พิธีปลงศพแบบล้านนาโบราณ

การส่งสการ (พิธีกรรมเกี่ยวกับการปลงศพ) เป็นพิธีกรรมอันประณีตบรรจงของชาวล้านนา ซึ่งทำสืบต่อกันมาอันสะท้อนให้เห็นภาพความเป็นอยู่ ความนึกคิด ความเชื่อถือ ศิลปะแห่งการตกแต่งและลักษณะสถาปัตยกรรม โบราณจารย์ได้กำหนดพิธีการ เครื่องใช้ไม้สอยและเครื่องประกอบต่าง ๆ ไว้อย่างงดงามและสอดคล้องกันอย่างมีเหตุผลในขบวนพิธีส่งสการ ซึ่งจะเดินทางจากวัดหรือบ้านงานศพไปยังฌาปนสถานนั้นประกอบด้วยสิ่งของต่าง ๆ ดังนี้
1.ตุงสามหาง อันเป็นธงสัญลักษณ์ของงานศพ มีรูปร่างคล้ายคลึงกับรูปกายมนุษย์และมีชายตุงอยู่ 3 ชาย ความหมายของตุง 3 ชายนี้อาจหมายถึง ไตรวัฏฏ์ คือวงจรแห่งทุกข์ ความมิใช่ตัวตน (อนิจฺจตา ทุกฺขตา อนตฺตา) อันเป็นสามัญลักษณะ ตุงสามหางนี้ดั่งปริศนา
ธรรม ทั้งเป็นอุทาหรณ์ให้ได้คิดไปหลายอย่าง ผู้ถือตุงสามหางนิยมให้ผู้มีความฉลาดหลักแหลม มีศีล มีธรรม

2.ถุงข้าวด่าน แสดงถึงความห่วงใยของผู้อยู่เบื้องหลังให้ผู้ตายได้มีเสบียงไปใช้ในปรโลก ถุงข้าวด่านส่วนมากจะบรรจุข้าวปลาอาหาร ผลไม้และหมากเมี่ยง อยู่ในลักษณะที่พร้อมจะรับประทานได้
3.หม้อไฟ เป็นหม้อดินเผาสำหรับใส่เชื้อไฟนำไปใช้ที่ป่าช้า
4.พระสงฆ์บนเสลี่ยง อ่านคำภีร์ซึ่งถือเป็นจารึกธรรมอันสูงสุดทางศาสนา เรียกว่า พระอภิธัมมัตถสังคหะ หรือพระอภิธัม 7 คำภีร์บ้าง
5.บังสกุลจีวร

