ความลี้ลับของ “ถ้ำผีแมน”

อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งอารยธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์เก่าแก่แห่งหนึ่งของประเทศไทย พื้นที่โดยทั่วไปมีลักษณะภูมิประเทศเป็นเขาหินปูน จึงทำให้มีการสำรวจพบโถงถ้ำน้อยใหญ่มากมายกว่า 200 ถ้ำ และยังคาดคะเนกันว่าน่าจะมี
ถ้ำอีกไม่น้อยที่หลุดรอดไปจากสายตาของกลุ่มนักสำรวจ จนกระทั่งอำเภอปางมะผ้าได้รับสมญาว่าเป็นเมืองแห่งถ้ำ กลุ่มถ้ำที่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอปางมะผ้าและพื้นที่โดยรอบ ต่างมีคุณค่าและความงดงามที่แตกต่างกันออกไป บางถ้ำมีการตกตะกอนของหินปูนและก่อให้เกิดหินงอกหินย้อยอันวิจิตรงดงามขนาดใหญ่ หรือแม้แต่ถ้ำที่ไม่มีการสะสมของหินงอกหินย้อย ก็ยังพบว่าเคยเป็นที่ พักอาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์
กระทั่งปี พ.ศ.2529 จังหวัดแม่ฮ่องสอนเปิดตัวเองด้วยการจัดเป็นปีการท่องเที่ยวแม่ฮ่องสอน และถ้ำที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในเขตอำเภอปางมะผ้า จึงได้รับการส่งเสริมเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นถ้ำน้ำลอดหรือ “ถ้ำลอด” ถ้ำที่แม่น้ำลาง แม่น้ำ
สายหลักของอำเภอปางมะผ้าลอดผ่านเข้าไปในตัวถ้ำก่อนจะไหลไปรวมกับแม่น้ำปาย หรือแม้แต่ “ถ้ำแม่ละนา” ซึ่งจัดว่าเป็นถ้ำที่ลึกที่สุดในเอเชีย มีความลึกกว่า 14 กิโลเมตรในแนวนอน ขณะที่ถ้ำ “น้ำบ่อผี” มีความลึกในแนวดิ่งกว่า 100 เมตร และลึกลงไปในหุบเหว ก็ยังมีต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้น อยู่อย่างหนาแน่นเมื่อหลายปีก่อนได้มีการสำรวจภายในถ้ำของอำเภอปางมะผ้า พบโลงศพโบราณที่ทำจากไม้ทั้งต้นขุดเอาเนื้อไม้ออก มีลักษณะเป็นไม้ทั้งต้นผ่าซีกประกบกันทั้งสองด้านชาวบ้านเรียกโลงศพที่พบพวกนี้ว่าเป็นโลงศพของ “ผีแมน”
นอกจากนี้ในบริเวณถ้ำยังพบภาพเขียนสี โบราณตามผนังถ้ำ ซึ่งนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าในอดีตบริเวณนี้อาจเคยเป็นที่อยู่เก่าของพวกผีแมน ความเชื่อของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ที่นี่เชื่อว่า ถ้ำผีแมนมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยปกป้องคุ้มครองอยู่ ในอดีตที่ผ่านมาชาวบ้านไม่ค่อยมีใครกล้าเข้าไปในบริเวณถ้ำ เพราะกลัวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทำร้าย ชาวบ้านเชื่อว่าโลงผีแมนที่อยู่ในถ้ำ ใช้บรรจุกระดูกและข้าวของเครื่องใช้คนตาย
จากนั้นจะนำไปไว้ภายในถ้ำที่อยู่สูง ทั้งนี้เพื่อส่งวิญญาณของผู้ตาย ให้ขึ้นไปสู่สรวงสวรรค์ โลงผีแมนที่พบภายในถ้ำผีแมน มีลักษณะเป็นท่อนไม้ส่วนกลางขุดเป็นร่องคล้ายเรือ มีขนาดเล็กและใหญ่หลายโลงด้วยกัน แต่ละโลงถูกวางอยู่บนคานเสา 4-6 ต้นตั้งกับพื้นถ้ำที่เจาะเป็นช่องเพื่อสอดคานไว้พาดโลงผีแมน นักวิชาการสันนิษฐานว่าโลงผีแมนดังกล่าวน่า จะมีอายุประมาณ 2,000 ปี
นอกจากชุมชนไทยใหญ่ที่บ้านแม่ละนาแล้ว พื้นที่โดยรอบยังเป็นที่ตั้งของชุมชนล่าหู่ หรือ “มูเซอ” อีก 2 หมู่บ้าน คือบ้านบ่อไคร้และบ้านจ่าโบ่ ทั้งสองชุมชนต่างก็ได้รับผลกระทบในด้านบวกและลบที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวเช่นกัน ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ชาวบ้านถูกดึงเข้า
มาในโครงข่ายความซับซ้อนของการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันก็ไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวในพื้นที่และนอกจากนั้นยังรับเอาแนวคิดผิด ๆ เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เข้าไปด้วยเช่นกัน
ชุมชนทั้งสามหมู่บ้านซึ่งจัดว่าเป็นตัวแทนของภาพรวมของจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้เป็นอย่างดี ได้รวมตัวกันเพื่อหารือในประเด็น “การจัดการถ้ำ” เพราะพื้นที่ในบริเวณของ 3 หมู่บ้านเป็นที่ตั้งของถ้ำสำคัญถึง 3 แห่งและมีนักท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบเข้ามาเยี่ยมเยือน
ซึ่งมีทั้งชาวบ้าน มีส่วนในการจัดการด้วยตนเอง และแบบธุรกิจท่องเที่ยวนอกชุมชน เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาสัมผัสความมหัศจรรย์แห่งถ้ำผีแมน ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ พึงควรปฏิบัติตามกฏของหมู่บ้านอย่างเคร่งครัด เช่น ไม่ควรตัดไม้ทำลายป่า ไม่ขีดเขียนตามผนังถ้ำ ประการสำคัญไม่ควรสร้างความเสียหายให้กับโลงผีแมน
ปัจจุบันถ้ำผีแมนแห่งอำเภอปางมะผ้า ไม่ใคร่เป็นที่รู้จักมักคุ้นในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทยมากนัก ทว่าถ้ำผีแมนแห่งนี้ได้ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ พากันเดินทางเข้ามาสัมผัสธรรมชาติ ค้นหาความพิศวงที่แฝงเร้นอยู่ในถ้ำ หากว่าได้รับการดูแลเอาใจใส่จาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เชื่อว่าสถานที่แห่งนี้จะเป็นที่พักผ่อนและท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่นักเดินทางอยากจะเข้ามาสัมผัสสักครั้งแน่นอน บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น