแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จจากพลับพลาทองโดยทางลาดพระบาทไปยังโรงช้าง ทหารราบที่ 8 กองเกียรติยศกระทำวันทยาวุธ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประเคนไตรย่ามแด่พระสงฆ์ 20 รูป เจริญพระพุทธมนต์มีพระเทพมุณีเป็นองค์ประธาน จากนั้นพระสงฆ์ออก
ไปครองผ้าไตร เสร็จแล้วกลับมานั่งยังอาสนะ ทรงเทียนเครื่องนมัสการและทรงศีลแล้วพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
เมื่อสวดมนต์จบแล้ว ทรงประเคนจัตุรปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์ถวายอนุโมธนา พระราชาคณะถวายอดิเรก จากนั้นทรงหลั่งน้ำพระพุทธมนต์และทรงสวมพวงมาลัยพระราชทานช้างพลายสำคัญ โปรดเกล้าฯ ให้พราหมณ์เบิกแว่น ข้าราชการเวียนเทียนสมโภช เจ้าพนักงานประเคนเครื่องดุริยางค์พอครบ 3 รอบพราหมณ์สวมแว่น ดับเทียนจุดเจิมเป็นอันเสร็จพิธีโรงช้างต้นภายหลังที่ประกอบพระราชพิธีสมโภชช้างพลายพระเศวตคชเดชดิลกแล้ว ทางราชการได้ดัดแปลงใช้เป็นสถานที่ทำงานของส่วนราชการ
โดยจัดเป็นหอสมุดแห่งชาติสาขาจังหวัดเชียงใหม่ ให้กรมศิลปากรเป็นผู้รับผิดชอบ ต่อมาในปี พ.ศ.2511 กรมศิลปากรได้มอบโรงช้างต้นให้เป็นสมบัติของโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยและให้ทางโรงเรียนเป็นผู้ดูแลรักษาโรงช้างต้นได้รับการบูรณะหลายยุคหลายสมัยจากพ่อเมืองเชียงใหม่ ซึ่งได้เล็งเห็นคุณค่าของอาคารประวัติศาสตร์ โดยได้เริ่มซ่อมแซมมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 จนถึงพ.ศ.2535 ปัจจุบันโรงช้างต้นได้รับการปรับปรุงให้เป็นอาคารเรียนวิชาดนตรีของโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย มีการอนุรักษ์รูปทรงของโรงช้างต้นแบบดั่งเดิมเอาไว้ ซึ่งนับว่าเป็นอาคารประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าแห่งหนึ่งของเมืองเชียงใหม่
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น