ย้อนอดีต 101 ปี คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (แก้วมุงเมือง)

คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (แก้วมุงเมือง) ถือเป็นคุ้มเจ้าเพียงไม่กี่แห่งที่เหลืออยู่ในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ในนครเชียงใหม่ สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2461 ขณะที่เจ้าแก้วมุงเมือง ณ เชียงใหม่ ดำรงตำแหน่ง เจ้าบุรีรัตน์ ในสมัยเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 8 ปัจจุบันคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (แก้วมุงเมือง) อยู่ในการดูแลของโรงงานยาสูบ ซึ่งได้จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์โรงงานยาสูล เก็บรวบรวมวัสดุครุภัณฑ์รวมถึงการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมโบราณที่มีอายุกว่า 100 ปีให้ผู้สนใจเข้าชมหากจะกล่าวถึงความสำคัญของเจ้าบุรีรัตน์ ซึ่งเป็นบรรดาศักดิ์ตำแหน่งหนึ่งในห้าของเจ้าศักดินา “ขันห้าใบ” ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญในการปกครองนครเชียงใหม่แต่ครั้งโบราณ ตำแหน่งเจ้าศักดินาขันห้าใบนี้ ประกอบด้วย เจ้าผู้ครองนครเป็นอันดับหนึ่ง เจ้าอุปราชเป็นอันดับสอง เจ้าราชวงศ์เป็นอันดับสาม เจ้าบุรีรัตน์เป็นอันดับสี่และเจ้าราชบุตรเป็นอันดับห้า อย่างไรก็ตามตำแหน่งสำคัญทางการปกครองนี้มีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสมในแต่ละสมัย คือในสมัยแรก (เจ้าหลวงเชียงใหม่ องค์ที่ 1 – 2 )เจ้าบุรีรัตน์มีความสำคัญเป็นอันดับที่สามรองจากเจ้าผู้ครองนครและเจ้าอุปราช ในระยะที่สอง (เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 3 – 6) เจ้าบุรีรัตน์มีความสำคัญเป็นอันดับที่สี่ ระยะหลังจากนั้น เจ้าบุรีรัตน์มีความสำคัญเป็นอันดับห้า

ในสมัยของเจ้าหลวงอินทวโรรสสุริยวงศ์ (พ.ศ.2444 – 2452) เจ้าน้อยแก้วมุงเมือง ณ เชียงใหม่ ดำรงตำแหน่งเจ้าบุรีรัตน์และดำรงตำแหน่งเป็นปลัดจังหวัดเชียงใหม่คนแรกพร้อมกับพระศรีวรานุรักษ์ (ศรีบุญเฉลียว) จนเกษียรอายุราชการเมื่อ พ.ศ.2471เจ้าน้อยแก้วมุงเมือง ณ เชียงใหม่ สมภพเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2411 เป็นบุตรคนที่ 3 ของเจ้าดวงทิพย์และเจ้าคำแสน เจ้าแก้วมุงเมืองได้รับราชการในขั้นต้นเป็นเจ้าราชภาคินัย ในสมัยเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 7 (พ.ศ.2416 – 2440) ในปี พ.ศ.2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งเจ้าแก้วมุงเมืองเป็น “เจ้าบุรีรัตน์” ต่อจากเจ้ามหาอินทร์ โดยดำรงตำแหน่งเจ้าบุรีรัตน์ต่อเรื่อยมาจนถึงสมัยเจ้าหลวงอินทวโรรสสุริยวงษ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 8เจ้าบุรีรัตน์ (แก้วมุงเมือง) ได้สมรสกับชายาไม่ทราบนามมีบุตรธิดา 8 คนเป็นหญิง 5 คนชาย 3 คน เจ้าหญิงสุมิตรา ณ เชียงใหม่ เป็นหนึ่งในชายาเจ้าบุรีรัตน์ แต่ไม่มีบุตรธิดา ต่อมาประมาณปี พ.ศ.2461 เจ้าบุรีรัตน์ได้สมรสกับเจ้าหญิงเรณุวรรณา ณ เชียงใหม่ บุตรีของเจ้า
ราชวงศ์ (เจ้าชมชื่น ณ เชียงใหม่) กับเจ้าหญิงกรรณิกา ณ เชียงใหม่ ซึ่งเจ้าหญิงเรณุวรรณามีศักดิ์เป็นหลานเจ้าบุรีรัตน์หลังจากที่เจ้าน้อยแก้วมุงเมือง ณ เชียงใหม่ดำรงตำแหน่งเจ้าบุรีรัตน์และ สมรสกับเจ้าหญิงเรณุวรรณา ณ เชียงใหม่จึงได้มาสร้างอาคารคุ้มเจ้าที่บริเวณพื้นที่เดียวกันกับคุ้มเจ้าอุปราชบุญทวงศ์ (เจ้าอุปราชเชียงใหม่องค์ที่ 7) ปัจจุบันคือวิทยาลัยอาชีวะศึกษา ต่อมาเจ้าราชภาคินัย (เจ้าน้อยสิงห์โต) บุตรเจ้าอุปราชบุญทวงศ์ซึ่งมีคุ้มอยู่ในบริเวณนี้ เจ้าราชภาคินัย (เจ้าน้อยสิงห์โต) พร้อมทั้งชายา (เจ้าสุมิตรา ณ เชียงใหม่) ได้ยกที่ดินที่ตั้งของอาคารหลังนี้ให้กับเจ้าบุรีรัตน์ (แก้วมุงเมือง)
อาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (แก้วมุงเมือง) สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2461 ซึ่งเป็นปีที่เจ้าบุรีรัตน์สมรสกับเจ้าหญิงเรณุวรรณา ณ เชียงใหม่ ขณะนั้นเจ้าบุรีรัตน์ (แก้วมุงเมือง) มีพระชนมายุ 50 ชันษา เจ้าหญิงเรณุวรรณา มีพระชนมายุ 24 ชันษา เจ้าบุรีรัตน์ได้พำนักอยู่ที่อาคารคุ้มเจ้าแห่งนี้เป็นเวลา 20 ปีก่อนที่จะสิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ.2482 รวมอายุ 70 ชันษาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างปี พ.ศ.2485 – 2487 เมื่อทหารญี่ปุ่นเข้ามาในเมืองเชียงใหม่และบางส่วนได้ใช้โรงเรียนยุพราชเป็นที่ทำการ เพื่อความปลอดภัยของบุตรธิดาเจ้าหญิงเรณุวรรณาจึงได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านพักชั่วคราวที่บ้านท่ากระดาษ อาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์
(แก้วมุงเมือง) จึงถูกทิ้งร้างอยู่ระยะหนึ่ง จนกระทั่งสงครามสงบลงจึงได้ย้ายเข้ามาพำนักในอาคารคุ้มตามเดิม โดยจะอาศัยอยู่เฉพาะชั้นล่างของอาคารคุ้มต่อมาปี พ.ศ.2490 เจ้าหญิงเรณุวรรณา มีความประสงค์จะขายอาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ โดยมอบหมายให้เจ้าอุบลรัตน์ อินทราวุฒิ (ณ เชียงใหม่) ธิดาคนที่ 1 นำโฉนดไปให้เจ้าสมบูรณ์ ณ เชียงใหม่ไปเสนอขายแก่ห้างหุ้นส่วนอนุสารเชียงใหม่ ในราคา 450,000 บาท แต่ไม่มีการตกลงซื้อขาย ระหว่างนั้น พ.ศ.2490 – 2495 เจ้าเรณุวรรณา จึงให้สำนักงานยาสูบเชียงใหม่เช่าอาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์และที่ดินบางส่วนเป็นรายเดือน โดยท่านได้สร้างบ้านพักในบริเวณด้านหลังของคุ้มเป็นที่พำนักเมื่อเจ้าหญิงเรณุวรรณา วายชนม์เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2493 ได้โอนมรดกกรรมสิทธิ์อาคารให้เจ้าวัฒนา โชตนา (ณ เชียงใหม่) ธิดาคนที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดก เจ้าวัฒนา โชตนาได้ฝากขายอาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ให้กับนางลัดดา ศรชัย ซึ่งเป็นธิดาของนางกี ลิ้มตระกูล คหบดีและผู้บ่มยาสูบ กระทั่ง ปี พ.ศ.2496 กระทรวงการคลังได้ซื้อที่ดินและอาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (แก้วมุงเมือง) จากเจ้าวัฒนา โชตนา ในวันที่ 15 มกราคม 2496 จำนวนเงิน 620,000 เพื่อให้โรงงานยาสูบจัดตั้งสำนักงานยาสูบเชียงใหม่ โดยใช้อาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์เป็นที่ทำการสำนักงานตั้งแต่นั้นมาจนถึงวันที่ 19 มกราคม 2541 เป็นเวลาถึง 45 ปีสถาปัตยกรรมอาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (แก้วมุงเมือง) ในสมัยแรกก่อสร้าง เป็นอาคารครึ่งปูนเครื่องไม้สูงสองชั้นแบบเรือนขนมปังขิง ชั้นล่างเสาก่ออิฐหนาฉาบปูนเรียบ ชั้นบนเป็นพื้นไม้มีระเบียงโดยรอบและเครื่องมีสภาพดี อาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์หลังนี้เป็นอาคารที่สร้างแบบตะวันตกหลังคามียอดจั่วที่สวยงามเป็นแบบปั้นหยา มีหน้าต่างบานคู่ไม้กลางทำเป็นบานเกร็ดแบบบานกระทุ้งเหนือหน้าต่างและประตูชั้นบนเป็นช่องลมไม้ฉลุลวดลายสวยงามวิจิตรคุ้มเจ้าบุรีรัตน์แห่งนี้เคยเป็นที่ชุมนุมของบรรดาเจ้านายฝ่ายเหนือและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของมณฑลพายัพในสมัยนั้น ครอบครัวที่คุ้นเคยไปมาหาสู่ยังคุ้มเจ้าบุรีรัตน์อยู่เสมอได้แก่ ครอบครัวของนายพันเอกพระยามหาณรงค์เรืองเดชและคุณหญิงกระสินธุ์ ผู้บังคับการทหารมณฑลพายัพ นายพันตำรวจเอกพระยาพิทักษ์ทวยหาญ ผู้บังคับการตำรวจมณฑลพายัพ พระยาพนานุจร ป่าไม้เขตเชียงใหม่ พระยาวิทยาศัยธรรมวิศิษฐ อธิบดีผู้พิพากษา ส่วนเจ้านายในราชกุล ณ เชียงใหม่ ที่ได้ไปเยี่ยมเยือนอยู่เสมอ