6.เสลี่ยงเครื่องบูชาศพ มีตุง (ธง) ทำด้วยโลหะชนิดต่าง ๆ เช่นเหล็ก ทองแดง เรียกว่า “ตุงเหล็ก ตุงตอง” ชาวบ้านถือว่าวิญญาณจะจับหางตุงลอยขึ้นสู่สวรค์ บางท่านก็คิดว่า หมายถึงทางดี ทางชั่ว 16 ประการตามจำนวนของตุง ทางดีแปดทางคือ เห็ฯดี ดำริดี พุดดี การ
งานดี อาชีพดี เพียรพยายามดี ระลึกดี ตั้งใจดี ส่วนทางตรงข้ามกันที่เอ่ยมาแล้ว ตุงนี้เตือนใจให้ระลึกว่าถ้าเดินทางดีก็มีผลเป็นสุข ถ้าไม่ดีก็เป็นทุกข์
นอกจากนี้ก็มีมะพร้าวและบาตร ถือกันว่าน้ำมะพร้าวบริสุทธิ์สะอาดปราศจากธุลี เมื่อนำไปล้างสิ่งใดก็ทำให้บริสุทธิ์สะอาด บาตรบ่งบอกให้ทราบว่าผู้ตายเป็นผู้สนใจกับการถวายอาหารแด่พระสงฆ์ ซึ่งเป็นเครื่องแสดงถึงความใส่ใจในการทำทานไม่ตระหนี่เห็นแก่ตัว
7.สามเณรบวชจูงศพ ทางคติล้านนานิยมบวชหน้าศพเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลแด่ผู้ที่มีพระคุณและจูงศพไปสู่สุสาน การบวชนี้เรียกว่า “บวชจูง” ผู้บวชจะจูงฝ้ายซึ่งเป็นฝ้ายดิบจำนวน 9 ห่วง ผูกโยงสลับกันไปแล้วนำไปโยงกับฝาโลงด้านปลายเท้า ฝ้าย 9 ห่วงนี้เปรียบ
ถึงการเปล่งวาจาถึงพระพุทธเจ้า 3 ครั้ง พระธรรม 3 ครั้ง พระสงฆ์ 3 ครั้ง อันเป็นไตรสรณคมน์ ใช้เป็นเครื่องจูงไปสู่ปรโลกซึ่งเป็นสุคติภูมิ บางท่านก็คิดว่าหมายถึง สายญาติ คือตนเองอยู่ตรงกลางและนับย้อนไปข้างหลัง 4 ชั่งอายุคนและนับลูกหลานที่จะอยู่ต่อไปภายหน้าอีก 4 ชั่ว
อายุคน
8.ปราสาทศพ เรียกว่า “ปราสาทหลังก๋าย” ไม่มียอดเหมือนปราสาทศพที่ใช้สำหรับเจ้านาย หรือพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ รอบ ๆ ปราสาทนี้มีขันเงินใส่ดอกไม้อันเป็นลักษณะการตกแต่งที่นิยมกันมาก่อน พ.ศ.2500 ในจังหวัดเชียงใหม่ ปราสาทตกแต่งด้วยกระดาษสาซึ่งเป็นวัสดุ
พื้นบ้านและลวดลายที่ใช้ประดับประดาเป็นลวดลายแบบเบ้าโบราณ
9.ดนตรีพื้นเมือง บรรเลงเพลงพื้นเมืองที่นิยมใช้ในงานส่งสการ เป็นต้นว่าเพลงผาสาทไหว
พิธี “ผัดตาสิน” หรือประทักษิณ นั้นนิยมแบบ “หญิงซ้ายชายขวา” นิยมให้ลูกหลานหรือผู้ที่ได้รับการอุปถัมภ์ค้ำชูจากผู้ตายเดินเวียนศพ 3 รอบ อันถือเป็นการบูชาคุณงามความดี ถ้าผู้ตายเป็นชายลูกหลานจะเดินเวียนขวา
พิธี “หงมะนาว” หรือการโปรยทาน เป็นการแสดงให้เห็นถึงการแบ่งบันและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน เป็นหัวใจของวัฒนธรรมล้านนา “บอกไฟ” (บ้องไฟ) ที่ใช้ในพิธีส่งสการ มีหลายชนิด ที่นิยมใช้กันมากก็มี บอกไฟหล่อ บอกไฟเทียน บอกไฟจักจ่า (จักจั่น) บอกไฟสะมะโป๊ก บอกไฟดาวและบอกไฟช้างร้อง บอกไฟช้างร้องจะมีเสียงแปลกพิเศษ ประดุจเสียงโสกาอาดูรของญาติพี่น้องที่อยู่เบื้องหลัง บอกไฟ
ชนิดนี้นิยมใช้เฉพาะในงานพิธีส่งสการเท่านั้น คติในการจุดบอกไฟในการปลงศพ สันนิษฐานว่าใช้เพื่อช่วยยับยั้งอารมณ์โศกเศร้าก่อนที่จะมีการเผาศพ โดยผ่อนคลายให้เปลี่ยนไปสนใจกับเสียงของบอกไฟแทน
อนึ่งหากจะศึกษาอย่างละเอียดถ่องแท้เกี่ยวกับประเพณีพื้นบ้านของล้านนา ก็จะเห็นความแตกต่างหลากหลายกันไปบ้างตามหมู่บ้าน ตามอำเภอและตามจังหวัด หลังปี พ.ศ.2500 มาแล้วได้มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับพิธีกรรมมากตามสมควร และในปัจจุบันก็มีชาวเหนือจำนวนไม่น้อยที่นิยมพิธีการปลงศพแบบที่ทำกันในเมืองหลวง แต่ทั้งนี้ก็พอสรุปได้ว่า ประเพณีล้านนานั้น เรียบง่ายและสัมพันธ์กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างลึกซึ้ง.
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น