องคมนตรีจับปากกาเซ็น​ MOU กับกระทรวงเกษตรภูฏาน พร้อมลงตรวจพื้นที่ ศูนย์วิจัยฯ​โครงการหลวง

วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน 2562 เวลา 09.30 น. พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ได้เดินทางมาถึงอุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นผู้แทนในฝ่ายมูลนิธิโครงการหลวง ลงนามความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับ Dasho Rinzin Dorji ปลัดกระทรวงเกษตรและป่าไม้ ผู้แทนฝ่ายกระทรวงเกษตรและป่าไม้ ราชอาณาจักรภูฏาน นับเป็นเวลากว่า 17 ปี ที่มูลนิธิโครงการหลวงให้ความร่วมมือทางวิชาการ กับกระทรวงเกษตรและป่าไม้ ราชอาณาจักรภูฏาน
โดยในครั้งแรกเมื่อปี 2545 โครงการหลวงได้ส่งนักวิชาการไปช่วยจัดทำแปลงวิจัยทดลองปลูกไม้ผลจำนวน 4 ชนิด ได้แก่ กีวีฟรุต พีช เสาวรส และสตรอว์เบอร์รีที่สถานีวิจัยยูสิปัง (Yusipang) ต่อมาได้ขยายความร่วมมือไปสู่สาขาวิชาการอื่น ได้แก่ พืชผัก ไม้ดอก ประมง การพัฒนาที่ดิน และการปรับภูมิทัศน์ และจัดตั้งขึ้นเป็นโครงการหลวงของราชอาณาจักรภูฏาน ในปี 2558 ได้มีการลงนามในข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการร่วมกันเป็นครั้งแรก ในการดำเนินที่ผ่านมาโครงการหลวงได้ช่วยจัดทำแปลงสาธิตในพื้นที่โครงการหลวงภูฏาน 2 แห่ง คือ เดเชนโชริง (Dechencholing) เมืองทิมพู และ ชิมิปัง (Chimipang) เมืองพูนาคา และขยายไปยังสถานีวิจัยยูสิปัง (Yusipang) และสถาบันประมง National Research Center for Riverine & Lake Fisheries เมืองฮาร์ (Haa) พร้อมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ของภูฏานตามแนวทางของโครงการหลวง
ทั้งด้านเทคโนโลยีการผลิต การบริหารจัดการ การพัฒนาที่ดิน การปรับภูมิทัศน์ และการขยายพันธุ์ผัก ไม้ดอก ไม้ผล และประมง โดยส่งนักวิชาการเดินทางไปให้คำปรึกษาแนะนำที่ราชอาณาจักรภูฏาน และจัดฝึกอบรมดูงานให้แก่เจ้าหน้าที่ภูฏานในพื้นที่โครงการหลวง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ภูฏานสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้แก่เกษตรกรในอนาคตได้ อีกทั้งยังร่วมพัฒนาพื้นที่โครงการหลวงภูฏานให้เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตร และเป็นแหล่งพักผ่อนเชิงเกษตรแก่ประชาชนชาวภูฏาน ผลผลิตที่ได้จากแปลงสาธิตในพื้นที่โครงการหลวงภูฏาน สามารถจำหน่ายภายในประเทศ ลดการนำเข้าได้บางส่วนอีกด้วย จากผลสำเร็จภายใต้ความร่วมมือในระยะแรก
โดยความร่วมมือของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) และ กระทรวงเกษตรและป่าไม้ภูฏาน จึงทำให้เกิดการพัฒนาความร่วมมือด้านวิชาการร่วมกันอย่างต่อเนื่องในครั้งนี้ หลังจากนั้น องคมนตรีได้ติดตามและตรวจเยี่ยมพื้นที่ก่อสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ตามพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะก่อสร้างในพื้นที่ของมูลนิธิโครงการหลวง ในตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่เนื่องด้วยโครงการหลวงจำเป็นต้องมีห้องปฏิบัติการศึกษาวิจัย เก็บพันธุ์พืช และเชื้อพันธุกรรมที่เหมาะสม ปัจจุบันห้องปฏิบัติการเหล่านี้กระจายอยู่ตามพื้นที่ของหน่วยงานอื่น ดังนั้น การจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแห่งนี้ จะเป็นศูนย์รวมการปฏิบัติงานด้านการวิจัย พัฒนา และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรของโครงการหลวงอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด ในการดำเนินการนั้น ได้มีคณะกรรมการร่วมออกแบบและดำเนินการก่อสร้างให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เกิดประสิทธิภาพ ต้องตามพระราชประสงค์ อาทิ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ กองทัพภาคที่ 3 กรมโยธาธิการและผังเมือง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในบริเวณพื้นที่ประกอบไปด้วย อาคารศูนย์เรียนรู้และนิทรรศการ กลุ่มอาคารห้องปฏิบัติการ 3 หลัง และอาคารสำนักงานมูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2565
จากนั้น องคมนตรีได้เดินทางไปติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ทาเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์ฯ แม่ทาเหนือ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2521 ในรูปแบบโครงการหลวงพัฒนาภาคเหนือ ต่อมา พ.ศ. 2522 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังสวนป่าโครงการหลวงพัฒนาภาคเหนือ พระราชทานสิ่งของและยารักษาโรคแก่ผู้แทนเจ้าหน้าที่สวนป่าและคนงาน ทอดพระเนตรแผนที่บริเวณพื้นที่โครงการฯ
ซึ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งกรมป่าไม้ได้จัดสรรให้เป็นพื้นที่เพาะปลูกสำหรับราษฎรที่ยากจนและขาดแคลนที่ทำกิน โดยมีหน่วยราชการเข้าไปช่วยด้านปัจจัยพื้นฐานตามพระราชดำริ เพื่อสร้างความอยู่ดีกินดี ส่งเสริมให้ชาวบ้านมีรายได้ และฟื้นฟูสภาพป่า ปัจจุบันศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ทาเหนือ มีขอบเขตพื้นที่รับผิดชอบ 245 ตารางกิโลเมตร ประชากรจำนวน 14 กลุ่มบ้าน 2,029 ครัวเรือน รวม 6,940 คน เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าปากาเกอะญอ และคนพื้นเมือง
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ทาเหนือ ดำเนินงานพัฒนาพื้นที่สูง โดยส่งเสริมการปลูกไม้ผลขนาดเล็ก และพืชผักที่เหมาะสมกับสภาพกึ่งร้อน รวมถึงการผลิตพืชอาหารที่ใช้น้ำน้อย มีการเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์ ภายใต้การจัดการแบบฟาร์มมาตรฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังเป็นศูนย์ผลิตน้ำนมแพะ และน้ำนมกระบือพันธุ์เมซานี โดยเริ่มส่งเสริมแก่เกษตรกรเลี้ยงเป็นอาชีพ จำนวน 3 ราย ซึ่งสร้างรายได้จากการผลิตน้ำนมกระบือได้ไม่ต่ำกว่า สองล้านบาทต่อปี ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ทาเหนือ เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในการเลี้ยงกระบือนม เนื่องจาก เป็นแหล่งปลูกข้าวโพดฝักอ่อน ซึ่งเป็นอาหารที่ดีของกระบือนม โยใช้เฉพาะส่วนลำต้นและใบเป็นอาหารกระบือ ส่วนฝักข้าวโพดนั้นนับเป็นผลผลิตหลักที่สร้างรายได้ที่ดีแก่เกษตรกร
ปัจจุบันโครงการหลวงได้นำน้ำนมกระบือมาผลิตเป็นโยเกิร์ต ซึ่งมีทั้งรสธรรมชาติ และรสน้ำผึ้ง และยังมีผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมหลักเป็นน้ำนมกระบือ ได้แก่เฟต้าชีส (feta chesses) เฟต้าในน้ำมันมะกอกและมะเขือ และเฟต้าในน้ำมันมะกอกกับสมุนไพรและเครื่องเทศ ซึ่งมีจำหน่ายที่ร้านโครงการหลวงทุกสาขา

ร่วมแสดงความคิดเห็น