ยุครุ่งเรืองของวัดพม่าในเมืองลำปาง

จังหวัดลำปางได้ชื่อว่ามีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวัดพระธาตุลำปางหลวง โบราณสถานอันเก่าแก่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อครั้งพระนางจามเทวี นอกจากนี้ยังมีวัดสำคัญที่รวบรวมเอาศิลปกรรมความงามของกลุ่มชนต่าง ๆ ไว้มากมาย โดยเฉพาะศิลปกรรมแบบพม่าที่เข้ามามีอิทธิพลต่อพุทธศาสนาในเมืองลำปางสมัยหนึ่งวัดพม่าที่ปรากฏอยู่ในลำปาง สร้างขึ้นโดยชาวพม่าที่เข้ามาทำไม้สักในภาคเหนือเมื่อราวร้อยกว่าปีก่อน แต่เดิมคนไทยในสมัยนั้นยังไม่มีความชำนาญในการทำไม้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ดังนั้นรัฐบาลจึงจำเป็นต้องว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญทางด้านการทำไม้จากต่าง

ประเทศเข้ามาเป็นผู้ดูแลและดำเนินกิจการ ชาวต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในการทำป่าไม้ที่สุดในเวลานั้นได้แก่ชาวอังกฤษ เพราะเดินทางเข้ามาทำไม้ในประเทศพม่าเป็นเวลานานแล้วชาวอังกฤษที่รัฐบาลไทยจ้างมาเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการทำป่าไม้ ชื่อนาย เอช.สเลด ซึ่งเคยทำไม้อยู่ในพม่ามาก่อน เมื่อได้รับการว่าจ้างให้มาดำเนินงานป่าไม้ในเมืองไทย นาย เอช.สเลด ก็ได้นำลูกน้องชาวพม่าที่มีความชำนาญในการทำป่าไม้และค้าไม้เข้ามาช่วยงานด้วย
สมัยนั้นการเดินทางจากเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่ามายังเมืองลำปางเป็นไปด้วยความลำบาก นายเอช.สเลด และคณะจะต้องนั่งรถไฟจากเมืองมัณฑะเลย์ไปยังเมืองย่างกุ้ง จากนั้นก็นั่งรถยนต์ต่อมายังเมืองมะละแหม่ง ว่าจ้างเรือข้ามแม่น้ำเมยมาขึ้นที่เมืองตาก จากนั้นจึงเดินทางตัดป่าฝ่าดงมายังเมืองลำปาง หลังจากคณะของนายเอช.สเลด เข้ามาทำไม้ในเมืองลำปางได้ระยะหนึ่ง ข่าวความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้สักในไทยก็แพร่สะพัดออกไป ทำให้มีชาวพม่าเดินทางมาทำไม้ในเมืองไทยเพิ่มมากขึ้นเป็นจำนวนมาก การทำไม้ในสมัยนั้นนอกจากสร้างเงินทองให้แผ่นดินมากมายมหาศาลแล้ว ยังสร้างความร่ำรวยให้ชาวอังกฤษและพม่าที่เข้ามาทำป่าไม้ด้วย ดังนั้นจึงมีเศรษฐีชาวพม่าเกิดขึ้นหลายคน
เศรษฐีพม่าเหล่านั้นส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ

จึงมีศรัทธาแรงกล้าในเรื่องการสร้างบุญสร้างกุศล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างวัดวาอารามซึ่งชาวพุทธทั่วไปถือว่าได้บุญกุศลมาก บวกเข้ากับความเชื่อในเรื่องผีสางนางไม้ที่สถิตย์อยู่ตามต้นไม้ใหญ่ในป่า ซึ่งพวกเขาต้องเข้าไปตัดโค่นทำลายลงทุกวัน จึงทำให้บรรดาชาวพม่าเหล่านั้นมีความประสงค์จะสร้างอารามขึ้นเพื่อเป็นการไถ่บาป สำหรับผู้ที่ร่ำรวยมาก ๆ ก็สร้างใหม่ทั้งวัดแต่คนที่ไม่ร่ำรวยมากนักก็ซ่อมแซมปฏิสังขรณ์วัดเดิมที่มีอยู่ให้สมบูรณ์ขึ้นเมื่อเดินทางไปยังเมืองลำปางเราจะพบเห็นวัดที่มีศิลปกรรมแบบพม่าเป็นจำนวนมาก สร้างขึ้นด้วยความสวยงามวิจิตร แสดงถึงความร่ำรวยและมั่งคั่งของผู้สร้าง วัดพม่าที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปได้แก่ วัดพระแก้วดอนเต้า วัดศรีรองเมือง วัดศรีชุม ฯลฯ
ศิลปกรรมแบบพม่ามีความโดดเด่นตรงที่หลังคาซ้อนกันหลายชั้นเรียงซ้อนกันขึ้นไป บนยอดของหลังคายังมีฉัตรติดตั้งอยู่ ซึ่งสถาปัตยกรรมพม่าแบบนี้เรียกว่า “ทรงพระยาธาตุ”
ความคติความเชื่อในการสร้างอาคารที่มีหลังคาซ้อนกันหลายชั้น ชาวพม่าถือว่าลักษณะอาคารแบบนี้เป็นของสูงมักจะสร้างเฉพาะพระราชวัง โบสถ์ วิหาร สถานที่ศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น สำหรับศาสนสถานต่าง ๆ นั้น มีคติว่า ภายใต้เรือนยอดสูงสุดจะเป็นตำแหน่งประดิษฐานพระประธาน จะนำไปประดิษฐานที่เรือนอื่นไม่ได้ ดังนั้นเมื่อใดที่เดินทางเข้าไปเที่ยววัดพม่า จึงสังเกตได้โดยไม่ยากว่าที่ใดเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่เป็นพระประธานภายในโบสถ์ วิหารหรือมณฑปของวัดพม่า มักจะมีการประดับประดาเสาและเพดานด้วยกระจกสีเป็นรูปต่าง ๆ เช่น ลายดอกไม้ เครือเถาลายก้านขด บางที่ก็ทำเป็นลายใบไม้ในสไตล์ยุโรป ศิลปกรรมเหล่านี้ก็คืออิทธิพลและการเคลื่อนไหวทางศิลปกรรมของช่างพม่าที่เคยตกอยู่ในอาณานิคมของอังกฤษเป็นเวลานาน
การเยี่ยมชมศิลปกรรมแบบพม่าในวัดเมืองลำปางนั้นต้องใช้เวลาเต็มวัน เพราะในลำปางมีวัดพม่าที่สวยงามต่าง ๆ หลายวัดกระจัดกระจายกัน ส่วนใหญ่จะเกาะกลุ่มอยู่ในเขตอำเภอเมือง แต่ถ้าจะให้ได้ความรู้และความประทับใจแล้วจะต้องไล่ชมกันไปตั้งแต่วัดที่มีความสวยงามที่สุด ทั้งในรูปแบบทางสถาปัตยกรรมและการตกแต่งประดับประดากระจกไปจนถึงวัดพม่าแบบธรรมดา.
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น