กรมอนามัย เดินหน้างานวางแผนครอบครัว ส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพ สร้าง ‘ควอลิตี้ (Quality)’ ประชากรไทย

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสถาบันบิลและเมลินดาเกตส์เพื่อประชากรและสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (ทีเส็บ) จัดประชุมนานาชาติ International Conference on Family Planning 2021 (ICFP 2021) เพื่อพัฒนาการวางแผนครอบครัว ในการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ สร้าง ‘ควอลิตี้ (Quality)’ ประชากรไทย
วันนี้ (19 พฤศจิกายน 2562) แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังแถลงข่าวการจัดประชุมนานาชาติ International Conference on Family Planninig 2021 (ICFP 2021) ร่วมกับ Mr.Jose Rimon II ผู้อำนวยการสถาบันบิลและเมลินดาเกตส์เพื่อประชากรและสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ และประธานคณะกรรมการจัดงาน ICFP 2021 และนางนิชาภา ยศวีร์ รองผู้อำนวยการอาวุโส สายงานธุรกิจ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ณ ห้องพิมานแมน ชั้น 2 โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพมหานคร ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดประชุมวิชาการนานาชาติ International Conference on Family Planning 2021 หรือ ICFP 2021 ที่จะเกิดขึ้นในปี 2564 โดยเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การวิจัย นวัตกรรมและการพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายในระดับนานาชาติ
ซึ่งจะส่งผลดีสำหรับประเทศไทยในการส่งเสริมการเข้าถึงบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ในระดับชุมชน การวางแผนครอบครัวด้วยวิธีคุมกำเนิดสมัยใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการอย่างเท่าเทียมตามสิทธิภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในทุกระบบ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ชาติที่สำคัญ ที่อยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) และจะทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายแห่งการพัฒนาอันยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals ในปี 2573 ในการรับรองการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชากรทุกคนทุกช่วงวัยและร่วมกันพัฒนาพลเมืองโลก หรือ Global Citizen ที่มีคุณภาพ
​แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า นับตั้งแต่ประเทศไทยได้ประกาศนโยบายประชากร ด้านการวางแผนครอบครัว เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2513 โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ เป็นเวลาเกือบ 5 ทศวรรษ ที่มุ่งมั่นวางแผนครอบครัว จนประสบผลสำเร็จใน 2 เรื่องใหญ่คือ 1) ผลักดันให้มีการคุมกำเนิดด้วยวิธีต่างๆ ในอัตราสูงขึ้นจาก ร้อยละ 14.8 ในปี 2513 เป็น ร้อยละ 78.4 ในปี 2562 และ 2) ลดอัตราการเพิ่มของประชากร จากร้อยละ 2.7 ในปี 2513 เหลือเพียง ร้อยละ 0.2 ในปี 2562 และในปี 2562 มีอัตราการเกิดเพียง 10.5 ต่อประชากรพันคน ซึ่งผลสำเร็จดังกล่าว รัฐบาลไทยจึงปรับเปลี่ยนนโยบาย โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมคุณภาพของประชากร โดยวางนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560 – 2569) ว่าด้วยการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ “ควอลิตี้ (Quality)” ของประชากรของประเทศไทย
​“เด็กที่เกิดมาทุกคนควรจะต้องมีการวางแผน มีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ได้รับความช่วยเหลือ ส่งเสริมให้ลูกเกิดรอดแม่ปลอดภัย ได้รับการดูแลหลังคลอดที่ดีเด็กที่เกิดมาควรได้รับการเลี้ยงดูในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่สมวัย พร้อมที่จะเรียนรู้ในช่วงวัยต่อไปอย่างมั่นคง เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาเรื่องการเกิดที่ด้อยคุณภาพ การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น การเข้าไม่ถึงบริการคุมกำเนิด ตลอดจนปัญหาสังคมด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการเกิดที่ด้อยคุณภาพ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ขับเคลื่อนนโยบายการอนามัยเจริญพันธุ์ให้อยู่ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจนเป็นผลสำเร็จ แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่จะต้องพัฒนาและตั้งเป้าหมายเรื่องสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์เพื่อการพัฒนาประชากรที่ยั่งยืน” อธิบดี กรมอนามัย กล่าวในที่สุด

ร่วมแสดงความคิดเห็น