แนะนำหนังสือน่าอ่าน “นวัตกรรมสังคม…สร้างสุขด้วยการแบ่งปัน” ปี 2562

หนังสือชื่อ “นวัตกรรมสังคม…สร้างสุขด้วยการแบ่งปัน” ปี 2562 โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์บงกช สุทัศน์ ณ อยุธยา
-ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่
-คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ (ผู้ทรงคุณวุฒิ)
-ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่“นวัตกรรมสังคม”(Social Innovation) ในประเทศไทย น่าจะเริ่มต้นมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่เป็นโครงการช่วยเหลือประชาชน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 จนถึงปัจจุบัน เพราะโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 4,741 โครงการ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศคือพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 9 ตัวอย่างเช่น “มูลนิธิโครงการหลวง” องค์กรสาธารณประโยชน์ ซึ่งได้รับรางวัลระดับโลก รวมทั้งผลิตภัณฑ์สินค้า“ดอยคำ” ก็คือ ต้นแบบธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ตลอดจนโครงการ “เชียงใหม่เมืองกาแฟ” พ.ศ.2560-2564 ก็เกิดมาจากการเสด็จประพาสต้นบนดอยของรัชกาลที่ 9 เมื่อปี พ.ศ.2517 ให้ชาวเขาปลูกพืชผัก ผลไม้ และกาแฟทดแทนการปลูกฝิ่น เพื่อสร้างรอยยิ้มให้กับคนไทยทุกคน ตามพระราชปณิธานที่ว่า “ช่วยชาวเขา เท่ากับช่วยชาวเรา และสร้างสังคมที่เป็นสุข” การยกย่องบุคคลที่ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เพื่อเผยแพร่พระราชเกียรติคุณแห่งสมเด็จ พระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก “องค์บิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย”
เมื่อปี พ.ศ. 2552 คนไทยที่ได้รับรางวัลคือนายแพทย์วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผู้ริเริ่มการใช้ถุงยางอนามัย 100% ช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรคเอดส์ และ นายมีชัย วีระไวทยะ เจ้าของฉายาถุงยาง “มีชัย” รณรงค์เผยแพร่การใช้ถุงยางอนามัยสำหรับหญิงขายบริการทางเพศได้สำเร็จ เรียกว่า นวัตกรรม No Condom–No Sex นอกจากนี้นวัตกรรม VIA ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ด้วย “น้ำส้ม สายชู” ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ได้รับรางวัลระดับโลกจากองค์การสหประชาชาติ พ.ศ.2561 สาขาการส่งเสริมบริการสาธารณะที่สอดคล้องความต้องการของสตรี นับว่าเป็นนวัตกรรมสังคม ช่วยเหลือมวลมนุษยชาติให้ปลอดภัยจากโรคร้าย จุดเด่นคือเน้นการป้องกันมากกว่าการรักษา พ.ศ. 2564 ประเทศไทยกำลังจะเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete-Aged Society) และปี พ.ศ.2574 จะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยระดับสุดยอด (Super-Aged Society) เพราะจำนวนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด ดังนั้นภาครัฐและภาคประชาสังคมจึงต้องเตรียมความพร้อมด้วยการปรับโครงสร้างสังคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้มีศักยภาพดูแลกลุ่มผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพ เน้นการสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว ลดการพึ่งพาจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว เช่น “นวัตกรรมท้องถิ่น” ขององค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ “มหาวิชชาลัยดอนแก้ว สร้างสุข” “โรงพยาบาลชุมชนตำบลดอนแก้ว….โรงพยาบาลสร้างสุข 3 ดี 4 เสา” “โรงเรียนฮอมสุข” สะท้อนความเข้มแข็งของชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชน ช่วยเสริมจุดแข็งเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
นวัตกรรมคิดเปลี่ยนโลก….ผลงานเด็กไทยวัย 13 ปี ซึ่งเป็น 1 ใน 20 คนจากทั่วโลก รอบตัดสิน Google Science Fair 2018-2019 นำเสนอการพัฒนาเครื่องช่วยพูดสำหรับผู้ที่มีปัญหาทางการได้ยิน EarZ และโปรแกรมพัฒนาการพูดสำหรับผู้ที่สูญเสียการได้ยิน EZ-Speak หากสำเร็จได้จริง จะเป็นนวัตกรรมสังคมที่ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข เพราะปัจจุบันมีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 422 ล้านคนทั่วโลก
​ ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ที่ให้เกียรติเขียนคำนิยมในหนังสือ “นวัตกรรมสังคม…สร้างสุขด้วยการแบ่งปัน”
• ดร.จรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี และ ประธานมูลนิธิโครงการหลวง อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. 2554 (The Order of the Rising Sun, Gold Rays with Neck Ribbon)
• นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และ ประธานคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นชาวเชียงใหม่โดยกำเนิด ซึ่งได้รับรางวัลสิงห์ขาวดีเด่น ในฐานะศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2560 / นักศึกษาเก่าดีเด่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2561• ดร.อุบล ยะไวทย์ณะวิชัย ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว เจ้าของรางวัลน่าภาคภูมิใจคือ “รางวัลข้าราชการไทยใจสีขาว” จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(สำนักงาน ป.ป.ท.) และรางวัล “เพชรดอนแก้ว” จากองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว นับเป็นรางวัลที่สะท้อนให้เห็นว่าเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่และองค์กรระดับชาติ
ทั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิที่กรุณาอ่านต้นฉบับ ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ จนหนังสือสำเร็จเป็นรูปเล่ม
• ดร.ณรงค์ ชวสินธุ์ ​ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่
• ดร.วิวัฒน์ เศรษฐช่วย ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่
• อาจารย์มณีวรรณ ชลัย ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่
• พ.ต.อ.สมบัติ สุภาภา อดีตกรรมการ ป.ป.จ. เชียงใหม่
ผศ.บงกช กล่าวว่า “หนังสือเล่มนี้ใช้เวลานานนับปี ในการศึกษาค้นคว้าข้อมูล จุดเริ่มต้นมาจากการนำนักศึกษาจากรายวิชา “สัมมนาการบริหารราชการไทย” และ “สัมมนาการบริหารท้องถิ่น” ลงพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อศึกษา “นวัตกรรมท้องถิ่น” เพื่อถอดบทเรียนว่า ปัจจัยความสำเร็จของการบริหารจัดการตนเองของท้องถิ่น ด้านไหนบ้าง ที่ทำให้ อบต.ดอนแก้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับเล็ก สามารถคว้ารางวัลระดับประเทศ จำนวนมากมาย จนเป็นที่ประจักษ์ นับเป็นต้นแบบที่ดี ขององค์กรแห่งการเรียนรู้และแบ่งปันอย่างยั่งยืน” สนใจสามารถซื้อหนังสือ ได้ที่ ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ราคาเล่มละ 290.-บาท หรือ ดาวน์โหลดเพื่อการอ่านในรูปแบบ e-book ฟรี!!!! ทางเว็บไซด์ของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ /สำนักงานศึกษาธิการ ภาค15 และ องค์การ บริหารส่วนตำบลดอนแก้ว
❤️สร้างสุขด้วยการแบ่งปัน❤️

ร่วมแสดงความคิดเห็น