“วัดบวกครกหลวง” วัดเก่าร้อยปีเมืองเชียงใหม่และภาพจิตรกรรมโบราณที่เหลืออยู่เพียงแห่งเดียว

วัดบวกครกหลวง เป็นวัดที่มีความเก่าแก่วัดหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ สร้างขึ้นในยุคสมัยใดไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด ความโดดเด่นของวัดบวกครกหลวงอยู่ที่วิหารทรงล้านนา ซึ่งเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนหลังคาเครื่องไม้
จากตำนานประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่กล่าวถึงลักษณะที่ตั้งของชุมชนบวกครกหลวงว่าตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเวียงเชียงใหม่ระหว่างแอ่งที่ลุ่มลำน้ำปิงกับลำน้ำแม่คาว จนกลายเป็นที่มาของชื่อชุมชนและชื่อวัดในเวลาต่อมา แม้จะปรากฏหลักฐานจากคำบอกเล่าว่า เดิมชื่อของวัดแห่งนี้คือ “วัดม่วงคำ” แต่ชาวบ้านทั่วไปก็มักนิยมเรียกชื่อของวัดตามสภาพภูมิศาสตร์ของชุมชนว่า “วัดบวกครกหลวง”
ในสมัยของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 9 (ระหว่าง พ.ศ.2452-2482) ได้ทำการบูรณะวิหารวัดบวกครกหลวง โดยเฉพาะจากเจ้าราชภาคิไนย(แผ่นฟ้า) บิดาของเจ้าจามรี ชายาของเจ้าแก้วนวรัฐ ได้ทำการบูรณะวิหารครั้งใหญ่ ซึ่งปรากฏหลักฐานที่หน้าบัน ระบุปี พ.ศ.2468 ซึ่งเป็นปีที่บูรณะ และต่อมามีการบูรณะอีกครั้งในปี พ.ศ.2498 มีการเทพื้นวิหารและซ่อมแซมโครงสร้างภายใน
จุดเด่นของวัดบวกครกหลวงอยู่ที่ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังในวิหาร เขียนเรื่องราวพุทธประวัติและชาดกในนิบาต จำนวน 14 ห้องภาพ โดยฝีมือช่างไตชาวล้านนา ความสวยงามของภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังวัดบวกครกได้รับการยกย่องจาก น.ณ.ปากน้ำว่าเป็นภาพเขียนที่ใช้สีสันสดใสจัดจ้าน ท่าทีการใช้แปรงเหมือนกับภาพเขียนของอัครศิลปินผู้ยิ่งใหญ่อย่างแวนโก๊ะ จิตรกรแนวอิมเพรสชั่นชาวดัตซ์ ต่อมา สน สีมาตรัง ได้ทำการศึกษาจิตรกรรมฝาผนังของวัดในล้านนา โดยเฉพาะที่วัดบวกครกหลวงอย่างละเอียดพบข้อมูลที่น่าสนใจคือ จิตรกรรมฝาผนังในล้านนาไม่พบการเขียนทศชาติครบทั้งสิบพระชาติ แต่จะมีการเลือกมาเฉพาะตอนที่นิยมเพียงบางเรื่องเท่านั้น ทว่าที่วิหารวัดบวกครกหลวงมีการเขียนเรื่องทศชาติชาดกมากที่สุด คือมี 6 พระชาติคือ เตมิยชาดก สุวรรณสามชาดก เนมิราชชาดก มโหสถชาดก วิฑูรชาดกและเวสสันดรชาดก

