การเข้ามาของ “ลังกาวงศ์” ในแผ่นดินล้านนา

พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์เผยแผ่เข้ามายังเชียงใหม่เป็นครั้งแรกในรัชสมัยพญากือนา โดยพระองค์ทรงเป็นธรรมิกราช บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข ครั้งนั้นทรงสดับกิตติคุณของพระมหาเถระรูปหนึ่ง ชื่อพระอุทุมพรบุปผามหาสวามี เป็นพระลังกาแต่มาจำพรรษาที่เมืองนครพัน(เมาะตะมะ) พญากือนาจึงส่งฑูตไปอาราธนาพระอุทุมพรมาเชียงใหม่ แต่ท่านปฏิเสธว่า ท่านชราภาพมากแล้ว ขอส่งหลานชายคือพระอานันทเถระและคณะสงฆ์จำนวนหนึ่งมาแทน เมื่อพระอานันทมาถึง พญากือนานิมนต์ให้เป็นอุปัชฌาย์บวชกุลบุตรเชียงใหม่ตามคติลังกาวงศ์พระอานันทก็ปฏิเสธ จึงกล่าวแนะนำว่า พระอุทุมพรได้มอบอาญาสิทธิ์ตั้งพระเถระผู้ใหญ่ 2 รูป ชาวสุโขทัย คือ พระสุมนเถระ และ พระอโนมทัสสีเถระ ให้เป็นอุปัธยาจารย์ในนิกายลังกาวงศ์ ขอให้ไปนิมนต์พระรูปใดรูปหนึ่งขึ้นมาเถิด พญากือนาจึงส่งฑูตลงมาเฝ้าพระเจ้าไสยลือไทแห่งสุโขทัย ทูลขอพระสุมนเถระขึ้นไปเชียงใหม่ ครั้งนั้นกษัตริย์เมืองเชียงใหม่ได้เสด็จลงมารับที่ตำบลแสนข้าวห่อ (ปัจจุบันคือบริเวณพิพิธภัณฑ์หริภุญไชย) เมืองลำพูน จากนั้นจึงอัญเชิญพระสุมนเถระให้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดพระยืน ให้อุปสมบทชาวลำพูนและร่วมกับพญากือนาบูรณะพระสถูปวัดพระยืนใหม่ พร้อมทั้งสร้างพระพุทธรูปยืนอีก 3 องค์ รวมของเก่าอีก 1 องค์ เป็น 4 องค์ เมื่อออกพรรษาแล้ว พญากือนาได้นิมนต์พระสุมนเถระมาเชียงใหม่ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างวัดสวนดอกขึ้นในบริเวณสวนไม้พยอมของพระองค์ให้เป็นที่จำพรรษาของพระมหาสุมนเถระแล้วทำพิธีสถาปนาอุษยาภิเษกพระสุมนเถระขึ้นเป็นพระสังฆราช องค์แรกของล้านนา พญากือนาได้สร้างเจดีย์วัดสวนดอกให้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ 1 องค์ในจำนวน 2 องค์ที่พระมหาสุมนเถระนำมาถวาย ส่วนพระบรมสารีริกธาตุอีกองค์หนึ่งนั้น พญากือนาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระธาตุประดิษฐานไว้ที่ดอยสุเทพ พระมหาสุมนเถระ เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของผู้คนชาวเชียงใหม่และเป็นที่รู้จักในชื่อ นิกายวัดสวนดอก หรือ นิกายรามัญ
เนื่องจากพระมหาสุมนเถระเป็นพระลูกศิษย์พระสวามีอุทุมพร ซึ่งเป็นพระมอญ เมืองเชียงใหม่จึงได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางแห่งพุทธศาสนานับแต่นั้นมา ในช่วงเวลานี้นับเป็นยุครุ่งโรจน์แห่งพุทธศาสนาในล้านนา ทำให้เกิดนักปราชญ์ขึ้นหลายคน มีการแต่งตำราและวรรณกรรมทางพุทธศาสนาไว้มากมาย เช่น ชินกาลมาลีปกรณ์, ตำนานมูลศาสนาและตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ เป็นต้น
