วัดเจ็ดยอด สถานที่สังคยนาพระไตรปิฏกครั้งแรกของไทย

วัดเจ็ดยอด เป็นวัดวัดโบราณที่พระเจ้าติโลกราช พระราชาธิบดีองค์ที่ 22 แห่งราชวงศ์มังราย โปรดให้หมื่นด้ามพร้าคด หรือ สีหโคตเสนาบดี เป็นนายช่างทำการก่อสร้าง ตั้งแต่ปี พ.ศ.1999 เมื่อสถาปนาอารามสำเร็จแล้ว พระเจ้าติโลกราชโปรดให้นิมนต์พระมหาเถระชื่อ พระอุตตมปัญญา มาสถิตเป็นอธิบดีองค์แรกแห่งหมู่สงฆ์ในอารามนี้ ครั้งนั้นพระเจ้าติโลกราชได้ทรงสดับธรรมบรรยายจากสำนักพระภิกษุสีหล เรื่องอานิสงส์ปลูกต้นโพธิ์ จึงโปรดให้แบ่งหน่อมหาโพธิ์ต้นเดิมที่พระภิกษุสีหลนำมาจากศรีลังกาเอามาปลูกขึ้นไว้ในอารามป่าแดงหลวง เชิงดอยสุเทพ นำมาปลุกไว้ในอารามที่สร้างขึ้นใหม่ เหตุที่หน่อมหาโพธิ์ปลูกในอารามแห่งนี้ จึงได้รับการขนานนามว่า “วัดมหาโพธาราม”
วัดเจ็ดยอด เป็นอารามที่มีความสำคัญยิ่งทางพุทธศาสนาในอาณาจักรล้านนา ปีพุทธศักราช 2020 พระเจ้าติโลกราช โปรดให้จัดการประชุมพระเถรานุเถระทั่วทุกหัวเมืองในอาณาจักรล้านนา แล้วทรงคัดเลือกได้พระธรรมทิณเจ้าอาวาสวัดป่าตาล ผู้เจนจัดในพระบาลีเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พระเจ้าติโลกราชทรงรับเป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์ทำสังคายนาพระไตรปิฏก ณ วัดมหาโพธารามปีหนึ่งจึงสำเร็จเรียบร้อย การสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งใหญ่เป็นลำดับที่ 8 นับเนื่องได้ทำมาแล้วที่ประเทศอินเดียและศรีลังการวมเจ็ดครั้ง และการทำสังคายนาพระไตรปิฏกที่วัดมหาโพธารามก็นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
ศิลปกรรมที่มีความสำคัญเนื่องด้วยพระพุทธศาสนาซึ่งนำมาโดยพระภิกษุสิหลนิกายสู่อาณาจักรล้านนาแต่สมัยกลางพุทธศตวรรษที่ 19 จำนวนหลายแห่งด้วยกัน

โบราณสถานของวัดนี้มีความสำคัญต่อเนื่องด้วยประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่และมีคุณค่าในทางศิลปกรรมประเภทพุทธศิลป์ในสมัยล้านนาที่น่าสนใจได้แก่มหาวิหาร เป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญยิ่งกว่าโบราณสถานแห่งอื่น ทั้งนี้เนื่องด้วยมหาวิหารแห่งนี้พระเจ้าติโลกราชโปรดให้ใช้เป็นสถานที่ประชุมพระเถรานุเถระทั่วอาณาจักรล้านนา มหาวิหารแห่งนี้ได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ.2020 โดยมีหมื่นด้ามพร้าคด หรือ สีหโคตเสนาบดี เป็นนายช่างทำการก่อสร้างพระสถูปเจดีย์พระเจ้าติโลกราช พระสถูปองค์นี้พระยอดเชียงใหม่พระราชาธิบดีองค์ที่ 11 แห่งราชวงศ์มังราย พระราชนัดดาของพระเจ้าติโลกราช โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิของพระเจ้าติโลกราช เมื่อปี พ.ศ.2031 พระสถูปเจดีย์พระเจ้าติโลกราช เป็นชนิดก่ออิฐถือปูน ลักษณะรูปทรงเป็นแบบทรงมณฑปสี่เหลี่ยมย่อมุม

มีซุ้มคูหาเป็นจัตุรมุข หลังคาทรงบัวคลุ่ม ส่วนเครื่องยอดต่อขึ้นไปก่อเป็นพระสถูปทรงระฆังอย่างเจดีย์สีหล ซุ้มคูหาด้านนอกทิศตะวันออกทำลึกเข้าไปในตัวมณฑป ประดิษฐานพระพุทธปฏิมากรปูนปั้นองค์หนึ่งปางมารวิชัย กล่าวกันว่าเป็นพระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์พระเจ้าติโลกราชอีกด้วย

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น