สอศ.เดินหน้า จัดการเรียนการสอนระบบทวิภาคี สาขาธุรกิจค้าปลีก ลงนามความร่วมมือภาคธุรกิจ

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดย นางปัทมา วีระวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และ บริษัท เซ็นทรัล วัตสัน จำกัด โดย นายจิระวัฒน์ แต่งเจนกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล ร่วมลงนามความร่วมมือ เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ประเภทวิชาบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการธุรกิจค้าปลีก ซึ่งได้รับความร่วมมือจากร้านสาขานำร่อง 40 แห่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ณ ห้องประชุม 5 ชั้น 1 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) รองเลขาธิการ คณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สอศ. มีหน้าที่ในการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาและฝึกอบรมวิชาชีพ เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนด้านวิชาชีพในระดับฝีมือ ระดับเทคนิค และระดับเทคโนโลยี ให้มีคุณภาพและมาตรฐานสอดคล้องตามความต้องการของสถานประกอบการ ในการพัฒนาการจัดการอาชีวศึกษาเพื่อร่วมกันพัฒนาหลักสูตร และพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพ ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ประเภทวิชาบริหาธุรกิจ สาขาการจัดการธุรกิจค้าปลีก และสาขาที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท
การลงนามครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการจัดการอาชีวศึกษา และการฝึกอบรมวิชาชีพ เอื้ออำนวยให้ร้านสาขาของบริษัทเป็นแหล่งการเรียนรู้ และเป็นสถานที่ฝึกอบรมวิชาชีพให้แก่นักศึกษาสังกัด สอศ. ในสาขาวิชาที่บริษัทมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้แก่นักศึกษาระบบทวิภาคี ตลอดจน บุคลากร และครู ในการเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ และเพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษา ได้เข้ารับการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ และทักษะจากการปฏิบัติงานจริงภายในบริษัท และร้านสาขาของบริษัท เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ที่นอกเหนือจากในตำราหรือห้องเรียน ตลอดจนเป็นการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรและงานด้านวิชาการ ให้มีความก้าวหน้าสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ นายจิระวัฒน์ แต่งเจนกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางบริษัทจะจัดโปรแกรมการเรียนการสอน ให้ความรู้ ฝึกอบรมวิชาชีพ และทักษะประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ ให้แก่นักศึกษา รวมทั้งจัดทำแผนการเรียนการสอน แผนการฝึกทักษะวิชาชีพ ร่วมกับสอศ. และสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ พร้อมทั้งจัดครูฝึก อุปกรณ์ และสถานที่ในการจัดการเรียนการสอน และการฝึกอบรมที่จำเป็นให้เพียงพอต่อจำนวนนักศึกษา กำหนดวิธีการนิเทศ ติดตามประเมินผล เพื่อพัฒนาและปรับปรุงแก้ไข ปัญหา อุปสรรค ในการจัดการศึกษาร่วมกัน รวมทั้งบริษัทจะสนับสนุนสวัสดิการต่าง ๆที่นักศึกษาจะได้รับจากการเข้าฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ได้แก่ ค่าเบี้ยเลี้ยงระหว่างการฝึกประสบการณ์ ค่าเดินทางในการฝึกในสถานประกอบการ ค่าที่พัก ทุนการศึกษา เครื่องแบบ ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันอุบัติเหตุ ส่วนลดสินค้าภายในร้านวัตสัน ประกาศนียบัตรรับรองการเป็นนักศึกษาของโครงการฯ และเมื่อนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาตามเกณฑ์ที่บริษัทกำหนด จะมีโอกาสได้รับการพิจารณาคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นพนักงานประจำ ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการสาขาฝึกหัดของบริษัท
รองเลขาธิการ กล่าวต่อไปว่า การดำเนินการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษา ระบบทวิภาคี ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ประเภทวิชาบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการธุรกิจค้าปลีก มีวิทยาลัยที่เข้าร่วม 13 แห่ง ดังนี้ วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกมหานคร วิทยาลัยเทคนิคปทุมธานี วิทยาลัยเทคนิคธัญบุรี วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ วิทยาลัยบริหารธุรกิจและการท่องเที่ยวกรุงเทพ วิทยาลัยพณิชยการเชตุพน วิทยาลัยพณิชยการธนบุรี วิทยาลัยพณิชยการอินทราชัย วิทยาลัยพณิชยการบางนา วิทยาลัยอาชีวศึกษาธนบุรี วิทยาลัยอาชีวศึกษาเอี่ยมละออ วิทยาลัยเทคโนโลยีจรัญสนิทวงศ์ และวิทยาลัยเทคโนโลยีไทยบริหารธุรกิจ ทั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากร้านสาขานำร่อง 40 แห่ง ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล (นนทบุรีและสมุทรปราการ) “สอศ. เชื่อมั่นว่าความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาด้านอาชีวศึกษา ให้มีคุณภาพนำไปสู่การพัฒนาเยาวชนให้มีความพร้อมในการประกอบอาชีพเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป” รองเลขาธิการ กล่าวปิดท้าย
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สอศ.

ร่วมแสดงความคิดเห็น