ความเป็นมาของ “สะพานนวรัฐ” เชียงใหม่

สะพานนวรัฐ เพราะถือว่าเป็นสะพานสำคัญในการข้ามแม่น้ำปิงระหว่างฝั่งตะวันออกจากย่านสันป่าข่อยไปยังฝั่งตะวันตกย่านท่าแพ สะพานนวรัฐ ที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นเจอเนอเรชั่นที่ 3 หรือพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ว่าสร้างขึ้นมาถึง 3 ยุคแล้ว
สะพานอันแรกสร้างขึ้นด้วยไม้สักล้วน (ประมาณปี พ.ศ.2440 – 2450) เป็นสะพานแบบคานยื่น โดยวิศวกรชาวอิตาเลียนชื่อ เคานต์ โรเบอร์ตี้ เป็นผู้ออกแบบและก่อสร้าง สร้างบนตอม่อไม้สัก 6 ตอม่อด้วยกัน โครงส่วนบนสร้างด้วยไม้สักล้วนทำเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลมมีอยู่ 5 ช่วง เคานต์ โรเบอร์ตี้ ผู้นี้ยังเป็นผู้สร้างสะพานข้ามแม่น้ำวังที่จังหวัดลำปางก่อนที่จะสร้างสะพานรัชฎาภิเษกขึ้นมาอีกด้วย
สะพานไม้สักนี้ เคยถูกไฟไหม้เสียหายบางส่วน ต่อมาในฤดูน้ำหลากถูกซุงไม้สักจำนวนมากกระแทกพังเสียหาย ประกอบกับในช่วงเวลานั้นได้มีการสร้างทางรถไฟขึ้นมาถึงเชียงใหม่ ทางราชการจึงได้รื้อออกแล้วสร้างเป็นสะพานแห่งที่ 2 ขึ้นมา สะพานแห่งที่ 2 นี้ใช้ชื่อว่า “สะพานนวรัฐ”

เพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่สมัยนั้น สะพานแห่งนี้เป็นสะพานโครงเหล็ก สร้างบนตอม่อคอนกรีตเสริมเหล็ก ส่วนบนเป็นโครงเหล็กล้วนมี 5 ช่วง สร้างโดย มาควิส กัมเบียโซ่ วิศวกรชาวอิตาเลียน โดยโครงเหล็กทั้งหมดส่งมาจากบริษัทคลิฟแลนด์ ประเทศอังกฤษในยุคที่สร้างสะพานแห่งที่ 2 หรือ “ขัวเหล็ก” ได้มีการสร้างทางรถไฟมาถึงเชียงใหม่แล้ว สะพานแห่งนี้รับใช้ชาวเชียงใหม่ได้หลายสิบปี เมื่อชียงใหม่มีความเจริญขึ้น ยวดยานพาหนะก็มีจำนวนมากขึ้นด้วย สะพานซึ่งสร้างมานานเริ่มมีความคับแคบไม่เหมาะสมกับสภาพการจราจรในสมัยนั้น ทางการจึงได้รื้อ “ขัวเหล็ก” ออกแล้วสร้างสะพานแห่งที่ 3 ขึ้นซึ่งเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กที่ใช้กันในปัจจุบัน

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น