แจกที่ดิน ทำกินในเชียงใหม่ ถ้าผิดเงื่อนไขยึดคืน

เครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือ (เชียงใหม่ ) กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 57 รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ขึ้นมาเพื่อดำเนินโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน แก้ไขความเดือดร้อนราษฎรให้สามารถอยู่อาศัยทำกินในที่ดินรัฐได้ถูกต้องตามกฎหมายของที่ดินแต่ละประเภท ไม่ว่าจะเป็น ที่ป่าสงวน, ป่าชายเลน, ที่ดินในเขตปฏิรูป (ที่สปก.), ที่ดินสาธารณประโยชน์, ที่ราชพัสดุ และที่ดินสงวนเพื่อกิจการนิคมสร้างตนเอง
โดยหน่วยงานที่ร่วมรับผิดชอบในการพิจารณาตามโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชาวบ้านตามนโยบายคทช.นั้น เริ่มตั้งแต่ คทช.จังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าฯเป็นประธานโดยตำแหน่งมีคณะกรรมการจาก 28 หน่วยงานมาร่วม อาทิ ป่าไม้, ธนารักษ์พื้นที่, เกษตรจังหวัด, ราชพัสดุ, นำเสนอขึ้นมาประเด็นที่น่าสนใจคือ ตามมติคณะอนุกรรมการจัดที่ดิน 4/2558 นั้น มีแนวทาง 2 ด้านคือ จัดระบบ เช่น นำที่ดินของรัฐที่ว่างมาบริหารจัดการ และอีกแบบคือ นำที่ดินของรัฐที่มีการบุกรุก มาจัดบริหารจัดการตามมติ 24 ธ.ค. 58 จนล่วงเลยมาถึงคำสั่งคสช.ที่ 6/62 หนึ่งในคทช.เชียงใหม่ กล่าวว่า เมื่อ14 มกราคม 2562 นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบเอกสารโครงการจัดระเบียบการใช้ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 และ 2 ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ให้ชุมชนในพื้นที่ป่าสงวนป่าแม่แจ่มท้องที่ ต.บ้านจันทร์ และต.แจ่มหลวง กว่า 10,552 ไร่
ล่าสุดเมื่อ 25 พ.ย. ที่ผ่านมา รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ก็มามอบหนังสือประจำตัวผู้ได้รับการคัดเลือกให้ทำกินในชุมชนตามนโยบายรัฐบาลในลักษณะแปลงรวม 14 ราย ในต.แม่ทา อ.แม่ออน ชุมชนที่ได้รับที่ดินทำกินคทช. ทั้งนี้ฝ่ายปฏิบัติการป่าไม้ภาคเหนือ กรมป่าไม้ เปิดเผยว่าปัจจุบันมีที่ดินที่อยู่ภายใต้การจัดสรร ของคทช. 12.9 ล้านไร่เป็นป่าสงวน 5.6 ล้านไร่ กรมป่าไม้ตั้งเป้าจะดำเนินการจัดสรรที่ดินในเขตป่าสงวนลุ่มน้ำชั้น 3,4,5 ให้ประชาชนทำกินอย่างถูกต้อง แล้วเสร็จในปี 2565 จากปัจจุบันได้ดำเนินการจัดสรรไปแล้ว 1 ล้านไร่ โดยมีเงื่อนไขว่า อนุญาตให้ทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในลักษณะแปลงรวม ปลูกไม้มีค่าได้ แต่ห้ามทำเกษตรเชิงเดี่ยว ให้ทำเกษตรผสมผสาน ไม่ใช้สารเคมี ไม่บุกรุกขยายพื้นที่เพิ่มเติม ไม่ให้ซื้อขาย จำหน่าย จ่ายโอน แต่ให้ตกถอดถึงลูกหลานได้ และนำไปค้ำประกันเงินกู้ได้
อย่างไรก็ตามหลังจากประกาศใช้พรบ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) มีคำสั่งคสช.6/62 นั้น ผู้บริหารท้องถิ่น ในพื้นที่ อ.แม่ริม เชียงใหม่ แสดงความคิดเห็นว่า ประเด็นที่ อปท. ส่วนใหญ่ ต้องการความชัดเจนคือ การที่ผู้ประกอบการโรงแรม รีสอร์ท ที่พัก มาจดแจ้ง ยื่นเรืองตามคำสั่ง คสช.ดังกล่าว ข้อมูลที่ได้จะมีขอบเขตรายละเอียดการครอบครอง จนถึง การเปลี่ยนมือ พื้นที่อยู่ในเขตหวงห้าม เป็นเขตป่าลุ่มน้ำ ที่ลาดชัน ผิดกฎหมายใดบ้าง ซึ่งพื้นที่ปัจจุบัน กับการเปรียบเทียบแปรภาพถ่ายทางอากาศปี 2541, 2545 และปี 2557 ไม่ยากต่อการตรวจสอบ แยกกลุ่มว่าเป็นกลุ่มไหน
ทั้งนี้คทช. ระดับอำเภอ ก็เสนอไปตามขั้นตอนที่คทช. จังหวัด ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ผู้ครองครองปัจจุบัน บางส่วนไม่แสดงตน มีการประวิงเวลา และกลุ่มชาวบ้านที่มีชื่อในที่ดิน โดยเฉพาะ ภบท.5, และอื่น ๆ กังวลว่า ทางออกของการจัดระบบและจัดระเบียบนั้นจะยึดหลักการใด ผู้ประกอบการที่พักหลาย ๆ แห่ง ในพื้นที่ม่อนแจ่ม, แม่แรม, โป่งแยง อ.แม่ริม เปิดใจกับทีมข่าวว่า กลุ่มที่ตั้งใจดำเนิน ธุรกิจก็พยายามขอคำแนะนำ หาทางออกร่วมกับสารพัดหน่วยงานที่เข้ามา ยิ่งมีกระแส ยกตัวอย่างโมเดลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเขาค้อ, ภูทับเบิก จะมาใช้เปรียบเทียบกับม่อนแจ่ม หลายพื้นที่ภบท.5 ในเชียงใหม่ ยิ่งทำให้เกิดความตระหนก กังวลใจ
ด้านสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) รายงานว่าโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ตามมติครม. 26 พ.ย. 61 พื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) นั้นเชียงใหม่เป็นอีกพื้นที่นำร่อง คณะทำงานได้ลงพื้นที่ ร่วมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติฯ จ.เชียงใหม่ และอำเภอเชียงดาว ประชุมชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจแนวทางดำเนินงาน การแก้ไขปัญหาฯ ให้ประชาชนในพื้นที่ (กลุ่มที่ 4 ชุมชนที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ กลุ่มที่ 3 ชุมชนในเขตป่าสงวน พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 และ 2 รับฟังข้อมูลพื้นที่ ข้อมูลชุมชน และข้อคิดเห็น เพื่อลดผลกระทบต่อชาวบ้าน

ร่วมแสดงความคิดเห็น