ได้แก่ พ่อเจ้าหลวงแก้วนวรัฐ แม่เจ้าจามรี เจ้าราชวงศ์ (เจ้าเลาแก้ว ณ เชียงใหม่) พ.ต.ต.เจ้าไชยวรเชษฐ์ (เจ้ามงคลสวัสดิ์ ณ เชียงใหม่) เจ้าราชภาคินัย (เจ้าเมืองชื่น ณ เชียงใหม่) เจ้าราชสัมพันธวงศ์ (เจ้าน้อยสิงห์แก้ว ณ ชียงใหม่) และ พ.ต.ต. เจ้าไชยสงคราม (เจ้าสมพะมิตร ณ เชียงใหม่) จึงนับได้ว่าคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (แก้วมุงเมือง) เป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่ได้มีการพบปะสังสรรค์ของบรรดาเจ้านายชั้นสูงของเมืองเชียงใหม่ในสมัยนั้น นอกจากนั้นในคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ยังเป็นสถานที่ ๆ อบอวลไปด้วยเสียงขับกล่อมจากดนตรีพื้นเมืองนานาชนิดในยามค่ำคืน โดยมีธิดาทั้ง 7 ของเจ้าบุรีรัตน์เป็นผู้ร่วมบรรเลง ภายใต้คำแนะนำฝึกหัดของครูช่อ สุนทรวาทินและครูฉัตร สุนทรวาทิน นักดนตรีประจำกองมหรสพของราชสำนักในรัชกาลที่ 6 หลังจากที่คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (แก้วมุงเมือง) ผ่านวันเวลามานานกว่า 84 ปี สำนักงานยาสูบเชียงใหม่ในฐานะเจ้าของคุ้มได้ทำการอนุรักษ์ปรับปรุงอาคาร คืนสภาพความเป็นคุ้มเจ้าให้กลับคืนมาเพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑ์โรงงานยาสูบเชียงใหม่ โดยได้ทำการรื้อถอนผนังและฝ้าเพดานในห้องผู้จัดการ รื้อเครื่องปรับอากาศและระบบไฟฟ้ารวมถึงการมุงหลังคาคุ้มใหม่โดยใช้กระเบื้องดินขอซึ่งเป็นแบบเก่า นอกจากนั้นบริเวณโดยรอบมีการจัดภูมิทัศน์ให้ร่มรื่น ขุดสระน้ำ ปลูกดอกไม้ให้สวยงาม และยังมีการเก็บรวบรวมครุภัณฑ์ของสำนักงานยาสูบเชียงใหม่จากสถานีต่าง ๆ เช่น เครื่องพิมพ์ดีด เครื่องคิดเลข ตู้นิรภัย อุปกรณ์ในกิจการยาสูบ เครื่องมือ เครื่องเรือน โต๊ะ ตู้ เก้าอี้ รถจักรยานและสิ่งของอื่น ๆ มาจัดแสดงความเป็นมาของอดีตโรงงานยาสูบเชียงใหม่อีกด้วยนอกจากแนวคิดในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์โรงงานยาสูบเชียงใหม่ เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลของกิจการยาสูบเชียงใหม่ มีส่วนจัดแสดงวิวัฒนาการความเป็นมาของกิจการยาสูบในภาคเหนือตั้งแต่สมัยล้านนาแล้ว อาคารหลังนี้ยังได้จัดรวบรวมเรื่องราว ประวัติความเป็นมาของเจ้าบุรีรัตน์ (แก้วมุงเมือง ณ เชียงใหม่) เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่และคุ้มที่พำนักของเจ้าผู้ครองนครรวมถึงผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองเชียงใหม่สมัยนั้น ที่ยังขาดหายไปในส่วนสำคัญทางประวัติศาสตร์และทางสถาปัตยกรรมอาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (แก้วมุงมือง) แห่งนี้จึงเปรียบเสมือนสถานที่ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อการศึกษาค้นคว้าและการท่องเที่ยว ในการสืบค้นความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ลำดับและตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เจ้าขันทั้งห้าและเจ้าบุรีรัตน์ รวมถึงปัจจัยส่วนประกอบต่าง ๆ ของคุ้มที่สมบูรณ์ครบถ้วนแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่
เอกสารประกอบ
วิฑูรย์ เหลียวรุ่งเรือง “คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (แก้วมุงเมือง) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,2545
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น