ประเพณีล้านนา ปาไปแอ่ว “ปอย” เมืองยอง

ในเมืองยองจะเรียกประเพณีหรือพิธีกรรมต่าง ๆ แตกต่างกันไป เหมือนเช่นกับล้านนา หรือในบรรดาคนไตทั้งหลาย เช่น ล้านนา สิบสองปันนา เชียงตุง แต่ละเมืองก็จะมีวิธีการความเชื่อที่แตกต่างกันไป แต่ในเมืองยองจะมีหลายรูปแบบ คือ ตานธรรม ตานออกพรรษา เข้าพรรษา ตานมหาปาง จะเรียกคำนำหน้าว่า “ตาน” แต่เดิมในเมืองยองจะไม่มีคำว่าปอย จะเรียกว่า “มหรสพ” หรือการเฉลิมฉลองต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับส่วนรวม จะมีทั้งการแสดงการละเล่นต่าง ๆ ภายในงาน คำว่า “ปอย” เป็นภาษาพม่า ในเมืองพึ่งใช้คำนี้ ในภายหลัง เนื่องจากมีปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้ต้องใช้และทำให้คำว่า “มหรสพ” หายไป ตอนเมื่อพม่าเข้ามามีอิทธิพลในการปกครองเมืองในช่วงหลัง และยังมีหลาย ๆ คำที่เป็นภาษาพม่า เช่น คำว่า “สล่า” หรือช่างต่าง ๆ 
แม้กระทั้งในล้านนาเองก็ยังได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมของพม่าก็เรียก “ปอย” เหมือนกัน ในรูปแบบและความหมายของคำว่าปอยในเมืองยอง ในเมืองจะเรียกปอยก็ต่อเมื่องานเหล่านั้นเป็นงานหน้าหมู่ คือมีการเตรียมการกันเป็นเดือน หรือมากกว่า และมีการละเล่นต่าง ๆ ภายในงาน มีการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบการเล่าสืบต่อ ๆ กันไป ถ้าเป็นปอย “บอกไฟ” หรือปอยบั้งไฟ พวก “เก๊าบ่าว” หรือกลุ่มหนุ่มสาวก็จะมีการเตรียมการฝึกฟ้อน มีทั้งฟ้อนรำวง ฟ้อนดาบฟ้อนเจิง พระหรือปราชญ์ในหมู่บ้านก็จะช่วยกันแต่ง “กำฟ้อนบอกไฟ” หรือเพลงฟ้อนบั้งไฟและให้ “อ่อนญิงอ่อนจาย” หรือหนุ่มสาวฝึกร้องกันจนคล่อง ในการฝึกก็จะมีเด็ก ๆ ทั้ง 
“อะน้อย” หรือเด็กน้อยทั้งหญิงและชายมาร่วมฝึกซ้อมร้องด้วย เดือนทั้งเดือนในหมู่บ้านจะได้ยินเสียงคน “ว่ากำฟ้อนบอกไฟ” หรือร้องเพลงฟ้อนบั้งไฟกันทั่วหมู่บ้านอย่างสนุกสนาน ทั้งพระและชาวบ้านก็จะเริ่ม “กุ๋มถ่านบอกไฟ” หรือเผาถ่านบั้งไฟ และพร้อมเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือ เพื่อทำบั้งไฟกันกัน บั้งไฟก็จะมีทั้งบั้งไฟหมื่นถึงบั้งไฟแสน และจะทำเป็น “เครือ” หรือเป็นชุด ๆ หนึ่งก็จะมีตั้งแต่ 3 บอกขึ้นไป ส่วนหัววัดศรัทธา “ต่างบ้านต่างจอง” หรือหัววัดบ้านอื่นเมืองอื่นที่ถึงกันก็จะเตรียมบั้งไฟของตนเองเข้าร่วมปอย แต่ในปอยนี้จะไม่มีการแข่งขันเพื่อชิงเอารางวัลกัน แต่ทุกคนนำมาเพื่ออวดอ้างความมีฝีมือและจุดเพื่อเป็นพุทธบูชาหรือตามความเชื่อมากกว่ารางวัล ก่อนถึงวันปอยประมาณ 2 อาทิตย์กลุ่มหนุ่มสาว ๆ หรือแม่ค้าก็จะมาจองพื้นที่เพื่อ “แป๋งตูบปอย” หรือทำประรำขายของ จะมีทั้งกลุ่มหนุ่มสาวจากในบ้านและต่างบ้านมาจับจองและไม่ต้องมีการเสียค่าเช่าพื้นใด ๆ ทั้งสิ้นใครอยากได้ตรงไหนก็จับจองเอาตามสะดวก เมื่อทุกอย่างพร้อมและถึงเวลาก็จะมีการแห่บั้งไฟไปพักไว้จุด “ผามเปียงในปอย” หรือประรำในปอยที่เตรียมไว้บั้งไฟจะมีหลาย “เครือ” หรือหลายชุดมีเป็นร้อย ๆ ชุด แต่จะจุดให้ครบตาม
วันปอยคือจะมีปอย 5 – 10 วัน เมื่อทาง “เก๊าโกปะกะ” หรือเจ้าหน้าที่ทางศาสนา ประกาศออก “เผือนเผือ” หรือเครื่องเสียงฮอน ให้เจ้าของหรือสล่าบั้งไฟทราบว่าตกเป็นคิวที่จะต้องจุดตามลำดับ เจ้าของบั้งไฟก็จะมากันเป็นกลุ่มเพื่อช่วยกันนำบั้งไฟขึ้น “ก้าง” หรือฐานจุด ก่อนจุดบั้งไฟก็จะ “ว่ากำบอกไฟ” หรือร้องเพลงบั้งไฟนำหน้าพร้อมกับฟ้อน มีการตีคล้องตีกลองนำหน้าขบวนบั้งไฟ เมื่อนำขึ้นฐานจุดแล้วก็จะมีการร้องเพลงฟ้อนบั้งไฟ ฟ้อนดาบฟ้อนเจิงกันจนอิ่มก่อนถึงจะจุดบั้งไฟ เมื่อจุดบั้งไฟแล้วไม่ว่าบั้งไฟจะแตกหรือจะขึ้นก็จะต้องไปนำเอาตัวบั้งไฟกลับ
มาแล้วให้สล่าหรือเจ้าของบั้งไฟขึ้นขี่แล้วแห่รอบงานปอยพร้อมร้องเพลงฟ้อนบั้งไฟไปด้วยอย่างสนุกสนานพร้อม “ตกซู” หรือให้กำลังใจแก่เจ้าของบั้งไฟ ส่วนการตานหรือทำบุญก็จะไปตานวันสุดท้ายของงานพร้อมกัน ในระหว่างปอยครูบาก็จะผักคอยต้อนรับคณะศรัทธาและหัววัดต่าง ๆ ภายในวิหาร ไม่ว่าจะเป็นการปอยกุฏิ วิหาร หรืออย่างอื่นที่เป็นการก่อสร้างถาวรวัตถุภายในวัด สาเหตุที่ยกปอย “บอกไฟ” หรือปอยบั้งไฟขึ้นมาก็เพราะเป็นความนิยมของสังคมคนยองในเมืองยองปัจจุบัน แต่ในสมัยก่อนก็จะมีปอยหลายอย่าง เช่น ปอยแข่งเรือ ปอยวังหงส์ ปอยธาตุ หรือปอยไหว้พระธาตุ เป็นต้น
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น