เกษตรกรเชียงใหม่ ผลิตถ่านอนามัยปลอดสารก่อมะเร็ง สร้างรายได้ต่อเดือนเกือบเก้าหมื่นบาท

อากาศที่กำลังหนาวบนยอดดอยจนติดลบ ส่งผลให้ถ่านอนามัยของเกษตรกร จากการทำน้ำส้มควันไม้ขายดี มีพ่อค้ารับซื้อส่งขายร้านหมูกระทะ-ปิ้งย่าง เนื่องจากไม่ปนเปื้อนน้ำมันทาร์ ที่เป็นสารก่อมะเร็ง ทำให้ได้รับความนิยม โดยแต่ละเดือนสามารถเผาถ่านได้มากถึง 6,750 กิโลกรัม สร้างรายได้เดือนละ เกือบ 9 หมื่นบาท มียอดสั่งซื้อมากจนผลิตไม่ทัน ต้องสร้างเตาเผาถ่านเพิ่มขึ้นจาก 3 เตา เพิ่มเป็น 7 เตา แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ
นายชาตรี สุวรรณพันธ์ เกษตรกรบ้านสันกลาง ต.ป่าไหน่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ พร้อมกับคนงานในสวน ช่วยกันขนถ่านออกจากเตาเผาน้ำส้มควันไม้ ที่ดัดแปลงมาจากเตาอิวาเตะของประเทศญี่ปุ่น หลังจากนั้นจะนำถ่านท่อนใหญ่มาทุบให้มีขนาดเล็ก และร่อนเอาเศษถ่านออก ก่อนจะบรรจุกระสอบและแยกใส่ถุงให้กับพ่อค้าที่มารอซื้อถ่านถึงสวน ซึ่งช่วงอากาศหนาวถ่านอนามัยของนายชาตรี จะขายดีเป็นพิเศษ  เนื่องจากพ่อค้าจะนำไปส่งตามร้านหมูกระทะ และร้านปิ้งย่าง บางส่วนจะแยกใส่ถุงขายให้กับชาวบ้านทั่วไป เพื่อนำเป็นเชื้อเพลิงในครัว เนื่องจากว่าถ่านที่เผานั้น จะให้เชื้อเพลิงที่แรงและใช้ระยะเวลาการเผาไหม้นานกว่าถ่านชาวบ้านที่เผาตามปกติ
นายชาตรีบอกว่า ถ่านที่ตนเผานั้น เป็นถ่านที่ได้จากการทำน้ำส้มควันไม้ ซึ่งเป็นถ่านที่ปลอดจากสารก่อมะเร็ง เนื่องจากน้ำมันทาร์ที่อยู่ในเนื้อไม้ จะถูกเผาไหม้จนกลายเป็นน้ำส้มควันไม้ จึงได้ถ่านที่ปลอดสารก่อมะเร็ง โดยช่วงอากาศหนาวเย็น ประชาชนนิยมรับประทานหมูกระทะ และอาหารประเภทปิ้งย่าง ทำให้ถ่านของตนขายดีไปด้วย ซึ่งทุกวันนี้เผาถ่านขายเฉพาะใน อ.พร้าว ก็ยังไม่พอขาย โดยมีพอค้าจากเมืองเชียงใหม่ ติดต่อขอซื้อถ่าน แต่ยังไม่สามารถทำขายให้ได้ เนื่องจากต้องทำเตาเผาเพิ่มอีก
ทั้งนี้เตาเผาน้ำส้มควันไม้ เป็นเตาที่ได้คิดค้นและออกแบบเอง เนื่องจากก่อนหน้านี้ เคยไปทำงานในต่างประเทศ และมีโอกาสเห็นการทำน้ำส้มควันไม้ ที่ประเทศฟิลิปปินส์ จึงเกิดความสนใจจึงได้ศึกษาการทำและทดลองสร้างเตาดัดแปลงแบบเตาอิวาเตะ ในประเทศญี่ปุ่น ทดลองนำไม้ทั้งไม้ลิ้นจี่ ไม้มะขาม และไม้ลำไย ซึ่งเป็นไม้ที่มีคุณภาพ และให้พลังงานเชื้อเพลิงสูง มาเผาในเตาดินแบบวาเตะใน อุณภูมิ 800 -1000 องศาเซลเชียส เพื่อทำน้ำส้มควันไม้และถ่านอนามัยซึ่งไม้เหล่านี้ ก็จะซื้อมาจากชาวบ้าน ในราคาต้นละ 1,200 บาท โดยไม้ที่นำมาเผานั้น 1 ต้น นั้นเมื่อเผาแล้วจะได้ถ่าน 250 กิโลกรัม ซึ่งหลังจากอาการที่เริ่มหนาวนั้น ส่งผลทำให้ถ่านขายดีมาก จึงได้ทำเตาถ่านเพิ่มขึ้นจาก 3 เตาเพิ่มเป็น 7 เตา ซึ่งเดือนหนึ่งจะเผาถ่าน 2 ครั้ง 7 เตา จะได้ถ่านทั้งหมด 6,750 กิโลกรัม ก่อนจะนำมาจำหน่ายให้กับชาวบ้าน และร้านต่างๆ ที่มารับซื้อ ในราคากิโลกรัมละ 13 บาท หรือ 1 กระสอบมี 13 กิโลกรัม ขายส่งกระสอบละ 170 บาท ส่วนเปลือกถ่านนั้น ก็สามารถขายได้กระสอบ ละ 100 บาท เพื่อนำไปปิ้งย่างที่ไม่ต้องใช้ไฟแรง โดยมีรายได้จากการขายถ่านอนามัยเดือนเกือบ 9 หมื่นบาทต่อเดือนเลยทีเดียว

ร่วมแสดงความคิดเห็น