แชร์ออนไลน์ หลอกชาวบ้านหนัก หวั่นความเสียหายพุ่ง

กลุ่มเพื่อนทนาย เชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาการเล่นแชร์ เริ่มส่งผลกระทบหลากหลายด้านต่อเศรษฐกิจ สังคม และมีแนวโน้มผู้เสียหายส่วนหนึ่งจะใช้ความรุนแรง ยุติปัญหา หลังจากรอคอยกระบวนการต่าง ๆ ช่วยเหลือ รวมถึงกระแสสังคมโจมตี กรณีขอให้มีการจัดตั้งกองทุนเยียวยา ซึ่งกลายเป็นเรื่องตลกร้ายของสังคมไป
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีพรบ.การเล่นแชร์ พ.ศ. 2534ออกมา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในการเล่นแชร์หลายรูปแบบ เช่น แชร์ออนไลน์ ได้สร้างความเสียหายในมูลค่าที่สูง บางวงหรือที่เรียกว่าบ้านแชร์ มูลค่า นับพันล้านบาทก็มีเนื่องจากมีการโฆษณาจูงใจให้ประชาชนเล่นแชร์ผ่านทางเฟซบุ๊ก หรือแอปพลิเคชันไลน์ที่เรียกว่าแชร์ออนไลน์ แบ่งเป็น 2 แบบ คือแบบแรกที่มีพฤติการณ์แบบขอกู้นอกระบบ โดยเปิดวงแชร์ให้สมาชิกในกลุ่มประมูลสินค้า หรือเสนอเงินดอกเบี้ยที่สูง
พร้อมกำหนดการส่งเงินดอกเบี้ยพร้อมเงินต้น อาจเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 แบบที่ 2 คือการเล่นแบบแชร์ทั่วไปแต่อาศัยสื่อรูปแบบต่าง ๆ ที่อาจเข้าข่ายความผิดตามพรบ.การเล่นแชร์ 2534 และประมวลกฎหมายอาญาฐานฉ้อโกง โดยตั้งกลุ่มเชิญเพื่อนจากเฟซบุ๊กมาตั้งกลุ่มในไลน์ ตั้งเป็นหลายวง มีกำหนดส่งเงินเป็นงวด งวดเท่ากันตามจำนวนมือที่เล่น และมีการเก็บค่าดูแลวงแชร์ เมื่อสมาชิกส่งเงินงวดให้ตามกำหนดพร้อมทั้งประมูลหรือเปียแชร์ โดยเสนอดอกเบี้ยที่ สูงที่จะจ่ายในแต่งวด ด้วยประโยชน์ที่ล่อใจสูงจากดอกเบี้ย ทำให้สมาชิกเพิ่มยอดวงเงินมีการหาสมาชิกมาเพิ่มในวง เมื่อเท้าแชร์ได้
เงินจากสมาชิกก็จะ จ่ายให้สมาชิกเกิดความเข้าใจว่าธุรกิจมีผลตอบแทนดี ไม่กี่ครั้งก่อนจะเบี้ยวนัดไม่จ่าย สร้างความเสียหายในวงเงินที่สูงขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือ ของบ้านแชร์แต่ละแหล่ง ซึ่งเชียงใหม่เริ่มมีการร้องทุกข์หลายวงที่สร้างความเสียหายมูลค่าสูงขณะนี้
ทนายความดังในกลุ่มเพื่อนทนายเชียงใหม่อธิบายว่าการเล่นแชร์ ไม่ผิดกฎหมาย ทุกคน ทุกอาชีพเล่นได้มีกฎหมายรองรับ คือ พ.ร.บ.การเล่นแชร์ 2534 แต่การเป็นท้าวแชร์นั้นจะตั้งได้ไม่เกิน 3 วง มีลูกแชร์รวม 3 วงได้ไม่เกิน 30 คน วงเงินรวมทุกวงไม่เกิน 3 แสนบาท หากฝ่าฝืน โทษจำคุกสูงสุด 6 เดือน ปรับ 1 แสน ที่สำคัญคือหากท้าวแชร์ โฟสเฟซชวนเล่นแชร์ถือเป็นการโฆษณาชี้ชวนให้ประชาชนทั่วไปร่วมวงแชร์ มีโทษปรับสูงสุด 5 หมื่นบาท ทุกวันนี้ก็ยังเห็นกันเกลื่อนตามเพจต่าง ๆ ในสื่อสังคม ถ้ามีการแจ้งความเอาผิดก็ต้องดำเนินการ ผู้เสียหายถ้าไม่ถึงที่สุดก็ เลี่ยงจะแจ้งความ ฟ้องร้อง เพราะเท่ากับประจานตนเอง พวกนี้ก็เลยได้ใจ หากมีโทษจับ ปรับหนัก ๆ หน่วยงานต่าง ๆ เอาจริงเอาจังอาจจะน้อยลงได้
ตามกฎหมายนั้นแชร์ไม่ใช่การพนัน เป็นเหมือนการลงทุน จะเล่นแชร์ ต้องศึกษาทำความเข้าใจ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายหรือถูกหลอกลวง ปัจจุบันมีผู้ประกอบธุรกิจวงแชร์กันมาก พยายามดำเนินการให้ใกล้เคียงกับธุรกิจการลงทุน ก่อนเล่นแชร์ต้องตรวจสอบข้อมูลเท้าแชร์ สมาชิกที่ร่วมเล่น การโกงจะมีขึ้นจากสาเหตุหลัก ๆ 2 แบบคือ ท้าวแชร์ทำวงแชร์จริง แต่บริหารผิดพลาด ฟ้องบังคับทางแพ่งได้ จะได้เงินครบหรือไม่อยู่ที่ทรัพย์ในการบังคับคดี อีกแบบคือมีเจตนาจะไม่ทำวงแชร์ตั้งแต่ต้น ได้เงินแล้วเชิดหนี ไปแจ้งความดำเนินคดีข้อหาฉ้อโกงท้าวแชร์ได้
เอกสารหลักฐานที่ต้องเตรียมเมื่อถูกท้าวแชร์โกง เช่น คัดลอกหน้าเพจเฟซหรือไลน์ท้าวแชร์ และคำเชิญชวนที่โพสต์ในออนไลน์ ข้อมูลท้าวแชร์ สลิปที่โอนเงินให้ แยกยอดเงินระหว่างเงินส่งแชร์และที่ได้ดอกเบี้ย แล้วเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ หากเสียหายเกินกว่า 5 ล้าน แจ้งความร้องทุกข์ที่กองปราบปรามได้ เพราะมีเขตอำนาจติดตามสืบเสาะหาข้อเท็จจริง ดำเนินการกับผู้กระทำผิดทั่วประเทศ

ร่วมแสดงความคิดเห็น