จุดโคมไฟ ไหว้สา ปาเวณียี่เป็งล้านนา

เมื่อถึงวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 หรือที่คนเมืองเหนือเรียกว่า “เดือนยี่เป็ง” (ราวเดือนพฤศจิกายน) ในภาคเหนือได้จัดให้มีงานประเพณียี่เป็งขึ้นอย่างยิ่งใหญ่งดงาม นอกจากนั้นแล้วในงานดังกล่าวยังมีการเฉลิมฉลองอย่างครึกครื้นสนุกสนาน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะงานประเพณียี่เป็งมีความผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทยมาตั้งแต่อดีตกาล
บางครั้งประเพณียี่เป็งนั้นทางภาคเหนือในอดีตเมื่อนานมาจะเรียกว่า “พิธีลอยโขมด” สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากพวกมอญในสมัยหริภุญชัย การลอยกระทงถือเป็นการระลึกนึกถึงหมู่ญาติที่อาศัยอยู่ในเมืองหงสาวดี ต่อมาภายหลังจึงได้เปลี่ยนมาเป็นการบูชา พระพุทธบาท นอกเหนือจากการลอยกระทงแล้วยังมีประเพณีการจุดประทีปโคมไฟเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ตามความเชื่อของผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ
ในงานประเพณียี่เป็ง นอกจากการจุดผางประทีปโคมไฟและธูปเทียนเพื่อเป็นการบูชาพระพุทธเจ้า บูชาเจดีย์และบูชาต้นโพธิ์แล้ว ยังมีประเพณีชักแขวนโคมไฟขึ้นไว้บนปลายเสาเพื่อเป็นพุทธบูชาก็มีความหมายหนึ่งในทางพุทธศาสนา โดยในการแขวนโคมไฟนี้อาจจะ ทำเป็นรูปลักษณะต่าง ๆ ตามแต่ศรัทธาและสามารถในการทำขึ้น จากเอกสารโบราณของล้านนาไม่ได้บอกที่มาของประเพณีการชักแขวนโคมไฟ แต่อย่างไรก็ตามย้อนหลังไปเมื่อประมาณพันกว่าปีก่อน ในตำนานเรื่อง “สุวรรณโคมคำ” กล่าวถึงการชักแขวนโคมไว้ว่า มหาเสนาบดี
ซึ่งเป็นกษัตริย์แห่งเมืองสุวรรณโคมคำและเหล่าบรรดาบริวารทั้งหลายได้ชักโคมไฟขึ้นไว้บนปลายเสาที่ปักเรียงรายอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง หรือ “ขลนที” เพื่อบนบานให้แพของพระราชธิดาคือสุวรรณทวารมุขลอยทวนกระแสน้ำขึ้นมา
แม้ว่าในปัจจุบันเราจะเห็นว่ามีการแขวนโคมไฟไว้ตามอาคารบ้านเรือนต่าง ๆ แต่ก็ไม่ทราบความหมายที่แท้จริง เพราะเมื่อถึงเทศกาลยี่เป็งขึ้นมาคราใดก็มักจะเห็นบ้านเรือนประดับตกแต่งด้วยโคมไฟเสมอมา แต่อย่างน้อยความเชื่อหนึ่งที่บรรดาชาวพุทธทั้งหลายพากัน แขวนโคมไฟไว้ตามบ้านเรือนก็เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาเป็นการส่องแสงสว่างให้กับตัวเอง อีกทั้งยังช่วยเพิ่มสีสันของงานประเพณียี่เป็งให้คึกคักสวยงามนอกจากนั้นในช่วงงานยี่เป็งล้านนา ตามวัดต่าง ๆ จะมีการเทศน์มหาชาติชาดกตลอดทั้งวัน รวมถึงการปล่อยโคมลอยขึ้นฟ้า ชาวบ้านจะพากันไปวัดเพื่อฟังเทศน์มหาชาติหรือเรียกว่า เทศน์ธรรมหลวง แต่ละบ้านจะมีการทำซุ้มประตูตกแต่งด้วยต้นกล้วย อ้อย ส่วนกลางคืนก็จะมีการละเล่น เช่น ฉายหนังกลางแปลง แข่งจุดบอกไฟดอกและการแสดงซอพื้นเมือง ซึ่งเป็นพิธีที่ชาวล้านนากระทำกันมาตั้งแต่อดีตกาล
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น