พระธาตุดอยกองมู พระธาตุคู่เมืองแม่ฮ่องสอน

วัดพระธาตุดอยกองมู เป็นวัดที่มีความสำคัญมากที่สุดวัดหนึ่งในแม่ฮ่องสอน เป็นศูนย์รวมศรัทธาของชาวเมือง กล่าวกันว่าใครที่เดินทางมาแม่ฮ่องสอนแล้วไม่ได้ไปที่วัดนี้ถือว่ายังมาไม่ถึงแม่ฮ่องสอน นอกจากจะเป็นศาสนสถานที่สำคัญแล้วข้างบนวัดยังเป็นจุดชมวิวเมืองแม่ฮ่องสอนที่สวยงามอีกด้วย
วัดพระธาตุดอยกองมูเดิมชื่อว่า “วัดปลายดอย” แต่เนื่องจากตั้งอยู่บนดอยกองมูชาวบ้านจึงนิยมเรียกว่า “วัดพระธาตุดอยกองมู” มากกว่า วัดนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2403 โดยพ่อค้าชาวไทใหญ่ชื่อ “จองต่องสู่” เพื่อเป็นที่พักอาศัยของพระอูปั่นเต๊กต๊ะที่นิมนต์มาจากเมืองต่องกี ประเทศพม่า ต่อมาพญาสิงหนาทราชา เจ้าฟ้าเมืองแม่ฮ่องสอนได้บูรณะและสร้างเจดีย์ขึ้นมาองค์หนึ่งจากนั้นก็ได้ไปนิมนต์พระเถระชื่อ “อูเอ่งต๊ะก๊ะ” จากเมืองหมอกใหม่ ประเทศพม่า ครั้นเมื่อสิ้นสมัยของพญาสิงหนาทราชาแล้ว แม่เจ้านางเมี๊ยะผู้เป็นหลานของเจ้าฟ้าโกหล่าน ก็ได้อุปถัมภ์วัดนี้
สืบต่อมาด้วยความสำคัญของวัดพระธาตุดอยกองมูที่สร้างขึ้นเป็นแห่งแรกในแม่ฮ่องสอน ชาวบ้านจึงถือเป็นปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมืองมาช้านาน ทุกปีหลังเทศกาลออกพรรษาหนึ่งในพลังศรัทธาของชาวไตที่ได้แสดงออกต่องานบุญสำคัญ พวกเขาจะพร้อมใจกันเดินขึ้นดอยกองมูเพื่อร่วมตักบาตรเทโว ซึ่งถือเป็นงานบุญสำคัญวันหนึ่งที่ชาวไตในเมืองแม่ฮ่องสอนจะต้องปฏิบัติจนกลายเป็นประเพณีที่คนต่างถิ่นควรหาโอกาสเข้าร่วมงานสักครั้งหนึ่ง
ศาสนา สถานที่สำคัญของวัดพระธาตุดอยกองมู คือ พระธาตุเจดีย์องค์ใหญ่ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2403 พร้อมกับวัดโดย จองต่องสู่ และ นางเหล็ก ผู้เป็นภรรยา ลักษณะของเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงเครื่องแบบมอญประดับลวดลายปูนปั้น มีฐานแปดเหลี่ยมซ้อนสามชั้น บริเวณฐานชั้นล่างสุดประดับด้วยซุ้มพระตามทิศทั้งแปด พระธาตุเจดีย์องค์เล็ก เป็นที่บรรจุพระธาตุของพระโมคคัลลานะเถระซึ่งนำมาจากพม่า เจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2417
โดยพญาสิงหนาทราชา เจ้าเมืองแม่ฮ่องสอนคนแรกเพื่อเป็นที่ระลึกในการขึ้นครองเมือง ลักษณะของเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงเครื่องแบบมอญ ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนสามชั้น ตรงมุมทั้งสี่ของฐานมีปูนปั้นรูปสิงห์ประดับอยู่ ฐานชั้นล่างประดับด้วยซุ้มพระแบบศิลปะมอญ ซุ้มประธานมีหลังคาประดับเรือนยอดสามยอด แต่ละยอดเป็นทรงปราสาทพระวิหารอยู่ติดกับพระธาตุเจดีย์องค์ใหญ่ ซึ่งสร้างขึ้นพร้อมกันมีลักษณะเป็นอาคารทรงโรงเปิดโล่ง หลังคาซ้อนกันสามชั้นมุงด้วยกระเบื้องไม้ตกแต่งด้วยโลหะฉลุลวดลายประณีตงดงามตามแบบศิลปะไทใหญ่จอง เป็นอาคารหลักของวัดไทใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่จะไว้ทำกิจกรรมทางศาสนา อาจกล่าวได้ว่าจองนั้นเป็นทั้งวิหาร ศาลาการเปรียญ กุฏิพระและหอฉัน อย่างไรก็ตามแม้ว่าวัดไทใหญ่จะทำกิจกรรมหลายอย่างบนจองแต่ก็จะมีการแบ่งส่วนออกไป โดยใช้การเล่นระดับสูงต่ำของพื้นอาคาร ส่วนที่สำคัญที่สุดบนจองก็คือ ส่วนที่ใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปประธานจะอยู่ในระดับพื้นที่สูงที่สุด หลังคาที่ปกคุลมในส่วนนี้ก็จะทำยอดสูงขึ้นไปกว่าส่วนอื่น ๆ ในลักษณะสองคอสามชายหรือยอดปราสาท พื้นที่ในระดับต่ำสุดของจองมักจะใช้เป็นส่วนที่นั่งฟังเทศน์ฟังธรรมของชาวบ้าน

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น