นิกายวัดสวนดอกได้รับความนิยมสูงสุด มีผู้ศรัทธามากมาย จนยึดติดสุขที่มากับความนิยมศรัทธา วัตรปฏิบัติที่ไม่เคร่งครัดดังแต่ก่อน ทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่สงฆ์เกิดเป็นนิกายวัดป่าแดง ที่เคร่งครัดในวัตรปฏิบัติมากกว่า นิกายวัดป่าแดงเป็นนิกายลังกาวงศ์ใหม่ เกิดขึ้นในรัชสมัยพญาสามฝั่งแกน ในครั้งนั้นมีพระสงฆ์จากล้านนาเดินทางไปศึกษาบวชเรียนที่ลังกา แล้วกลับมาพร้อมกับพระชาวลังกา นำวัตรปฏิบัติเข้ามาเผยแผ่ในล้านนา เกิดการจัดตั้งเป็นสาขาในถิ่นต่าง ๆ มากมาย ขณะที่นิกายวัดสวนดอกที่กำลังเสื่อมก็ถูกโจมตี ในเรื่องวัตรปฏิบัติที่หย่อนยาน ความรุ่งเรืองแห่งพุทธศาสนาในดินแดนล้านนาส่งทอดมายังรัชสมัยของพญาติโลกราช มีพระชาวลังกาชื่อ “พระอุตตมปัญญา” ได้ขึ้นมาประกาศลัทธิลังกาวงศ์ใหม่ ซึ่งเคร่งครัดกว่าเดิม อยู่ที่สำนักวัดป่ากวางเชิงดอยสุเทพ พญาติโลกราชทรงมีความเลื่อมใสในลัทธิ
ลังกาวงศ์ใหม่เป็นอย่างมาก โดยพระองค์ทรงอุปถัมภ์ และเคยทรงเสด็จออกผนวชในคณะสงฆ์นี้เป็นเวลา 7 วัน จากนั้นโปรดให้ผูกพัทธสีมาวัดป่ากวาง พญาติโลกราช ได้สดับเรื่องอานิสงส์การปลูกต้นมหาโพธิ จากพระอุตตมปัญญา แล้วทรงเลื่อมใส จึงโปรดให้สร้างวัดใหม่ขึ้นทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประกอบทั้งพุทธศักราชจะบรรจบครบ 2000 จึงเป็นการบำเพ็ญกุศลฉลองยุค
โดยให้สีหอำมายต์หมื่นด้ามพร้าคดเป็นแม่งาน เดินทางไปดูเจดีย์สถานในอินเดียและลังกา จำลองแบบวิหารพุทธคยาโลหปราสาท รัตนมาลีเจดีย์ มาสร้างขึ้นไว้ที่วัดแห่งใหม่ ให้ชื่อว่า มหาโพธาราม หรือ วัดเจด็ดยอด ในสมัยนี้เองมีการสังคยนาพระไตรปิฏกได้สำเร็จภายใน 1 ปีนับเป็นครั้งแรกของประเทศและเป็นครั้งที่ 8 ของโลก พุทธศาสนาในล้านนามีความเจริญรุ่งเรืองเรื่อยมา ต่อเมื่อเมืองเชียงใหม่ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่านานถึง 200 ปีวงการพระสงฆ์ได้รับเอาอิทธิพลจากพม่า คือนิยมบวชเณรมากกว่าบวชพระ จึงทำให้ขาดพระที่มีวัยวุฒิและคุณวุฒิ ในยุคนี้จึงไม่มีปราชญ์แห่งพุทธศาสนาไม่มีตำราหรือวรรณกรรมทางศาสนาเช่นที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามชาวพม่านั้นมีศรัทธาอันแรงกล้า จึงได้สร้างวัดไว้ในเชียงใหม่นับร้อย ๆ วัด
ซึ่งเป็นศิลปกรรมแบบพม่าแฝงอยู่ เมื่อเมืองเชียงใหม่อยู่ในความปกครองของกรุงเทพฯ พุทธศาสนาในเชียงใหม่ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางของล้านนาจึงถูกปรับเปลี่ยนไปตามระเบียบปฏิบัติที่มาจากกรุงเทพฯ ข้อบังคับต่าง ๆ ล้วนถูกกำหนดมาจากส่วนกลาง ในช่วงเวลานี้ก็ได้เกิดวีรบุรุษในสมณเพศขึ้น คือ ครูบาศรีวิชัย พระภิกษุผู้เป็นที่เคารพศรัทธาของคนเมืองและชาวเขา พระภิกษุผู้ซึ่งสร้างกระแสแห่งพุทธศาสนาในเชียงใหม่ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง พระภิกษุผู้ปฏิรูปและบูรณะวัดวาต่าง ๆ ในเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง จนท่านได้รับสมญานามว่าเป็นนักบุญแห่งล้านนา บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น