ซึ่ง สน สีมาตรังสันนิษฐานอายุว่าประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 24ขณะที่จิตรกรรมฝาผนังวัดป่าแดด จังหวัดเชียงใหม่ มีเพียง 2 เรื่องคือ วิฑูรชาดกและเวสสันดรชาดก วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน พบเพียงเรื่องเดียวคือ เนมิราชชาดก จิตรกรรมฝาผนังวัดท่าข้าม เชียงใหม่มีเพียงเรื่องเดียวคือ เวสสันดกชาดก เหมือนจิตรกรรมฝาผนังวัดเสาหิน เชียงใหม่เช่นกัน ส่วนภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังของวัดพระสิงห์เป็นภาพเขียนเรื่องสังข์ทองหรือสุวัณณสังขชาดก ซึ่งเป็น 1 ใน 50 เรื่องของปัญญาสชาดกหรือชาดกนอกนิบาต เป็นงานวรรณกรรมที่แต่งเลียนแบบชาดกโดยพระเถระชาวเชียงใหม่

ในรายงานของสมโชติ อ๋องสกุล กล่าวถึงภาพเขียนจิตรกรรมของวัดบวกครกหลวงว่า เป็นภาพเขียนที่สีสันได้จัดจ้าน ร้อนแรง โดยจำแนกสีได้ 6 กลุ่มคือ สีคราม สีแดงชาด สีทอง สีเหลืองน้ำตาล สีดำ และสีขาว ส่วนการใช้สีกับฝีแปรง ปรากฏว่าภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดบวกครกหลวง นิยมใช้พู่กันป้ายแต้มและปาดสีแท้ที่มีควาจัดจ้าอย่างเด็ดเดี่ยว กล้าหาญและมีความมั่นใจในการแสดงออก โดยเฉพาะบริเวณส่วนที่เป็นฉากธรรมชาติ เช่น เนินเขา เนินดิน โขดหินและลำน้ำ ธรรมชาติเหล่านี้ปกติมีรูปร่างอิสระเป็นแนวเส้นทางนอนที่เลื่อนไหลคดเคี้ยวไปมาอยู่แล้ว ยิ่งมาประกอบกับความนิยมของช่างชาวล้านนาที่ใช้พู่กันและสีแท้ ๆ สดใสอย่างอิสระด้วยแล้ว นับเป็นภาพฉากธรรมชาติที่สวยงามโดดเด่นยิ่งนักที่น่าสังเกตคือ
เส้นพู่กันที่ป้ายมีพละกำลังแฝงอยู่ภายในด้วย รอยพู่กันแสดงอารมณ์ที่ลิงโลด คึกคะนอง สนุกสนาน และยังพบอีกว่าช่างชาวล้านนารู้จักใช้พู่กันแต้มสีแท้เป็นดวง ๆ อย่างหยาบ ซึ่ง สน สีมาตรัง ระบุว่ายังไม่เคยพบวิธีการเช่นนี้ในจิตรกรรมฝาผนังที่ไหนเลย เมื่อเทียบกับภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดป่าแดดและวัดพระสิงห์ ซึ่งไม่มีการใช้พู่กันป้ายปาดอย่างกล้าหาญ สภาพของเส้นทั่วไปจึงดูจืดชืดกว่าวัดบวกครกหลวงมากนอกจากนั้นแล้ววิธีการเน้นความน่าสนใจของภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดบวกครกหลวงคือ นิยมใช้กรอบรูปคล้ายภูเขา ระบายสีพื้นในด้วยสีดำขอบนอกเป็นแถบสีเทาและตัดเส้นด้วยสีดำ ส่วนเส้นนอกกรอบเลือนไหลล้อกับรูปนอกของตัวปราสาทจิตรกรรมฝาผนังของวัดบวกครกหลวง จังหวัดเชียงใหม่ถือได้ว่าเป็นผลงานระดับมัสเตอร์พีซของฝีมือช่างสกุลล้านนาที่บรรจงแต่งแต้มเรื่องราวทางพุทธชาดกเอาไว้อย่างยอดเยี่ยม ใครก็ตามที่ไปเยือนเมืองเชียงใหม่แล้วไม่ได้เที่ยววัดบวกครกหลวง เหมือนกับที่มาเที่ยวเชียงใหม่แล้วไม่ได้ไปดอยสุเทพยังไงยังงั้น
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น