เปิดประวัติการสร้างเมืองน่าน

เมืองน่าน เป็นนครรัฐตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ 18 ยุคเดียวกับนครรัฐอื่น ๆ ในล้านนา พญาภูคาได้ขยายอาณาเขตโดยส่งราชบุตรคือ ขุนนุ่นและขุนฟองไปสร้างเมืองขึ้นใหม่ ขุนนุ่นผู้เป็นพี่ได้สร้างเมืองหลวงพระบาง ขุนฟองผู้น้องได้สร้างเมืองวรนคร (ปัว) ปี พ.ศ.1825 สมัยพญาการเมืองปกครอง เมืองวรนครได้ขยายตัวมากขึ้นและมีความสัมพันธ์กับอาณาจักรสุโขทัยอย่างใกล้ชิด พระมหาธรรมราชาลิ
ไทได้ทูลเชิญพญาการเมืองไปร่วมสร้างวัดหลวงอภัยที่เมืองสุโขทัย หลังจากที่พญาการเมืองจะเสด็จกลับวรนคร พระมหาธรรมราชาลิไทได้พระราชทานพระธาตุ 7 องค์ พระพิมพ์ทองคำ 20 องค์ และพระพิมพ์เงินให้กับพญาการเมืองมาสักการะ
เมื่อเสด็จมาถึงเมืองน่านพญาการเมืองได้เลือกชัยภูมิบริเวณภูเพียงแช่แห้งเป็นที่สร้างพระธาตุเจดีย์และย้ายผู้คนลงมาสร้างเมืองใหม่ ชื่อ ภูเพียงแช่แห้ง เมื่อปี พ.ศ.1902กระทั่งถึงปี พ.ศ.1911 สมัยของพญาผากอง ราชบุตรของพญาการเมือง ได้โปรดให้ย้ายเมืองภูเพียงแช่แห้งมายังฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่านในปัจจุบัน ด้วยเหตุว่าเมืองภูเพียงแช่แห้งกันดารน้ำเพราะอยู่บนเนินสูงห่างแม่น้ำพญาผากองอพยพผู้คนมาตั้งเมืองที่ริมแม่น้ำน่านแล้ว จากนั้นมีเจ้าผู้ครองนครสืบต่อมากันหลายพระองค์ ปี พ.ศ.2360 น้ำน่านได้ไหลเข้าท่วมตัวเมือง พัดกำแพงเมืองทิศตะวันตกพังทลายลงทั้งแถบ นอกจากนั้นกระแสน้ำยังพัดบ้านเรือนชาวบ้านและวัดวาอารามเสียหายอีกเป็นจำนวนมาก พญาสุมนเทวราช เจ้าผู้ครองนครในสมัยนั้น จึงได้ย้ายเมืองไปอยู่เวียงเหนือเมื่อ พ.ศ.2362

กาลต่อมาแม่น้ำน่านได้เปลี่ยนเส้นทางห่างจากกำแพงเมืองไปมาก เจ้าอนันตวรฤทธิเดช
จึงได้ย้ายเมืองมาอยู่ ณ สถานที่ตั้งปัจจุบันและบูรณะกำแพงเมืองจนแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2400
เมืองน่านได้ชื่อว่าเป็นเมืองเจ็ดประตู หนึ่งหนอง สิบสองวัด ซึ่งคนน่านโบราณได้ผูกไว้คล้องจองกัน ตามทักษาเมืองน่านกล่าวถึงการสร้างประตูเมืองในปี พ.ศ.2450 ว่ามีการสร้างประตูอมรและถนนมหายศมาวัดสวนตาล สำหรับประตูเมืองน่านที่สำคัญได้แก่ ประตูชัย ทางทิศตะวันออก สำหรับเจ้านายเสด็จ
เมื่อน่าน ประตูน้ำเข้ม สำหรับให้ราษฏรติดต่อค้าขาย ทิศเหนือมีประตูริมและประตูอมร ทิศตะวันตกมี ประตูหนองห้าและประตูปล่องน้ำ เพื่อระบายไม่ให้ท่วมขังในเมือง ทิศใต้มีประตูเชียงใหม่ เพื่อออกไปสู่เมืองแพร่ และประตูท่าลี่ ซึ่งเป็นประตูที่นำศพออกไปเผานอกเมือง
ปัจจุบันเมื่อเดินทางไปเมืองน่าน ยังสามารถพบเห็นร่องรอยของประตูเมืองและกำแพงเมืองน่าน นอกจากนั้นน่านยังมีสถาปัตยกรรมระดับคลาสสิกที่สร้างขึ้นเมื่อร้อยกว่าปี ได้รับการอนุรักษ์มาถึงปัจจุบัน ได้แก่ หอคำ หรือ คุ้มหลวง (อาคารพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติน่าน สร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ.2446 โดยเจ้าสุริ
ยพงษ์ผริตเดช ซึ่งได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้านครน่าน ลักษณะหอคำ เป็นอาคารทรงไทยผสมศิลปะตะวันตกแบบตรีมุข 2 ชั้น ตัวอาคารก่ออิฐฉาบด้วยปูน บานประตูหน้าต่างเป็นแบบบานเกล็ด อาคารหอคำเดิมมีบันไดไม้สักทั้งสองข้างของมุขหน้า แต่ถูกรื้อไปแล้ว
เมื่อเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้าย ถึงแก่พิราลัยเมื่อ พ.ศ. 2474 อาคารหอคำถูกใช้เป็นศาลากลางจังหวัด ระหว่าง พ.ศ.2476 – 2517 หลังจากนั้น อาคารหอคำได้โอนให้กรมศิลปากรดูแลเพื่อจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่านใกล้กับหอคำ เป็นที่ตั้งของคุ้มเจ้าราชบุตร ตั้งอยู่หัวมุมถนนผากอง ด้านทิศเหนือของวัดพระธาตุช้างค้ำ คุ้มเจ้าราชบุตร สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2409 เพื่อ
เป็นที่อยู่ของเจ้าน้อยมหาพรหม ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็น เจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 64 จึงยกคุ้มให้เจ้าประพันธ์พงษ์ (เจ้าน้อยหมอกฟ้า ณ น่าน) และให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าราชบุตร ลักษณะอาคารสร้างขึ้นจากไม้สักสองชั้น ระเบียงมีลวดลายฉลุ บริเวณห้องโถงของคุ้มตั้งแสดงอาวุธโบราณ เครื่องยศและภาพถ่ายสมัยเก่าที่หาชมได้ยาก
นอกจากนั้นในเมืองน่านยังพบเรือนแถวไม้ที่ถนนสุมนเทวราช ซึ่งเป็นย่านการค้าตั้งแต่อดีต เป็นอาคารไม้ชั้นเดียวและสองชั้นมีระเบียงประดับลายฉลุ และยังใช้เป็นที่บังแดดบังฝนให้หน้าร้านอีกด้วย ที่สี่งแยกประตูน้ำเข้ม ระหว่างถนนสุมนเทวราชกับถนนมหาวงศ์ มีอาคารไม้รูปทรงหักเหลี่ยม เดิมเป็นห้องแถวซึ่งเจ้าราชวงศ์สุทธิสารให้เช่า ต่อมาภายหลังได้ขายให้กับเอกชนไปแล้ว
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น